เล็งผุดรางวัลวรรณกรรมใหม่ ใช้ชื่อ ‘รางวัลปีศาจ’ ชี้จุดแตกต่างซีไรต์

บรรณาธิการ สนพ. 1001 ราตรีเตรียมผนึกกำลังผุดรางวัลวรรณกรรมใหม่ ใช้ชื่อ”รางวัลปีศาจ”

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 นายกิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงรางวัลวรรณกรรม “รางวัลปีศาจŽ” ระบุว่า ความเป็นมา มีรางวัลทางวรรณกรรมจำนวนมากกำเนิดขึ้นในช่วงตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ละรางวัลยึดโยงคุณค่ากับตัวบุคคล สถาบันผู้มอบให้ แม้แต่สนับสนุนการรักษาสถานะ การอยู่ในระบบระเบียบภายใต้ความสร้างสรรค์Ž กรรมการที่แทบจะผูกขาดโดยกลุ่มคณะผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดียวกันโดยตลอด จึงเป็นเรื่องชวนให้คิดด้วยว่า มีรางวัลใดบ้างที่ผู้มอบให้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวของผู้รับ โดยผู้รับเองไม่ต้องถูกกดให้หมอบราบลงไปเพื่อรับรางวัลทั้งหลายเหล่านี้ เพราะในความจริงแล้วผู้รับไม่จำเป็นต้องรู้สึกติดค้างเป็นหนี้บุญคุณผู้มอบรางวัลแต่อย่างใดเลย ผู้มอบรางวัลหรือตัวแทนของรางวัลนั้นเสียอีกที่ควรขอบคุณ ดังนั้น ถ้าจะมีรางวัลวรรณกรรมสักรางวัลหนึ่งมอบให้ผู้ประพันธ์ผลงานชิ้นยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ฯลฯ เขาก็ควรรับรางวัลนั้นอย่างภาคภูมิใจ มิใช่ต้องค้อมตัวลงแนบพื้น

”รางวัลปีศาจ” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานการตัดสินรางวัลวรรณกรรมมุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลง ด้วยเพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหรือรากฐานของความเป็นวรรณกรรมคือความเปลี่ยนแปลง การเขียนคือการปฏิวัติ โดยที่ผ่านมานานนับศตวรรษ เราตระหนักถึงความหมายของความเปลี่ยนแปลงนี้น้อยเกินไป เรากำหนดเพดานของความเป็นนักเขียน งานเขียน ไว้ต่ำเตี้ยเกินไป ”รางวัลปีศาจ” สมาทานชื่อมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของเสนีย์ เสาวพงศ์ ด้วยความตั้งใจจะเป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบ ความคิด วิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในสงครามวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ “รางวัลปีศาจ” มีรากฐานมาจากประชาชน ความเป็นคนสามัญ จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เราสนับสนุนวรรณกรรม ส่งเสริมความคิดแบบประชาธิปไตย และถือหลักดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่สุด…นายกิตติพลระบุและว่า รางวัลนี้เกิดจากการพูดคุยมาสักระยะแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นริเริ่ม ต้องผ่านการประชุมอีกครั้ง เพื่อรวบรวมกำลังคนในการทำงานร่วมกัน โดยรางวัลวรรณกรรมที่ผ่านมาถูกจัดการและควบคุมโดยองค์คณะชุดเดิม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทำให้รูปแบบและหน้าตาของการจัดงานคล้ายคลึงกันหมด

”ตัวคอนเซ็ปต์เรากลับไปสู่รากฐานเลยว่า อะไรบ้างที่เรารู้สึกว่ามันสมควรมีมาตั้งนานแล้ว แต่มันไม่ปรากฏหรือไม่สามารถเป็นจริงได้ นั่นคือรางวัลที่เรามอบให้ เพราะเราอยากจะมอบให้ และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเหมือนเป็นหนี้บุญคุณผู้มอบรางวัลนั้น แต่เขาควรจะได้รับคำขอบคุณจากทุกคนที่มอบให้ มันเป็นรางวัลที่อยู่บนรากฐานที่เป็นรางวัลของประชาชน เราคิดบนพื้นฐานของการสนับสนุนแนวคิดแบบสังคมประชาธิปไตย มันไม่มีอยู่ในระบอบความคิดของรางวัลทั้งหมดที่ผ่านมา เลยรู้สึกว่ามันควรต้องมี และเป็นเวลาอันประจวบเหมาะที่ควรจะเริ่มได้แล้ว เป็นรางวัลที่ชื่อนี้แหละ ชื่อ ’ปีศาจ’ ชื่อที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลง”Ž นายกิตติพลกล่าว

Advertisement

นายกิตติพลกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่คิดว่ารางวัลปีศาจแตกต่างจากซีไรต์คือ เราไม่ทำให้กระบวนการเราเป็นความลับจนน่าอึดอัดใจ ควรจะมีลักษณะที่ไม่ได้คงความศักดิ์สิทธิ์ ไม่เน้นพิธีการที่ดูพะรุงพะรัง หรืออะไรที่เป็นทางการจนมากเกินไป แต่เรื่องการตัดสิน การคัดเลือก ก็ควรจะต้องเต็มที่ เรามีการศึกษากรณีศึกษาจากรางวัลวรรณกรรมต่างประเทศที่น่าสนใจ ทั้งวิธีการจัดการ วิธีการลดขั้นตอนของความเป็นทางการหรือพิธีกรรมลง อันไหนบ้างที่นำไปสู่การคัดเลือกงานที่น่าสนใจ เป็นกระบวนการทำงานที่หลายๆ ฝ่ายร่วมกันจัดทำ เพียงแต่ตอนนี้ผู้วางแนวคิดพื้นฐานก็ยังเป็นผมก่อน

และกรณีนายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรมโพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ”วิกฤตซีไรต์ 2560Ž” ระบุถึงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน หรือซีไรต์ เผชิญปัญหาผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์กำลังลดลง ส่งผลให้งบประมาณลดลง ประกอบกับทางผู้บริหารของโรงแรมโอเรียนเต็ลไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับรางวัลซีไรต์ไว้นั้น

นายกิตติพลเห็นว่า“คิดว่าคุณจรูญพรพูดมา ไม่รู้ที่เขาโต้แย้งกันว่ามันเกินจริงไปบ้างไหม หรือคุณจรูญพรเป็นคนนอก ไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ผมคิดว่าต่อให้ไม่ใช่คนที่เป็นวงใน ไม่เคยสงสัยบ้างหรือว่าเวลาสปอนเซอร์มอบเงินรางวัล หมายถึงเวลาสนับสนุนเงิน เขาไม่ได้ให้เป็นเงินทั้งหมด เหมือนที่เขาบอกว่าสนับสนุนเงินรางวัลเป็นล้าน มันหมดไปกับอะไรบ้าง ต่อให้เป็นคนข้างนอกมันก็ต้องเกิดความคิดว่า เพราะพิธีกรรมไง พิธีกรรมที่มันเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เงินมันต้องหมดจมหายไปมหาศาลอยู่แล้ว แน่นอนว่าสปอนเซอร์ 1-2 ล้านบาท มันไม่เพียงพอหรอก แล้วถามว่ามันได้อะไรกับการคัดเลือกวรรณกรรมตรงนั้น มันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันหมดไปกับพิธีการ มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการคัดเลือกงานด้วยซ้ำ นี่คือการมองจากมุมข้างนอก

Advertisement

”แต่ถ้ามองแบบมุมที่รับรู้และใกล้ชิดจริงๆ การทำงานของคณะกรรมการ หรือการทุ่มเทของคณะกรรมการคัดเลือก เขาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดทิศทางของงานทั้งหลาย ถ้าเขาถอดใจไปแล้วในการที่ไปลดเงินเขา หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งหมดของเขาแล้ว ไม่มีเหตุผลที่หลายคนจะทำงานตรงนี้ต่อ รางวัลวรรณกรรมพวกนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนแค่สปอนเซอร์อย่างเดียว มันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง อย่างน้อยก็ด้วยใจของที่ทำงานว่ารางวัลนี้มันกำหนดทิศทางวรรณกรรมที่สร้างสรรค์สมชื่อมันจริงๆ ซึ่งวิกฤตซีไรต์ที่ว่ามันเป็นเกณฑ์ของเครดิตอยู่แล้ว ถ้าสปอนเซอร์หลักคือโอเรียนเต็ล เห็นว่าเครดิตเขาก็ไม่ค่อยได้ ประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็ไม่มี เขาก็ถอนการลงทุนหรืองบซีเอสอาร์ตรงนั้นไปเป็นเรื่องปกติ”Ž นายกิตติพลกล่าว

นายกิตติพลกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาซีไรต์มีข้อกังขาเยอะว่ามันกำเนิดขึ้นมาจากอะไร มีการเมืองข้างในอย่างไรบ้าง โดยซีไรต์เองเป็นรางวัลที่โด่งดังที่สุด สำคัญที่สุด แต่มีข้อถกเถียงมากมายไม่สิ้นสุดข้างในด้วยเหมือนกัน ถ้าซีไรต์จะอยู่ได้ ผมว่าคงต้องปรับความพะรุงพะรังหลายๆ อย่างลง เพราะชื่อว่าซีไรต์ก็จริง แต่ผมไม่เห็นว่ามีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้โดยตรง นอกจากเชิญเขามาที่โรงแรมแล้วก็มากินเลี้ยงวันนั้น ให้รางวัล แล้วแยกย้ายกันไป หรือถ้าวันหนึ่งรางวัลนี้เกิดหายไป ก็คงเหมือนอีกหลายๆ รางวัลที่วันหนึ่งยุติบทบาทและความสำคัญลง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตและคิดว่าไม่ค่อยมีใครพูดแต่ผมอยากจะพูดคือ ซีไรต์ไม่ได้ให้รางวัลเปล่าๆ ซีไรต์อาจตัดสินคุณจากงานที่น่าสนใจ แต่อาจมีกรอบบางอย่างที่ให้คนนี้ได้ ให้คนนี้ไม่ได้ แต่น่าสนใจตรงที่ ไม่มีใครพูดหรอกว่าเขาต้องการให้นักเขียนที่ได้ซีไรต์ตอบแทนซีไรต์ด้วยการทำให้ชื่อของซีไรต์ไปอยู่ในสื่อต่างๆ ด้วยการทำให้ชื่อซีไรต์เป็นโกลบอล โกอินเตอร์บ้างŽ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image