กำเนิดแหล่งข้อมูล ‘6 ตุลา’ จดความจริง หวังอนาคตมี ‘ยุติธรรม’

เว็บไซต์ "บันทึก 6 ตุลา" เข้าถึงได้ที่ www.doct6.com

“สังคมพูดว่าควรเรียนรู้เรื่อง 6 ตุลา เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่เราคงเรียนรู้ไม่ได้มาก หากยังมีงานที่ศึกษาไม่เพียงพอ ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ”

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมงานที่จัดตั้งแหล่งข้อมูลรวบรวมหลักฐานในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวไว้

ชี้ให้เห็นความตกหล่นในเรื่อง 6 ตุลา ที่แม้มีการพูดถึงและจัดรำลึกทุกปีแต่ยังขาดข้อมูลหลักฐานและการศึกษาเหตุการณ์อย่างเพียงพอ

จากการเสวนา “ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา” เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นผลมาจากที่ ภัทรภร ภู่ทอง และคณะทำงานได้ทำภาพยนตร์สารคดีรำลึกถึงผู้เสียชีวิต เมื่อค้นคว้าและตามหาญาติผู้เสียชีวิต จึงพบว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจำกัดมาก

Advertisement

ภาพคนถูกแขวนคอและฟาดด้วยเก้าอี้ พร้อมผู้คนที่มุงดูด้วยรอยยิ้ม ถ่ายโดย นีล อูเลวิช ช่างภาพเอพี ซึ่งได้รางวัลพูลิตเซอร์ สะท้อนความโหดเหี้ยมในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของสังคมไทย

แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าผู้เสียชีวิตในภาพชื่ออะไร มีภาพคนถูกเผา ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่ยังระบุตัวตนไม่ได้ กระทั่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยังถูกพูดถึงผิดๆ ถูกๆ

“คืนความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนเท่าที่จะทำได้”

เป็นคำกล่าวในปีที่แล้วของ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่ยืนยันว่าจะต้องร่วมกันหาข้อมูลผู้เสียชีวิต แม้ข้อมูลบางอย่างไม่มีความหมายในภาพใหญ่ แต่การให้ความเคารพผู้ตายอย่างดีที่สุด สำคัญกว่างานวิชาการ

จากปีที่แล้วชื่อผู้ถูกแขวนคอบริเวณสนามหลวงมีเพียง วิชิตชัย อมรกุล แต่การสืบค้นและมีผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จนพบอีก 2 ชื่อ คือ กมล แก้วไทรไทย และ ปรีชา แซ่เอีย และมีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีคนถูกแขวนคออย่างน้อย 5 คน

ข้อมูลที่แหว่งวิ่นถูกปะติดปะต่อโดยทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลา แม้ยังไม่สมบูรณ์และอาจไม่สมบูรณ์ แต่เชื่อว่าหลักฐานเหล่านี้จะมีประโยชน์ในอนาคต

เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล จึงได้มีการจัดทำเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” เข้าถึงได้ที่ www.doct6.com

หนังสือพิมพ์ชาวไทย 9 ตุลาคม 2519

เว็บไซต์มีการรวบรวมลำดับเหตุการณ์ หลักฐาน ข่าวหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น เอกสารชันสูตรพลิกศพ คำให้การพยานฝ่ายโจทก์ 224 คน เอกสารสำนักงานอัยการสูงสุด คำสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิต และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

มีการทำช่องยูทูบเพิ่มเติม รวมสารคดีและไฟล์เสียงสถานีวิทยุยานเกราะที่ออกอากาศในช่วงนั้น ซึ่งข้อมูลยังคงอยู่ในการรวบรวมและจัดระบบต่อไป

“เราตั้งใจสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อจัดระบบข้อมูลที่กระจัดกระจายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ให้ถูกหลงลืมสูญหายหากให้ราชการจัดเก็บฝ่ายเดียว และเพื่อต่อความสนใจการค้นคว้าให้ไปไกลมากขึ้นในอนาคต ต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะทำให้คนลืม 6 ตุลา” พวงทองกล่าว

ที่ผ่านมามีการทำสารคดีโดยตามหาและสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิต ล่าสุด ภัทรภร ภู่ทอง เป็นผู้อำนวยการสร้าง เรื่อง “สองพี่น้อง” (The Two Brothers) เรื่องของ วิชัย เกษศรีพงษา และ ชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม ที่ถูกตำรวจซ้อมและแขวนคอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 แม้จะเป็นหนึ่งในชนวน 6 ตุลา แต่ชื่อของทั้ง 2 คน มักไม่ถูกนับรวมในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์

การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือการพยายามทำความรู้จักผู้เสียชีวิตขณะมีชีวิตอยู่ ทำความรู้จักตัวตน ความฝัน และความหวังของคนคนหนึ่ง มิใช่จดจำเพียงภาพความเหี้ยมโหดที่เขาต้องประสบ

“ชุมพล” พี่ชายของชุมพร ทุมไมย ที่เสียชีวิตเมื่อ 24 ก.ย.2519 เผยว่าปัจจุบันประตูที่แขวนคอชุมพรยังอยู่ที่เดิม แต่ไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น คิดว่าคนอื่นลืมไปแล้วเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครติดต่อมา จนทีมงานโทรหาเพื่อทำสารคดี

ระบบฐานข้อมูล สู่การดำเนินคดี

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เผยว่า จากการศึกษาประเทศที่ผ่านความรุนแรงมีการจัดทำฐานข้อมูลรวมหลักฐานในเหตุการณ์ โดยเฉพาะความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนในศตวรรษที่ 20 หลายกรณีนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

“ช่วงการเก็บเอกสารอาจไม่มีความหวังว่าจะนำผู้มีอำนาจมาลงโทษได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเมืองเปลี่ยน ข้อมูลหลักฐานจำนวนมากกลับมามีประโยชน์กับฝ่ายประชาชน”

อ.พวงทอง ยกตัวอย่างหลายกรณี รวมถึงในกัมพูชาที่ใช้เวลานานมาก กว่าจะนำผู้นำเขมรแดงมาดำเนินคดีได้ โดยในปี 2537 มีการตั้งศูนย์ข้อมูล DC-Cam ที่มหาวิทยาลัยเยล อเมริกา ก่อนจะมีสาขาในพนมเปญ เพื่อรวมข้อมูลหลักฐานเอกสาร รูปถ่าย คำให้การเหยื่อก่อนถูกสังหาร บันทึกการประชุมพรรค จนมีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีได้

ปัจจุบัน DC-Cam เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเขมรแดงให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าสังคมตัวเองผ่านอะไรมาบ้าง

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

“กรณีสังคมไทย อ.ธงชัย วินิจจะกูล บอกว่า 6 ตุลา คือสิ่งที่ลืมไม่ได้จำไม่ลง พูดได้อย่างจำกัด ด้านหนึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร จึงทำให้เราจดจำ 6 ตุลาได้แค่นี้ 6 ตุลาอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน สะท้อนว่าเราพอใจกับภาวะคลุมเครือ ไม่ต้องการความชัดเจนมาก และคิดว่าคนไทยจำนวนมากอยู่ได้กับความไม่ชัดเจนเช่นนี้

“ภาวะอิหลักอิเหลื่อมีราคาแน่นอน คือวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ไม่ใช่มีเพียง 6 ตุลา แต่มีเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และในอนาคตอาจเกิดได้อีก ถ้าเราไม่อยากจำ 6 ตุลาแบบนี้ เราต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ให้สังคมมีความทรงจำหลากหลายแตกต่าง ขยายเพดานให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่”

อ.พวงทองกล่าว และย้ำว่า สังคมไทยมีเหตุรุนแรงที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชนเยอะมาก หากไม่เก็บข้อมูลเหล่านี้ก็จะหายหรือถูกลืม หากจะต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของปัจเจกชน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ

“เหมือนเป็นการสร้างสัญญาประชาคม ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน ว่าต่อให้ขัดแย้งกันแต่มีขอบเขตที่ละเมิดไม่ได้ คือสิทธิในชีวิตของประชาชน”

รายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง

ยุคไร้หวัง รอสังคมมีวุฒิภาวะ

“ทีมงานในโครงการมีการพยายามติดตามข้อมูลญาติผู้เสียชีวิต มีที่เปิดสมุดโทรศัพท์เจอ สะท้อนความไม่เอาใจใส่ของพวกเรา แค่การเปิดสมุดโทรศัพท์ แต่ 40 ปีเราไม่ทำ”

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวและบอกว่า ขณะนี้ติดต่อญาติได้ 1 ใน 3 มีส่วนหนึ่งไม่ให้สัมภาษณ์ และอีกส่วนหนึ่งติดต่อไม่ได้ ซึ่งตั้งใจว่าเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา จะให้มีข้อมูลพื้นฐานสำคัญ ส่วนเอกสารที่นำขึ้นเว็บไซต์ไม่ได้จะทำบัญชีฝากไว้ที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

“จุดประสงค์คือเก็บบันทึกเอกสารประวัติศาสตร์เท่าที่ทำได้ แล้วคนในอนาคตจะใช้ทำอะไรก็เรื่องของเขา จะเขียนประวัติศาสตร์ 16 ตุลา ก็เรื่องของเขา ต้องให้เอกสารเหตุการณ์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสังคม เป็นทางเดียวที่จะทำให้เรื่องนี้ไม่ตาย

“ถามว่าผมคิดว่า 6 ตุลา น่าจะไปไม่รอดในแง่การหาความยุติธรรมหรือไม่…ใช่ครับ แต่เราต้องเห็นความหวังกับคนในอนาคต ต่อให้เราตายไปแล้วคนต้องหยิบยกขึ้นมา สู้สั้นๆ ไม่ได้ก็เล่นยาวๆ ต่อให้อาจไม่ใช่ความยุติธรรมเฉพาะ 6 ตุลา ต้องทำให้เห็นว่ายิ้มสยามมีเรื่องอัปลักษณ์อีกเยอะแยะ ต้องให้สังคมกล้าเผชิญหน้าทุกด้าน ไม่ใช่พูดแต่ด้านดีหรือประณามแต่ด้านร้าย คนในสังคมจึงจะเติบโตแบบมีวุฒิภาวะ”

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล

อ.ธงชัยบอกว่า เขาอยากเห็น “คนที่กัดไม่ปล่อย” หากจะลงมือทำฐานข้อมูลเช่นนี้กับกรณีอื่น สร้างบรรยากาศให้คนสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องช่วยกัน เพราะ “บันทึก 6 ตุลา” จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้

เขาย้ำว่า “ระบบโซตัส” ที่ใหญ่สุดในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่คือทหารและระบบราชการทั้งหมด ระบบนี้มีเพื่อผลิตคน 2 ชนิด

“1.คนขี้ขลาด สังคมไทยเต็มไปด้วยคนขี้ขลาด ไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าเกิดเรื่อง 6 ตุลา ไม่ใช่ไม่รู้ว่าความอยุติธรรมร้อยแปดที่เกิดขึ้นมันเกินไป แต่สังคมไทยมีคนที่ขี้ขลาดตาขาวเต็มบ้านเต็มเมือง นี่แหละไทยแลนด์ 4.0 ไทยแลนด์ของคนขี้ขลาด เห็นความอยุติธรรมแล้วเฉยๆ

“2.คนโง่กับคนแกล้งโง่ สังคมไทยเป็นสังคมอับจนปัญญา หลายเรื่องเห็นอยู่ตำตาว่าไร้เหตุผล ก็แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่พูด แย่กว่าคือออกมาสนับสนุนทำสิ่งไร้เดียงสา เป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งเหล่านี้จะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่ใช่เพราะประชาชนเอื้ออำนวยให้ความไร้เดียงสาและน่าอับอายนี้ดำรงอยู่

“สังคมเติบโต มีวุฒิภาวะ และกล้าหาญกว่านี้ได้ แต่โชคร้ายที่เราเกิดเร็วไปหน่อย บุกเบิกถางทางเพื่อสักวันหนึ่งเราจะฉลาดกว่านี้ได้ เก็บหลักฐานเอกสารคนที่เป็นเหยื่อ 6 ตุลา เป็นเหยื่อของความขี้ขลาดตาขาว เหยื่อของความโง่และแกล้งโง่ที่มีอยู่ดาษดื่นภายใต้ระบบโซตัสของสังคมไทย” ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัยกล่าว

ข้อมูลที่ทีมงานมียังคงไม่สมบูรณ์ จึงต้องการเปิดรับภาพ เสียง วิดีโอ จากคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทุกฝ่าย สามารถติดต่อทีมงานได้ทางอีเมล์ [email protected]

ภาพเหตุการณ์บริเวณสนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image