อาสาสมัครทหารพราน (2) (โดย วสิษฐ เดชกุญชร) : ประจำวันที่ 3 ตุลาคม

หัวใจของการปฏิบัติงานของทหารทุกเหล่าคือการฝึก ก่อนที่ทหารไม่ว่าหน่วยใดจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสนาม ทหารทุกนายต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างหนักและในทุกด้าน การฝึกเช่นนี้จะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่เท่าที่ปรากฏนั้น อาสาสมัครทหารพรานใช้เวลาในการฝึกสั้นเกินไป คือ ประมาณ 30 วัน และบางหน่วยที่มีชื่อในด้านการฝึก เช่นนาวิกโยธิน ก็ใช้เวลาเพียง 45 วันเท่านั้น ระยะเวลาสั้นอย่างนี้สำหรับการฝึกความแข็งแรงและอดทนในสนามอย่างเดียวก็หมดเวลาเสียแล้ว และไม่เพียงพอที่จะฝึกยุทธวิธีให้แก่อาสาสมัครทหารพรานอย่างสมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในสนามจริงๆ อาสาสมัครทหารพรานจึงมักจะปฏิบัติหน้าที่อย่างหย่อนยานหรือประมาท เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่ออาสาสมัครทหารพรานสองนายลงจากรถแล้วเดินคู่กันเข้าไปตรวจพื้นที่ที่สงสัยว่าผู้ก่อความไม่สงบวางกับระเบิดเอาไว้ แทนที่จะแยกกันเดิน มิหนำซ้ำยังไม่สวมเสื้อเกราะสำหรับป้องกันวัตถุระเบิดด้วย เมื่อเกิดระเบิดขึ้นจึงเสียชีวิตทั้งสองนาย
จากข้อมูลที่ได้รับ อาสาสมัครได้รับการฝึกทางยุทธวิธีให้รู้จักรุกและรับ รวมทั้งป้องกันฐานเมื่อถูกโจมตี ลาดตระเวนทั้งโดยเดินเท้า โดยจักรยานยนต์และโดยรถยนต์ และให้รู้จักตรวจสอบวัตถุระเบิด (การทำลายเป็นหน้าที่ของชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิดโดยเฉพาะ) ในการฝึกนั้นปรากฏว่ามีการใช้ยุทโธปกรณ์และเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ค่อนข้างทันสมัยและสมบูรณ์ เช่น ใช้รถฮัมวีหุ้มเกราะ และเจ้าหน้าที่ตรวจวัตถุระเบิดก็มีเสื้อเกราะสวมสำหรับป้องกันระเบิดโดยเฉพาะ แต่ในสถานการณ์จริงกลับปรากฏว่าอาสาสมัครทหารพรานใช้รถยนต์กระบะบรรทุก ซึ่งแม้จะมีเกราะหุ้มเป็นบางส่วน แต่ก็ไม่แข็งแรงพอที่จะป้องกันชีวิตของอาสาสมัครได้ และไม่มีเสื้อเกราะสำหรับป้องกันวัตถุระเบิด มีแต่เสื้อเกราะกันกระสุนปืนซึ่งบางกว่า
ในการลาดตระเวนของอาสาสมัครทหารพรานแทบทุกครั้งไม่ปรากฏว่ามีการลาดตระเวนทางอากาศล่วงหน้าหรือในขณะที่กำลังลาดตระเวน ทั้งๆ ที่กองทัพมีอากาศยาน การลาดตระเวนล่วงหน้าจะทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบบนพื้นดินข้างล่าง และทำให้ผู้ก่อความไม่สงบต้องยุติหรือเปลี่ยนแผน โดยเฉพาะในการวางกับระเบิด ส่วนการลาดตระเวนในขณะที่กำลังลาดตระเวนก็อาจทำให้แลเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบในทันที และช่วยให้การตอบโต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ปัญหาหนึ่งที่อาจจะถูกมองข้ามก็คือปัญหาความปลอดภัยส่วนตัวของอาสาสมัครทหารพราน เพราะปรากฏว่าอาสาสมัครเคยถูกลอบทำร้ายหรือสังหารเมื่อเดินทางออกจากฐานและกลับฐาน ผู้บังคับบัญชาหรือครูฝึกควรจะอบรมอาสาสมัครให้รู้และเข้าใจวิธีป้องกันและตอบโต้เมื่อต้องเดินทางโดยลำพัง เช่นให้รู้จักเปลี่ยนเวลาและเปลี่ยนเส้นทาง และให้รู้จักสังเกตและรายงานเมื่อสถานการณ์ผิดสังเกต เพื่อหน่วยเหนือจะได้สามารถส่งกำลังออกไปสนับสนุนหรือช่วยเหลือได้ทันท่วงที
คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครทหารพรานก็คือหัวหน้าหน่วย โดยเฉพาะผู้บังคับหน่วยในสนามซึ่งเป็นทหารประจำการ ชีวิตและความปลอดภัยของอาสมัครทหารพรานขึ้นอยู่กับความรู้ความ สามารถของผู้บังคับหน่วยในสนาม ผู้บังคับหน่วยจึงจะต้องเป็นทหารอาชีพ ที่ได้รับการเลือกสรรมาอย่างพิถีพิถันจริงๆ
ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครทหารพรานอย่างหนึ่งก็คือข่าวกรองทางยุทธการและยุทธวิธี หน้าที่นี้ส่วนหนึ่งเป็นของหน่วยทหารเจ้าของพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นของหน่วยอาสาสมัครทหารพรานเอง สำหรับหน่วยอาสาสมัครทหารพรานนั้น โดยทฤษฎีเป็นที่คาดหมายว่าอาสาสมัครทหารพรานซึ่งเป็นคนในพื้นที่และเป็นมุสลิม (สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้) จะช่วยให้งานข่าวกรองมีประสิทธิภาพ แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าอาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่และเป็นมุสลิมมีน้อย จึงไม่สามารถจะใช้ประโยชน์ในงานข่าวกรองได้ มิหนำซ้ำในบางกรณีกลับเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนในพื้นที่ก็มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image