หนทางหายนะจากการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ : โดย สมหมาย ภาษี

ขณะนี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ….” อยู่ ซึ่งจะมีระยะเวลา 60 วัน หรืออาจยาวกว่านั้นถ้ามีการขอขยายระยะเวลาออกไป กฎหมายนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาต่างก็แอบภูมิใจมาก เพราะเป็นงานชิ้นโบแดงชิ้นหนึ่งของ คสช. ทำมาถึง 3 ปี นานกว่าการสร้างพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงถึง 3 เท่า

ผู้มีส่วนร่วมผลิตกฎหมายนี้ที่เป็นอดีตผู้ทรงคุณวุฒิใน Super Board ท่านหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจฉบับนี้ มีธรรมาภิบาลกำกับป้องกันปัญหาการล้วงเอาทรัพยากรประเทศไป”

แต่ในช่วงนี้กลับได้อ่านได้ฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้รู้และผู้สนใจในเรื่องนี้มากพอสมควร อีกทั้งยังมีการจัดสัมมนาในเรื่องนี้และมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ด้วย เมื่อสดับตรับฟังดูก็พบว่า ใน พ.ร.บ.ที่กำลังเสนอให้ทาง สนช.หรือสภาของ คสช.พิจารณาอยู่นี้ มีเรื่องสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง คือ “การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นมา ตามที่ได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.หมวด 2 โดยได้ระบุวัตถุประสงค์ “เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งลงทุนและบริหารทรัพย์สินของบรรษัท” โดยจะทำการรวมรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง เข้ามาอยู่ในร่มไม้ชายคาของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาตินี้ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ดูสิครับว่า บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาตินี้มีกรอบการทำงานครอบคลุมกว้างขวางใหญ่โตในทุกมิติ ไม่ว่าฐานะของนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ถ้าแปลตามอักษรก็คือหลุดพ้นจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ใหญ่คับฟ้าว่างั้นเถอะ

Advertisement

ดังนั้น จึงย่อมหนีไม่พ้นจากความสนใจและการวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลและสื่อที่เคยแสดงความคิดเห็นและความห่วงใยประเทศชาติอยู่ตลอดมา

ตัวผู้เขียนเองในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ก็เคยแสดงความเห็นด้วยแนวคิดการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจนี้มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น โดยยึดหลักว่าอะไรที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสมบัติชิ้นใหญ่สุดของประเทศชาติ ซึ่งล้วนเป็นกิจการที่อำนวยความผาสุกให้ประชาชน มีประสิทธิภาพสูงยิ่งๆ ขึ้นไม่ดีได้อย่างไร และยังได้คิดต่อไปอีกว่า การปรับปรุงรัฐวิสาหกิจของไทย ซึ่งใครๆ ก็เอือมระอาในการดำเนินงานที่สุดแสนจะไร้ประสิทธิภาพ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นแฝงเร้นอยู่เหมือนปลวกมอดแทบทุกแห่ง ถ้าไม่ทำการปรับปรุงแบบพลิกฝ่ามือสักครั้งแล้วจะให้ดีได้อย่างไร และที่สำคัญยังคิดบอกตัวเองว่า ถ้าไม่ทำในรัฐบาล คสช.นี้ ก็อย่าได้คิดทำอีกเลยในชาตินี้

แต่ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านไป จนกระทั่งบัดนี้ในตอนกลางปี 2560 ก็มีข่าวว่าร่างกฎหมายในเรื่องนี้ได้ออกมา และได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีที่มีท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และทั้งได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามขั้นตอนแล้วก็รู้สึกปลื้มใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลนี้เอาจริง ไม่ใช่พูดเล่นๆ เหมือนบางเรื่อง จึงได้บังเกิดความสนใจและทำการติดตามตลอดมา จนได้เกิดและเห็นถึงความหายนะที่จะมีต่อประเทศชาติ (ตามความเห็นเฉพาะตัวของผู้เขียนนะครับ) หากมีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้น ดังที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการอยู่ในขณะนี้

โดยที่ผู้เขียนไม่ได้เป็นนักกฎหมาย รู้แต่เพียงว่ากฎหมายฉบับนี้ ร่างและตรวจหรือวางแนวทางการร่างโดยนักกฎหมายหน้าใหม่ๆ บ้างและหน้าเดิมๆ ไปทำการแก้ไขมาบ้าง ซึ่งไม่ได้พลิกฝ่ามือให้ประชาชนคนไทยเห็นแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้ามกลับนำเอาแนวทางซ้ำๆ รอยเดิม ตั้งแต่ครั้งมีพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศจนถูกปฏิวัติถึงสองครั้งสองครามาใช้ แล้วมันจะมีธรรมาภิบาลและดีขึ้นได้อย่างไร

ในที่นี้จะนำเฉพาะประเด็นที่จะเป็นจุดอ่อนหนักๆ มาวิเคราะห์ให้ฟัง โดยจะไม่ขอแตะประเด็นข้อกฎหมายปลีกย่อยอื่นๆ ที่ผู้วิจารณ์บางท่านได้พูดถึงไปมากแล้ว

หนทางหายนะจุดแรก คือการโอนทรัพย์สินและหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกำกับโดยกฎหมายจากกระทรวงการคลังไปให้บรรษัท ข้อนี้ถ้ามองในข้อดีทางธุรกิจ คือบรรษัทนี้จะมีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล กล่าวคือ ตามงบดุลสิ้นสุดกันยายน 2559 มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันทั้ง 11 แห่ง เท่ากับ 3,068,000 ล้านบาท หรือจำนวนมากใกล้เคียงกับงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2560/61 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าของเสี่ยนักธุรกิจใดๆ ในประเทศ ทรัพย์สินของบรรษัทขนาดนี้อย่างน้อยก็ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เงินกู้ได้อีกบานตะไท โดยหนี้นี้ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณร้อยละ 42 ของ GDP หรือประมาณ 6,225 ล้านล้านบาท

ด้วยทรัพย์สินมหาศาลนี้ แม้รัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง ยังมีหนี้เก่าอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ แต่ก็ยังสามารถก่อหนี้ได้อีกมากอย่างสบายๆ แต่อย่าไปคิดมากกับตัวเลข จำไว้เพียงว่าหนี้ของบรรษัทนี้ก็คือภาระหนี้ของประชาชนทั้งประเทศ เพราะบรรษัทนี้แม้ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่กฎหมายที่กำลังจะออกมาได้กำหนดว่าเป็นหน่วยงานของรัฐครับ

เมื่อดูยอดทรัพย์สินรวมของ 11 รัฐวิสาหกิจ ที่มีมูลค่าถึง 3,068 ล้านล้านบาท ปรากฏว่าเฉพาะรายใหญ่ 5 แห่ง คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีทรัพย์สินรวมกันถึง 3,002 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 98% ส่วนอีก 6 แห่ง เป็นแค่ลูกหาบ มีสัดส่วนแค่ 2% ดูตัวเลขนี้บางทีอาจเห็นเจตนาของการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.ชุดใหญ่นี้ได้ดีทีเดียว

ทรัพย์สินที่มีมากของบรรษัทสามารถใช้ประโยชน์ในการระดมทุนได้ทุกวิถีทาง ไม่ใช่ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการก่อหนี้เท่านั้น รายได้ที่ไหลเข้ามารายวันก็ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือหาเงินเข้ามาเป็นกองทุนต่างๆ ได้อีกมาก เร็วๆ นี้มีเรื่องที่ค้างอยู่เรื่องหนึ่ง คือการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งจะเอาหลักทรัพย์และกระแสรายได้ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมาหาเงิน ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ยังไม่อาจสรุปได้

แต่กรณีของบรรษัทนี้จะเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวมาก ก็เพราะบรรษัทไม่ได้เป็นราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นในการกู้เงินหรือก่อหนี้ได้อย่างมากมายนี้ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดๆ กำหนดกฎเกณฑ์เป็นกรอบเหมือนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะมีก็แต่หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ คนร.กำหนด ตามมาตรา 46 และระเบียบและคำสั่งของคณะกรรมการบรรษัทเท่านั้น แต่ถ้าเกิดเสียหายขึ้น เช่น จ่ายหนี้คืนไม่ได้ หรือเกิดภาวะล้มละลายรัฐบาลต้องรับผิดชอบนะครับ เพราะบรรษัทนี้เป็นหน่วยงานของรัฐ

การหาเงินเข้ามาง่าย จะก่อปัญหาแก่ชาติบ้านเมืองแค่ไหนหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานหรือการลงทุนที่อยู่ในอำนาจของกรรมการที่มาจากการสรรหานั้นน่าเป็นห่วงกว่า เพราะในประเทศไทยนั้นจะผันเงินเข้ากระเป๋านักการเมืองหรือนักธุรกิจหรือใครก็ตาม ทำได้ไม่ยากหรอกครับ

หนทางหายนะจุดที่สอง คือการได้มาซึ่งคณะกรรมการของบรรษัท และรวมถึงคณะกรรมการ คนร.ด้วย ซึ่งตามตัวบทกฎหมายที่ร่างตั้งใส่พานให้พิจารณาอยู่ในเวลานี้ ล้วนมาจากวิธีเก่าร่วม 20 ปีแล้ว คือวิธีสรรหา ซึ่งใช้มาตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยยุคแรก โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นคงรู้กันอยู่แล้ว วิธีนี้ถือว่าดีในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่สำหรับประเทศไทยวิธีนี้ถือว่าหมูครับ ทุกอย่างจัดการได้ตามสั่ง

ขอให้มาดูมาตราที่เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการของบรรษัท ที่กำหนดไว้ในมาตรา 63 กันดีกว่า มาตรานี้ได้ระบุไว้ว่า “ในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 52 ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งประธาน คนร.แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้ผู้อำนวยการ เป็นเลขานุการ

กรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้งและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

ให้คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง พิจารณาเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการสรรหา”

การให้ประธาน คนร.แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเจ็ดคน ซึ่งเคยเป็นบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระดับปลัดกระทรวงในกระทรวงสำคัญๆ นั้น มีข้อเท็จจริงอยู่ 3 ประการที่ต้องพิจารณาทบทวนให้รอบคอบ คือ ข้อแรก บุคคลต่างๆ ตามที่ระบุนั้นเป็นตำแหน่งที่ประธาน คนร. คือท่านนายกรัฐมนตรีเคยรู้จักมักคุ้นกันมาไม่มากหรือน้อย คนไหนที่พอสั่งเสียกันได้ ก็เลือกคนนั้นมาก็หมดเรื่อง ข้อที่สอง คนระดับปลัดกระทรวงนั้นดีทุกคนหรือไร ตามที่ทราบกันดี มีที่ดีและซื่อสัตย์ด้วยอาจไม่เกินครึ่ง ส่วนกรรมการอีกอย่างน้อย 2 คน คือ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณนั้น ก็เป็นสายตรงขึ้นกับท่านนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และข้อที่สาม เมื่อกฎหมายกำหนดให้ประธาน คนร.เป็นคนแต่งตั้งกรรมการสรรหา แต่ประธาน คนร.ตามกฎหมาย คือท่านนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น การจะป้องกันไม่ให้นักการเมืองมาแต่งตั้งคนของเขาเข้ามานั้น วิธีนี้ใช้ไม่ได้ครับ ที่เคยสรรหาคณะกรรมการโดยใช้วิธีนี้มาแล้วตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจนถึงปัจจุบัน อะไรเป็นอะไรก็น่าจะรู้กันอยู่เต็มอกอยู่แล้ว

หนทางหายนะจุดสุดท้าย ก็คือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ “คนร.” หรือผู้ที่อยู่ในวงการนี้เรียกว่า “Super Board” ซึ่งก็เป็นยอดคณะกรรมการจริงๆ คือมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นรองประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่งอีก 8 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นอีก 2 คน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการบริษัท สิริรวมแล้วไม่นับตัวประธาน มีพวกรัฐบาลอยู่ในมือแล้ว 9 คน บวกกับที่ไม่อยู่ในมือ แต่อาจอยู่ในอวย คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกจำนวน 5 คน ซึ่งแม้ว่าคณะผู้ทรงคุณวุฒินี้จะต้องผ่านกระบวนการสรรหา ตามมาตรา 15 ก็อย่างว่าละครับ ใช้วิธีสรรหาโดยการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา ตามสูตรเดิมที่ใช้มา 20 ปีแล้ว ซึ่งเคยพูดมาแล้วว่าพอสั่งกันได้ ซึ่งจะไม่เป็นการสรรหาอย่างที่คนประเภทตรงไปตรงมาจะเข้าใจได้

จะอย่างไรก็ตาม หนทางหายนะจุดนี้สำคัญมาก ถ้ามีรัฐบาลที่เป็นนักการเมืองไทยที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการกรอกหูในทุกวันนี้ว่าไว้ใจไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่น่าไว้ใจสักพรรค ตามที่ชาวบ้านร้านตลาดพูดกันว่า ใครหน้าไหนเข้ามามีอำนาจก็สวาปามกันหมดไม่มากก็น้อย ดังนั้น เมื่อรัฐบาล คสช.ก็มีความคิดอย่างนี้ ที่ไม่ยอมให้มีประชาธิปไตยเต็มใบตามรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดใหม่ที่ออกมา แล้วทำไม และทำไมไม่ทำการปิดการล้วงลูกของนักการเมืองตั้งแต่ประธานลงมา อย่าเอาท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คนร.เลย รัฐมนตรีเอามาใช้ก็ไม่ควรเกิน 2 คน ระดับปลัดกระทรวง รวมทั้งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีก 5 คน รวมเป็น 7 คน แล้วให้ทำการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาโดยวิธีที่ดีกว่านี้อีก 7 คน รวมทั้งหมด 15 คน

สำหรับตัวประธาน คนร.นั้น ต้องมีการสรรหาคนกลางที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เคยเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ เอาบุคคลที่มีประวัติดีที่รับได้จริงๆ มาเป็น อายุมากหน่อยก็ได้ ขอให้เป็นที่ยอมรับของสังคมจริงๆ อย่างนี้ถ้าจะตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาก็พอจะรับกันได้

หนทางหายนะ 2 ข้อข้างต้นก็พอแก้ไขได้ การกู้เงิน ก่อหนี้ การจัดซื้อจัดจ้าง ให้ใช้กฎเกณฑ์ของราชการที่มีอยู่โดยอนุโลม แต่ถ้ามีเรื่องใดที่ไม่ดี ทำให้ชักช้าเสียเวลา ไม่มีประสิทธิภาพ ก็เสนอแก้เป็นเรื่องๆ ไป สิ่งใดเป็นกฎหมายก็รีบเตรียมนำเข้ากระบวนการของการแก้กฎหมาย อะไรเป็นมติคณะรัฐมนตรีก็นำเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้ใช้เป็นแนวทางปรับปรุงกฎเกณฑ์ของราชการให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพไปด้วยในตัว

สำหรับแนวทางการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานั้น วิธีแก้ทำได้ไม่ยาก ขอให้เปิดกว้าง และอย่าทำให้คนเขาวิจารณ์ได้ว่าเป็นวิธีการที่สั่งได้ ดังตัวอย่างเมื่อร่วม 10 กว่าปีมาแล้ว มีคำพูดยอดฮิตของนักการเมืองมีชื่อระดับเคยเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งพูดว่า กกต.ก็ของเรา ป.ป.ช.ก็ของเรา ดังนั้น ถ้ารู้ว่าวิธีที่นิยมปฏิบัติกันนี้ไม่ดี กลับตัวไม่ทำอะไรที่เป็นของเรา แต่เป็นของประเทศชาติ ก็จะสามารถสร้างธรรมาภิบาลให้ประชาชนแลเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้น

ก็ใคร่ขอตั้งคำถามว่า ในเมื่อประชาชนและ คสช.ต่างก็ระแวงและกลัวนักการเมืองขี้โกง แล้วทำไมถึงคิดเปิดทางให้นักการเมืองผลัดกันเข้าไปชมสวนสัตว์รัฐวิสาหกิจอย่างเนียนแต่อ้าซ่าได้ขนาดนี้?

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image