บทใหม่ การเมือง บทเรียน “รัฐประหาร” จำคุก “ยิ่งลักษณ์”

ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 27 กันยายน นี่คือ “จุดตัด” อันมีลักษณะหักเลี้ยวอย่างสำคัญของการเมือง

1 คือ การหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะเดียวกัน 1 คือ คำพิพากษาจำคุก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สารผล ตามมาด้วยคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ สัญญาณ

Advertisement

หากสอบลึกลงไปใน “รายละเอียด” ของการหายตัวซึ่งมีจุดเริ่มตั้งแต่ตอนค่ำของคืนวันที่ 23 สิงหาคม ก็จะมองเห็น

มองเห็นว่าเป็นการตัดสินใจอย่างมีการตระเตรียม วางแผน

เหมือนกับตอนค่ำของคืนวันที่ 23 สิงหาคม เป็นการตัดสินใจและเป็นการเริ่ม “ปฏิบัติการ” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงทำมาก่อนหน้านี้แล้ว

Advertisement

บางคนเห็นว่าน่าจะเริ่มจากวันที่ 21 กรกฎาคม บนยอด “ภูเขาทอง”

แต่บางคนเห็นว่า น่าจะมีการวางแผน “สร้างภาพ” สร้างเงื่อนไขแวดล้อมเพื่อให้เกิดความชอบธรรมตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยซ้ำไป

นั่นก็มอง “ไกล” จนดูเหมือนล้ำเกิน แต่ก็อาจจริง

สภาพการณ์ของฝ่าย นายทักษิณ ชินวัตร ก็เหมือนกับเมื่อตอนหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 คือ มีทั้งต่อสู้ มีทั้งการเจรจา

เจรจาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

ต่อสู้เพื่อสร้างเงื่อนไขใหม่ และอาศัยเงื่อนไขใหม่ เพื่อกดดันและทำให้การเจรจาบรรลุผลตามเป้าหมาย

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือที่เปิดเผย คือ การเลือกตั้ง

แต่เมื่อการเลือกตั้งประสบชัยชนะแต่ถูกสกัดขัดขวางอย่างในกรณีการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 กระทั่งนำไปสู่การบีบ ครม.ให้อย่างน้อย 2 คนคือ นายนพดล ปัทมะ และ นายจักรภพ เพ็ญแข ถูกปลดออก

และที่สุด นายสมัคร สุนทรเวช ก็ต้องไป และที่สุดพรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบ

ตอนนี้กองหน้าในการต่อสู้คือ นปช.คนเสื้อแดง เห็นได้จากการชุมนุมเดือนเมษายน 2552 และการชุมนุมเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

แต่ก็ทำอะไรรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้

ต่อเมื่อพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรเกิดความชะล่าใจ คิดว่าการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 คือจุดจบจึงยุบสภาและเปิดให้มีการเลือกตั้ง

แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในเดือนกรกฎาคม 2554

ความพ่ายแพ้จากการคาดสถานการณ์ “พลาด” นำไปสู่การรื้อฟื้นกระบวนการขึ้นมาใหม่เหมือนก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

หนแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นความพยายาม “แช่แข็ง”

เมื่อความพยายามที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประดิษฐ์ ไม่เวิร์ก จึงต้องเป็นภาระของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กระทั่งเกิด กปปส.ขึ้นในเดือนตุลาคม 2556

ประเมินกันว่าฝ่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร ถูกหลอก

ถูกหลอกเหมือนกับว่าได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย แต่แล้วเรื่องนี้ก็กลายเป็นสายล่อฟ้า ขยายจากต่อต้าน “นิรโทษกรรม” ไปยังต่อต้าน “การเลือกตั้ง”

ที่สุดเมื่อสถานการณ์สุกงอมก็นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมาพร้อมกับบทเพลง

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

เวลาอีกไม่นานในที่นี้ก็คือ การแก้ไขความผิดพลาดจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ถูกประเมินว่าเป็นรัฐประหาร“เสียของ” การเดินหน้ารุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยจึงเข้มข้น

การยกประเด็นว่าด้วยโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นหัวข้อใหญ่ ไม่เพียงแต่นำไปสู่การถอดถอนหากแต่ยังนำไปสู่คำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เกมการเมืองจึงแรง แนวโน้มการตอบโต้ก็ย่อมจะแรง

นับจากกรณี 25 สิงหาคมเป็นต้นมา การเล่น “เกมแรง” จึงเท่ากับเปิดหน้าใหม่ทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image