พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช มทภ.4 อัพเดต’ภารกิจ’14จว.ใต้

นับเป็นการครบรอบการทำหน้าที่ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 ที่เวียนมาครบ 1 ปี ในวันที่ 30 กันยายนนี้

เป็นแม่ทัพที่รู้จักพื้นที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดี รวมทั้งด้ามขวานที่มีทั้งหมด 14 จังหวัด วันนี้ แม่ทัพจะมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งถึงงานที่ผ่านมา ทั้งการควบคุมดูแลการต่อต้านโรงไฟฟ้า การช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย การพัฒนาพื้นที่ความมั่นคงให้เกิดบรรยากาศการค้าขายของชาวบ้านตั้งแต่รากหญ้าขึ้นมาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือปัญหาราคายางพาราและพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่

เมื่อถามถึงภารกิจอันหนักหน่วงในการดูแลปัญหาภาพรวมทั้งหมดของพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวว่า มีความพึงพอใจมาก 1 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ชาวบ้านมีความปลอดภัยสูง เศรษฐกิจก็ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าทีมเศรษฐกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเรื่องการค้าขายต่างๆ หรือการตลาด ประสานโดยตรงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประสานกับ ปตท.ที่มีการสนับสนุน การทำปะการังเทียม การสร้างปั๊มน้ำมันในพื้นที่เส้นทางจากตัวเมืองยะลาไปอำเภอเบตง เรื่องยางพารา เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล พยายามจะช่วยให้ราคายางพาราดีขึ้น เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นหรือปลูกพืชทดแทน เช่น ทุเรียน ทางมาเลเซียมีความต้องการมาก 

“ทุกคนคิดว่ายางพาราเป็นสิ่งที่ดี แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพลิกขึ้นมาใหม่ พืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้บอกมา อะไรที่สามารถจะทำให้ดีขึ้น คิดว่าในพื้นที่ภาคใต้ ทุเรียนเป็นพืชอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนดีขึ้นŽ”

Advertisement

ถามต่อว่า ที่ผ่านมามรสุมกระหน่ำพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า อุทกภัยเป็นปัญหาที่เกิดในพื้นที่ภาคใต้เป็นเวลานานแล้ว เมื่อ 3-4 เดือนก่อน ผมได้ดูทีวีเผยแพร่สารคดีเก่าของในหลวง ร.9 พระองค์มีรับสั่งให้ทางกรุงเทพฯ ขุดลอกคูคลองต่างๆ ผมได้น้อมนำพระราชดำริที่ในหลวงรับสั่งนี้ไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้โดยประสานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด มณฑลทหารบกทุกมณฑลใน 14 จังหวัดภาคใต้ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขุดลอกคูคลอง เอาสิ่งปฏิกูลผักตบชวาออกจากแม่น้ำลำคลอง มรสุมจะเข้าภาคใต้เป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี ทุกวันนี้ เราไปขวางทางน้ำ ต้องพยายามอยู่กับน้ำให้ได้ ไม่ใช่ว่าไปกั้น ถ้ายิ่งกั้นยิ่งทะลัก ไปที่อื่นŽ 

“ส่วนบ้านเรือนที่เสียหาย ให้ทหารช่างและทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ เข้าไปช่วยสร้างบ้านซ่อมแซมบ้านกันหมด คนละเล็กคนละน้อย ใครมีความสามารถด้านใดก็ไปช่วยชาวบ้าน ช่วยมาเยอะมากหลายร้อยหลัง เพราะในทุกจังหวัดมีเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้น ทางจังหวัดก็เข้ามาช่วยเหลือด้วย” แม่ทัพภาค 4 กล่าว

ถามว่าก่อนหน้ามีปัญหาเรื่องชาวบ้านต่อต้านการผุดโรงไฟฟ้าในพื้นที่บนเวทีพูดคุย พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าวว่า “ผมก็คงตอบเป็นกลางๆ ไม่เข้าข้างใคร คำตอบก็คืออยู่ที่ประชาชนต้องการอย่างไรแล้วนำมาเสนอกับรัฐบาล ผมเป็นหน่วยปฏิบัติก็พร้อมให้การสนับสนุน ปฏิบัติตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการมา เรื่องโรงไฟฟ้าก็ต้องไปคิดดูให้ดีว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตกับลูกหลานของเรา กับอนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ให้เอาสิ่งพวกนี้มาคิด ดูทั้งสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์โลกว่าไปถึงไหนแล้วŽ”

Advertisement

ถามอีกว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายมาก ทั้งภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลไม้ต่างๆ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนถึงภาควัฒนธรรม และภาคการท่องเที่ยว ชายหาดสวยงามมากมายติดอันดับโลกมีการดูแล สนับสนุนหรือต่อยอดอย่างไร พล.ท.ปิยวัฒน์ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่เป็นทหารพร้อมสนับสนุนทุกรูปแบบที่มีการร้องขอมา ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ขณะนี้เข้าไปสนับสนุนการปรับปรุงสนามบินปัตตานีที่ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก ทำให้เกิดการค้าขายการลงทุน การเดินทางการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ปัตตานียังมีท่าเรือขนถ่ายสินค้าทางทะเลได้ รวมถึงทางอากาศได้

“นอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่ อ.เบตง น่าจะเสร็จปลายปี 2562 โดยภาพรวมเศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะดีขึ้นมาก เนื่องจากมีทรัพยากรมากกว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลอง มีหุบเขาภาคใต้ก็มี แต่ภาคอื่นไม่มีทะเลเหมือนภาคใต้ ภาคใต้ได้เปรียบ แต่เป็นจุดที่เป็นการแสวงหาความไม่อยุติธรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มมาทำให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น เห็นว่าทางใต้มีของดีเลยเก็บไว้กินเองคนเดียว ใช้ตระกูลของตนเองหรือพรรคพวกของตนเองไม่ให้คนอื่นเข้ามายุ่ง เมื่อคนอื่นจะเข้ามาลงทุนก็จะทำให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่Ž”

ถามต่อเกี่ยวกับการจัดระเบียบชายหาด จัดการรีสอร์ตรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และอุทยานฯ แม่ทัพภาค 4 เผยว่า ในเรื่องนี้ต้องใช้กฎหมายนำการทหาร ตามด้วยการเมืองขยาย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ กฎหมาย แล้วก็มีชุดกองกำลังรักษาความสงบทั้งหมดคอยดูแล เรียกคืนผืนป่ามาได้เยอะแล้ว เราทำงานร่วมกับป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลจะทำให้ทุกอย่างพันไปหมด จะมีเหมืองแร่เถื่อนหลายแห่ง อะไรที่เกี่ยวกับของเถื่อนทั้งหลายก็มาจากผู้มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลมาจากไหน พวกเราก็คงจะทราบทางกองทัพภาคที่ 4 พยายามทำให้ผู้มีอิทธิพลไม่มีเลยหรือมีน้อยที่สุด

เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาเส้นทางถนนจากตัวเมืองยะลาสู่ อ.เบตง ที่ทอดยาวเป็นร้อยกิโลเมตร ร่วมมือกับ ปตท.ในการสร้างจุดแวะพัก และยังเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าผลผลิตจากชาวบ้าน ขณะนี้คืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร

“ปตท.อนุมัติทุกอย่างแล้ว ถึงขั้นว่าจะถมดินแล้วก่อสร้างปั๊มขึ้นมา คิดว่าไม่น่าจะเกิน 1 เดือน จะมีการลงเสาเพื่อสร้างปั๊มน้ำมัน เสร็จแล้วก็จะมีทั้งร้านสะดวกซื้อ จุดพักรถ สถานที่ละหมาด ห้องน้ำ ร้านขายอาหาร ร้านขายสินค้าโอท็อปจากโครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อเลยตามเส้นทางไปอีกจะมีจุดพักรถ เป็นที่ขายของเหมือนกับทางไปแม่สอด (จ.ตาก) ร้านขายของระหว่างทาง และมีจุดพักรถ เลยไปก็จะเป็นอัยเยอร์เวง (อ.เบตง) จะมีพวกเงาะซาไกร่วมกิจกรรมถ่ายรูป เหมือนที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีกะเหรี่ยงคอยาว ที่ผ่านมาทาง อ.เบตง จัดกิจกรรมหลายอย่าง นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาเยอะ โรงแรมที่ อ.เบตง จัดเต็มเกือบทุกวัน”Ž พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว และว่า ยังมีแผนขยายเส้นทางอื่นๆ ตอนนี้ดูเส้นทางที่เขาบูโด น้ำตกปาโจ (อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส) จะทำให้เหมือนกับภูหินร่องกล้าและเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ แต่ต้องอยู่ที่พี่น้องประชาชนต้องช่วยกัน เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมสนับสนุน พร้อมก้าวเดินไปกับประชาชน จะทำให้ได้ในปีหน้า

พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 กล่าวย้ำท้ายอย่างมั่นเหมาะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image