ประสพชัย แสงประภา วิกฤตวังท่าพระ ศิลปากรในมรสุมโซเชียล “นี่คือช่วงที่เราตกเป็นข่าวมากที่สุด”

ฮอตจนปรอทแตกไปแล้วไม่รู้กี่อัน สำหรับกระแสเกี่ยวเนื่องกับสถาบันการศึกษาด้านศิลปะอันดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ที่ขยันมีประเด็นร้อนถี่ยิบในช่วงเพียง 1 เดือนมานี้

นับตั้งแต่ปมอาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์เข้าข่ายทำอนาจารนักศึกษาโดยให้เปลื้องผ้าถ่ายภาพ ตามมาด้วยเพจ ANTI SOTUS ที่ทิ้งระเบิดลูกโตบอมบ์ตึกคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ด้วยข้อมูลเรื่องการรับน้องใหม่ที่ถูกบังคับให้แก้ผ้าและสำเร็จความใคร่ให้เพื่อน ร้อนถึงคณบดีต้องออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่สังคมยังคลางแคลง ตามด้วยอธิการบดีที่สั่งเบรกกิจกรรมรับน้องทั้งหมด

ก่อนที่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีลีลาเป็นเอกลักษณ์จะกล่าวในงานไหว้ครูในลักษณะตำหนินักศึกษาที่ออกมาให้ข่าว จนอุณหภูมิวิพากษ์กลับมาสูงปรี๊ดอีกหน นำมาซึ่งแถลงการณ์ของกลุ่มศิลปิน นักเขียน นักวิชาการที่เรียกร้องคำขอโทษ รวมถึงแคมเปญล่ารายชื่อค้านกิจกรรมดังกล่าว

ยังไม่รวมประเด็นการลอกธีสิสปริญญาเอกที่กลายเป็นข่าวดังในช่วงปลายปีที่แล้ว และความอลหม่านของโครงการ “ซ่อม” วังท่าพระ ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 4 คณะ ได้แก่ จิตรกรรมฯ, มัณฑนศิลป์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และโบราณคดี ต้องแยกย้ายสลายตัวไปใช้สถานที่อื่นชั่วคราวตั้งแต่ปลายปี 2559 คาดการณ์จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนเกิดสัญญาณความยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบไม่น้อย เพราะบางคณะออกไปเช่าตึกซึ่งนั่นหมายถึงงบที่อาจต้องเพิ่มมหาศาล ไหนจะความลำเค็ญของบางคณะที่ต้องเดินทางไกลและเส้นทางค่อนข้างเปลี่ยวแม้มีรถมหาวิทยาลัยรับส่งแต่ก็มีเสียงบ่นว่าทุลักทุเลกว่าที่คิด

Advertisement

สถานการณ์เหล่านี้ ล้วนอยู่ในสายตาของ ประสพชัย แสงประภา ศิษย์เก่าวัย 79 ปี ที่เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์มากมายใต้ร่มเงาสีเขียวเวอริเดียนมานานกว่าครึ่งศตวรรษ นับแต่ลงทะเบียนเป็นนักศึกษามัณฑนศิลป์รุ่น 7 แล้วรับราชการเป็นช่างตรี และนั่งเก้าอี้สายบริหาร เป็นหัวหน้าแผนกบริการนักศึกษา หัวหน้าแผนกบริการกลาง เลขานุการคณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์

เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่า ม.ศิลปากร เมื่อปี 2514 ก่อนจะเป็นนายกสมาคมในปี 2529 รวมถึงเลขาธิการสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทยและอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน กระทั่งได้รับการยกย่องเป็น นักศึกษาเก่าดีเด่น ประจำปี 2526

ปัจจุบันยังคงเป็นกรรมการชุดต่างๆ ในการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

Advertisement

เคยรับหน้าที่ดูแลกิจกรรมทั้งหมดของเด็กวังท่าพระ ดูแลการก่อสร้าง แม้แต่คุมเจ้าหน้าที่ธุรการ

ไม่มีอะไรเล็ดลอดสายตา และอาจไม่มีใครรู้เรื่อง “รับน้อง” ในวังท่าพระดีกว่าเขาอีกแล้ว

ต่อไปนี้คือความคิดความเห็น มุมมอง และปากคำของคนศิลปากรตัวจริง

– บรรยากาศกิจกรรมรับน้องใหม่ในอดีตเป็นอย่างไร?

สมัยก่อนนักศึกษายังน้อย เรารับน้องรวมกันทุกคณะ ทั้งคณะจิตรกรรมฯ มัณฑนศิลป์ สถาปัตย์ โบราณคดี ไม่ได้แยกกัน และไม่ได้ทำกันเป็นเดือนๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ แต่จบในวันเดียว คือจะมีการไหว้ครูและรับน้องใหม่พร้อมกันในช่วงเดือนสิงหาคม ยุคนั้นยังไม่มีว้าก แต่มีการ “ซ่อม” คือรุ่นพี่จะดูว่าน้องคนไหนเป็นพวกซ่าๆ ก็จ้องไว้ พอวันจริงพวกนี้จะโดนเล่นก่อน คือเรียกให้ขึ้นเวที ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความลับ พี่ปี 2 เป็นคนจัดงาน ส่วนปี 3 ปี 4 จะนั่งข้างหน้า คอยตะโกนถาม หรือสั่งให้ทำนู่นทำนี่ก็แล้วแต่ เช่น เอาสีเขียนหน้า ให้แต่งตัวแปลกๆ อย่างผมโดนแต่งเป็นอินเดียนแดง ถูกสั่งให้ขึ้นรถเมล์ไปซื้อตั๋วหนังที่พาหุรัด มีรุ่นพี่ตามขึ้นรถเมล์มาดู คนบนรถก็งงว่านี่โฆษณาสินค้าอะไร เราเองก็สนุก คนไหนไม่โดนซ่อม จะผิดหวัง เหมือนรุ่นพี่ไม่สนใจ เรื่องโหดไม่เท่าไหร่ โดยเฉพาะมัณฑนศิลป์กับโบราณคดี เพราะผู้หญิงเยอะ สถาปัตย์แรงสุด เพราะผู้ชายเยอะ แล้วคอยไปป่วนคณะอื่นเขา (หัวเราะ)

พอเสร็จกิจกรรมรับน้องทุกคณะจะมีการแสดง ศิลปากรเป็นหนึ่งในโมเดิร์นแดนซ์ยุคก่อน จิตรกรรมจะมาแนวไอเดีย มัณฑนศิลป์เน้นความสวยงาม ส่วนสถาปัตย์เล่นตลก การเข้าห้องซ้อมร้องเพลงคณะยังไม่มี เพราะเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว แต่ละคณะยังแทบไม่มีเพลงคณะเลย จะมีบ้างก็ของสถาปัตย์

– เพราะฉะนั้นหลายกิจกรรมที่อ้างว่าเป็นประเพณีเก่า ไม่จริง?

ไม่จริงครับ อย่างการว้าก ขึ้นดาดฟ้า การเข้าแถวเดินแบบทหาร ไม่มี โกนหัวนี่มาทีหลังมาก ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ดูฟิลลิ่งไม่ใช่เด็กจิตรกรรมที่มักไว้ผมยาว แต่ถ้าดูกิจกรรมจริงๆ มันก็ดีในแง่ระเบียบวินัย มีการกวาดมหา’ลัยตอนเย็น ผู้หญิงเปลี่ยนทรงผมทุกวันก็สร้างสรรค์ดี ถ่ายรูปมาจัดเป็นนิทรรศการศิลปะได้เลย แต่ส่วนที่เกิดปัญหาในยุคหลังอย่างที่เป็นข่าวล่าสุดคือแอบไปทำกันลับๆ และที่เป็นปัญหามากอีกอย่างหนึ่งคือเวลาไปต่างจังหวัด ไปทำกิจกรรมที่อาจารย์อาจจะไม่รู้ ดูแลไม่ได้ “พี่เก่า” ไปเยอะ พี่ปัจจุบันก็เกรงใจพี่เก่า คุมไม่อยู่ เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาต้องไปดูแลด้วย และผู้บริหารควรใกล้ชิดเด็กมากกว่านี้

– หลังเป็นข่าวครึกโครมดูเหมือนในกลุ่มศิษย์เก่า ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน?

ใช่ครับ มันก็เป็นธรรมดานะ เพราะแต่ละรุ่น แต่ละคณะมีประสบการณ์ในกิจกรรมรับน้องต่างกัน อยู่คนละช่วงเวลา มุมมองก็ต่างกันไป

– ธนะ เลาหกัยกุล อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เคยพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่าง รวมถึงโซตัส แต่ไม่สำเร็จ?

เขาเป็นศิษย์เก่าจิตรกรรมแล้วไปเรียนต่อเมืองนอก พอกลับมาก็มีความคิดความอ่านดีมาก ก่อนเป็นอาจารย์ยังเคยมาคุยกับผม ผมชอบเขามาก เราคุยกันนานในทุกๆ เรื่อง แต่การเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย การพลิกระบบการเรียนการสอนจากหน้ามือเป็นหลังมือต้องมีเทคนิค คนไทยเราเคยทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วมาเปลี่ยนทันที มันยาก

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่จิตรกรรม คณะอื่นก็มี สุดท้ายอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะจะมาเปลี่ยนระบบและความคิดที่สะสมมานาน เช่น นำวิธีแบบเยอรมนีมาใช้ คือ ใครชอบอาจารย์คนไหน ก็ไปเรียนกับคนนั้น ซึ่งในไทยเราไม่ใช่ เราเรียนกันเป็นวิชาๆ ไป

– อย่างนี้หากเจอปัญหาที่ต้องแก้ไขจะทำอย่างไร เพราะดูเหมือนสิ่งที่สั่งสมเป็น “ศิลปากร” ฝังรากลึก ยากจะปรับเปลี่ยน?

ยอมรับนะว่ามีสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นคิดว่าข้างในต้องคุยกันเยอะๆ แล้วค่อยปรับแก้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ระบบว้ากผมก็ไม่ชอบ ว้ากเป็นเดือนโดยไม่มีไอเดีย หรือบางครั้งมีการสั่งให้วิ่งบ้าๆ บอๆ คนนอกจะมองไม่ดี การไปทำกิจกรรมต่างจังหวัด เก็บเงินจากรุ่นพี่ บางคณะใช้เงินเป็นล้าน เพราะนอนรีสอร์ต สมัยก่อนนอนโรงเรียน นอนวัด แม้ไม่เกี่ยวกับงบประมาณมหาวิทยาลัย แต่ส่วนตัวไม่อยากให้เด็กเสียเงินขนาดนั้น

– ประเด็นอาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์คุกคามทางเพศนักศึกษา?

ทางสมาคมศิษย์เก่าไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการปรึกษากันว่าจะช่วยเรื่องดำเนินคดี ช่วยหาทนายให้ แต่เจ้าทุกข์คือนักศึกษาที่โดนกระทำไม่ออกมาดำเนินคดี เรื่องนี้เกิดนานเป็นปีแล้ว ตอนนักศึกษายังเรียนอยู่ ตอนนี้เขาจบไปแล้ว

– ปัญหาซ่อมอาคารในวิทยาเขตวังท่าพระที่ยืดเยื้อ สถานการณ์ไปถึงไหนแล้ว?

ตอนนี้หยุดก่อนชั่วคราว เราให้เขาหยุดงาน ทางศิลปากรต้องฟ้องร้อง เรื่องคดีอีกนาน ระหว่างนี้ก็ไม่สามารถจ้างผู้รับเหมาใหม่ได้ คงใช้เวลาอีกเป็นปี มองว่าปัญหาเกิดจากการเอาระบบราชการมาจับ ประกอบกับประสบการณ์อาจจะยังน้อย ส่วนใหญ่เคยทำงานเล็กๆ 10-20 ล้าน ครั้งนี้งบก้อนใหญ่ 600 ล้าน ทำทุกคณะพร้อมกันโดยไม่มีประสบการณ์ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง แต่ละคณะต่างคนต่างช่วยตัวเอง ซึ่งจริงๆแล้วต้องคิดให้เป็นระบบ ต้องวางแผนว่าถ้าเกิดผลกระทบกับนักศึกษาในเรื่องต่างๆ จะแก้ไขอย่างไรบ้าง

– ในบรรดาปัญหาต่างๆ ขณะนี้ ประเด็นไหนน่าห่วงที่สุด?

ความแตกแยกและการประเมินคุณภาพการศึกษาที่สุดท้ายแล้วอาจไม่สามารถชี้วัดได้จริงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์ โอเค ยอมรับ แต่ศิลปะกับมนุษย์ วางเกณฑ์ไม่ได้ เพราะคนมีชีวิต สมัยก่อน ยุคอาจารย์ศิลป์ ถ้าเรียนจิตรกรรมแล้วไปไม่ไหว สั่งมาเลย ให้ไปเข้ามัณฑนศิลป์ หรือโบราณคดี สมัยนี้อาจารย์ต้องเป็น ดร.ตามกฎเกณฑ์รัฐบาล สมัยก่อนไม่ต้อง อย่าง อ.ชลูด นิ่มเสมอ ซึ่งท่านเก่งมาก ก็ได้แค่ประกาศนียบัตรทั้งนั้น

– ปีนี้เป็นช่วงที่ศิลปากรเกิดวิกฤตมากที่สุด?

ใช่ครับ ที่ผ่านมา ไม่เคยเจอปัญหาหลากประเด็น และมาพร้อมๆ กันอย่างนี้ แถมเป็นข่าวมากที่สุด ถามว่าเคยมีเรื่องไหม มี แต่ข่าวไม่มี เพราะเดี๋ยวนี้มีโซเชียลซึ่งไวมาก

– ศิลปากรจะกิน “บุญเก่า” ได้อีกนานแค่ไหน?

ในความรู้สึกผมคือตอนนี้ก็แทบไม่ได้กินแล้วนะ อะไรๆ เปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนเรียนด้วยฝีมือ เดี๋ยวนี้เรียนด้วยเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร แต่ศิลปินเดี๋ยวนี้ไส้ไม่แห้งแล้ว รวย คนสนใจงานศิลปะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คนยังไม่สนใจเลย สมัยนี้ โอ้โฮ คนชอบซื้องานศิลปะเยอะแยะ

– ชื่อศิลปากร ยังขายได้อยู่ไหม?

ไม่แน่ใจ (ยิ้ม) เดี๋ยวนี้จำนวนนักศึกษาลดลง คือคนสอบได้แต่ไม่มามอบตัวเยอะขึ้น เพราะทางเลือกเขามีมากขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนเยอะ อาจารย์ก็ไฟแรง

– คิดว่าจะพ้นวิกฤตไปได้อย่างไร?

มหาวิทยาลัยต้องอยู่กับชุมชน อยู่กับสังคม

ถ้าอยู่โดดเดี่ยว ประชาชนไม่สนับสนุน เราตายแน่นอน


บรรยากาศไหว้ครู-รับน้องใหม่ ม.ศิลปากรในอดีต จัดขึ้นในวันเดียวกัน
บรรยากาศไหว้ครู-รับน้องใหม่ ม.ศิลปากรในอดีต จัดขึ้นในวันเดียวกัน

การเมืองเรื่องศิลปะและแรงปะทะของ ‘ความ(ไม่)บังเอิญ’

หนึ่งในคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือศิลปะกับการเมือง มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ หรือตัดขาดออกจากกันอย่างไร้จุดเชื่อม บ้างก็มองว่าศิลปะบริสุทธิ์ย่อมไม่แตะการเมือง บ้างก็มองว่าทั้ง 2 สิ่งเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง และรับใช้ซึ่งกันและกัน

“ทุกอย่างคือเรื่องการเมืองทั้งนั้น หอศิลป์ก็เกิดเพราะอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอนนั้นอาจารย์คิดตั้งโรงพิมพ์พันธบัตร โดยให้อาจารย์ศิลป์มาสอนเด็ก ฝึกการออกแบบแบงก์ นี่ก็การเมืองทั้งนั้น แม้แต่ ม.ศิลปากรถูกตั้งขึ้นก็เพราะการเมือง”

นี่คือมุมมองของศิษย์เก่าอาวุโส ซึ่งยังเล่าบรรยากาศครั้งได้พบหน้า อ.ศิลป์ พีระศรี เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมที่มา “ฝึกมือ” เพื่อสอบเข้าเรียน ซึ่งเดิมไม่ได้ตั้งใจสอบเข้ามัณฑนศิลป์ แต่บังเอิญเห็นชื่อแปลกๆ จึงเลือกสอบ

“ตอนนั้นเรียนสายวิทย์ที่กรุงเทพคริสเตียน ไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อน พอที่นี่เปิดฝึกมือก็เลยมา อาจารย์ท่านมาดูด้วย พอเข้าปี 1 ท่านเสียชีวิตพอดีในช่วงเดือนพฤษภาคม ผมเปิดเทอมเดือนมิถุนายน เดิมตั้งใจจะเรียนสถาปัตย์ แต่ปีนั้นเป็นปีแรกที่ทบวงมหาวิทยาลัยจัดสอบรวม ไม่ใช่ต่างคนต่างสอบ เห็นมีคณะมัณฑนศิลป์ เลยเอาวะ ชื่อแปลกๆ ก็เลือก ไม่รู้ว่าคืออะไร (หัวเราะ) สมัยเรียนทำกิจกรรมทุกอย่าง พอเรียนจบปี 1 มีการประชุมจัดงานรับน้องใหม่ ก็ทำกิจกรรมมาเรื่อย”

เลือกด้วยความบังเอิญ ทำกิจกรรมเยอะจนไม่ค่อยส่งงาน แต่สุดท้ายได้เป็นเลขาธิการมัณฑนศิลป์สมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2529 ถือว่าไม่ธรรมดา

ถามว่าอะไรคือความเป็นศิลปากร วังท่าพระ ในมุมมองศิษย์เก่าท่านนี้?

“ความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน เราทำงานด้วยกันตลอด ช่วยกันดู เอ๊ะ! สีนี้ไม่สวยนะ ช่วยวาดตรงนี้แทนให้หน่อย แล้วทุกคณะเรียนศิลปะหมด รวมถึงคณะโบราณคดี ซึ่งต้องเรียนศิลปะของคนในอดีต สมัยก่อนโบราณคดีเรียนจบได้ศิลปะบัณฑิต เหมือนจิตรกรรม มีชมรมศิลปะโบราณคดี ในวังท่าพระก็เต็มไปด้วยงานศิลปะ อย่างในสวนแก้ว เสียดายว่าไม่มีแผ่นป้ายบอกให้รู้ว่าเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่า ศิลปินชื่ออะไร ได้รางวัลอะไร ต้นไม้ก็ควรติดชื่อ อย่างต้นแก้วเก่าแก่น่าจะมีป้ายสักนิด ตึกก็ควรมีป้ายบอกความเป็นมา”

คอมเมนต์อย่างละเอียดลออด้วยความใส่ใจ ตามด้วยเรื่องเล่าในอดีตที่สะท้อนถึงความรักและห่วงใยในวังท่าพระแห่งนี้อย่างสุดซึ้ง

อ.เสนอ นิลเดช มาบอก นี่ ประสพชัย ดูสิ! เด็กเอาน้ำมาวางบนแท่นประติมากรรม ผมก็ไปดู สมัยก่อนเด็กโบราณฯเอาโปสเตอร์มาติดผนังท้องพระโรง ผมถ่ายรูปไปฟ้อง อ.ผาสุข อินทราวุธ เลย อาจารย์ก็ลงมาดู เพราะนี่คือโบราณสถาน ต้องช่วยกัน อาจารย์สมัยก่อนจริงจังทุ่มเทมาก อย่าง อ.สุรพล นาถะพินธุ สอนโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์”

ถามว่า 55 ปี ในศิลปากรเปรียบเสมือนบ้านอีกหลังใช่หรือไม่ ศิษย์เก่าชื่อประสพชัยตอบกลับมาสั้นๆ ว่า

“ที่นี่คือชีวิตของผม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image