เปิดแบบก่อสร้าง ‘หลวงพ่อโต’ วัดระฆังฯ สูง 6 เมตร นักวิชาการห่วงทัศนะอุจาด

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยภาพที่อ้างว่าเป็นแบบการก่อสร้างประติมากรรมหลวงพ่อโต ที่วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง เนื่องจากไม่เหมาะสมกับภูมิทัศน์โดยภาพรวม

ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ตนได้เห็นภาพดังกล่าวแล้วโดยมีผู้ส่งภาพมาให้ และสอบถามว่าจะสามารถระงับการก่อสร้างได้หรือไม่ ซึ่งตนตอบไปว่า คงได้แต่ปลง

“เมื่อหลายวันก่อนได้เดินผ่านไปตรงนั้น เห็นมีการขุดพื้นที่ของวัดเพื่อเตรียมการสร้าง ก็ตะหงิดๆ ในใจแล้วว่า ต้องสร้างออกมาใหญ่โต ก่อให้เกิดทัศนะอุจาดขึ้นอย่างแน่นอน ผมไม่แน่ใจว่ากรณีอย่างนี้กรมศิลปากรสามารถสั่งระงับหรือทักท้วงเรื่องขนาดในการก่อสร้างได้หรือไม่

ระยะหลายปีมานี้ วัดหลายแห่งมีแนวโน้มของการก่อสร้างรูปปั่นหลวงพ่อ หรือพระพุทธรูปขนาดใหญ่กันมาก ถามว่าทำไม ก็เพราะเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับวัด คนจะได้เห็นกันแต่ไกลจะได้เข้ามาทำบุญ ซึ่งหมายความว่าเรื่องนี้เป็นพุทธพาณิชย์ ถ้าเดินในวัดระฆังทุกวันนี้จะไม่สามารถหาความสงบได้ เต็มไปด้วยการก่อสร้าง การเปิดให้เช่าพระเพื่อบูชา มีการนำพระผงวัดระฆังกลับมาพิมพ์ซ้ำ” 

Advertisement

สำหรับความนิยมในการสร้างพระองค์ใหญ่ในวัด ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ในอดีตมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อาทิ หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง แต่แนวคิดแตกต่างกัน กล่าวคือ เดิมมักสร้างเพื่อให้มีความหมายทางศาสนาเช่น คุ้มครองผู้ที่เดินทาง ซึ่งเป็นแนวคิดที่รับมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น ส่วนพุทธพาณิชย์เกิดขึ้นในภายหลัง

“การสร้างประติมากรรมหลวงพ่อแบบเหมือนจริงนี้เพิ่งมาเริ่มต้นขึ้นราวๆ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเกจิอาจารย์ต่างๆ ต้องปลุกเสกเครื่องคุ้มครองเช่นพระให้กับประชาชนและตำรวจ จึงเริ่มเกิดลัทธิการบูชาเกจิขึ้นมา จริงๆ แล้ว การก่อสร้างสิ่งใหญ่โตนี้เป็นผลมาจากวิกฤตของสังคม ถ้าแก้ปัญหาสังคมได้ วัตถุใหญ่โตเหล่านี้ก็ไม่มีความหมายนัก”

Advertisement

ภาพ 3 มิติ จากเพจ “ภูมิทัศน์วัดไทย เพื่อความเจริญศรัทธา”

ภาพถ่าย โดย พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image