ส่องดัชนีหุ้นไทย บนเป้าหมาย1,700จุด โตอย่างแข็งแกร่งฤๅกลวงใน

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี สำนักวิจัยหรือองค์กรทั้งในและนอกประเทศต่างปรับเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กันเป็นพัลวัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีปีนี้ใหม่ว่าจะขยายตัว 3.8% ขณะที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ก็เตรียมจะปรับประมาณการจีดีพีใหม่ในเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน

จากแนวโน้มที่จีดีพีดีขึ้นดังกล่าว เมื่อหันมาสแกนดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2560 จะพบว่าหุ้นขึ้นช้าๆ หนืดๆ หรือเป็นหุ้นแลกการ์ด ก่อนที่จะมีเซอร์ไพรส์ในช่วงใกล้ๆ สิ้นเดือนสิงหาคม โดยดัชนีขึ้นร้อนแรงจนทำสถิติใหม่ในรอบ 23 ปี รองจากดัชนีที่เคยปิดตลาดสูงสุดในปี 2537 และปัจจุบันยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการจัดงานไทยแลนด์โฟกัสของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ดึงนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงาน รวมทั้งสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติปิดสถานะขายล่วงหน้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์)

ต่างชาติทยอยซื้อสะสม

โดยดัชนีวันแรกของปีที่เปิดทำการ (4 มกราคม 2560) อยู่ที่ 1,563.58 จุด และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 กันยายน 2560) ดัชนีปิดตลาดที่ 1,673.16 จุด หรือเพิ่มขึ้น 109.58 จุด และมีมูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ช่วงต้นปี แบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 62,523.10 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 10,072.52 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 9,661.35 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายสุทธิ 82,256.98 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการซื้อขายสะสมในช่วงเดือนกันยายน นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,879.33 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 8,325.66 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 6,966.37 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายสุทธิ 18,171.35 ล้านบาท

Advertisement

และหากดูเฉพาะตัวเลขในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะพบว่า เฉพาะเดือนกันยายนมีการซื้อสุทธิ 6,966.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขทั้งปีที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,661.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,695 ล้านบาท สะท้อนว่ากระแสเงินจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) กำลังเข้า

นักวิเคราะห์ชี้ขึ้นสมเหตุสมผล

ตามที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เคยมองภาพไว้ว่า “เงินจากต่างชาติที่เข้ามาตอนนี้ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่อย่างแน่นอน แม้ดัชนีตลาดหุ้นช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนกันยายนจะขึ้นเร็ว แต่เป็นลักษณะการไล่ตามตลาดหุ้นอื่น รวมทั้งสภาพคล่องของตลาดที่มีมาก และหากมองจากปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานพบว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นอย่างสมเหตุสมผล”

ส่วนเรื่องการทำนิวไฮในปีนี้ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะการขึ้นของหุ้นต่างกับช่วงที่เคยปิดตลาดสูงสุดในอดีตหรือไม่ อย่างไร

เมื่อลองมาไล่เรียงข้อมูลการซื้อขายจะพบว่า ดัชนีหุ้นปิดตลาดสูงสุด 5 อันดับแรก ในปี 2537 ปี 2536 และ 2560 ตามลำดับ โดย 1.ดัชนีปิดสูงสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ระดับ 1,753.73 จุด 2.วันที่ 5 มกราคม 2537 ที่ระดับ 1,709.64 จุด 3.วันที่

30 ธันวาคม 2536 ที่ระดับ 1,682.85 จุด 4.วันที่ 29 กันยายน 2560 ที่ระดับ 1,673.16 จุด และ 5.วันที่ 19 กันยายน 2560 ที่ระดับ 1,672.59 จุด ขณะที่ข้อมูลดัชนีหุ้นปิดตลาดต่ำสุด (ไม่นับรวมปี 2519) จะอยู่ในปี 2541 โดยดัชนีต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 207.31 จุด และหากดูในส่วนมาร์เก็ตแค็ป จะพบว่าปี 2537 มีมาร์เก็ตแค็ปอยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หลังจากนั้นปี 2540 มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ปี 2541 มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท ต่อมาช่วงปี 2553-2554 มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านล้านบาท และปีนี้มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท (ตามข้อมูลอัพเดตในเว็บไซต์ ตลท. ณ วันที่ 29 กันยายน 2560)

คาดอาจถึงระดับ1,789จุด

ซึ่งในเรื่องนี้ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ช่วยไขข้อข้องใจให้ฟังว่า แนวโน้มตลาดหุ้นมีโอกาสทดสอบที่ระดับ 1,700 จุด และอาจจะถึงที่ระดับ 1,760-1,789 จุดได้ จากปัจจัยสนับสนุนทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และฟันด์โฟลว์ที่คาดว่าจะเข้ามามากขึ้น จากความเชื่อมั่นเรื่องตลาดหุ้นไทยเป็นเซฟเฮฟเว่น ทั้งในแง่สถานะการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในเอเชีย และสถานการณ์การเมืองที่นิ่งและนักลงทุนต่างชาติให้ความมั่นใจมากขึ้น

“ดัชนีหุ้นอยู่ในระดับ 1,700 จุดเหมือนกันก็จริง แต่โครงสร้างต่างกันมาก สมัยก่อนโน้นตลาดหุ้นขึ้นจากราคาหุ้น แต่ปริมาณหุ้นกระจุกตัวเฉพาะหุ้นธนาคาร ไฟแนนซ์และเงินทุนหลักทรัพย์กว่า 50% ขณะเดียวกันสถาบันการเงิน ธนาคารยังมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่างกับปัจจุบันที่ลักษณะโครงสร้างตลาดหุ้นมีการกระจายตัวในหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ การบริโภค ธนาคาร

มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนและขนาดหุ้นที่ใหญ่ขึ้น และเมื่อดูในส่วนมาร์เก็ตแค็ปจะพบว่าแตกต่างกันชัดเจน หรือเป็น ‘คนละเรื่อง’ กัน โดยมาร์เก็ตแค็ปของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับ 23 ปีที่แล้วมีมาร์เก็ตแค็ปที่ประมาณ 3.3 ล้านบาท” นายประกิตกล่าว

ยังไม่ชัวร์ว่าเงินร้อนหรือพักเงิน

ทั้งนี้ นายประกิตบอกอีกว่า ขณะนี้ยังตอบได้ไม่ชัดว่าฟันด์โฟลว์ที่ทยอยเข้ามาจะเป็นลักษณะเงินร้อน หรือแค่เป็นการพักเงินหรือไม่ แต่มองว่าตลาดหุ้นมีปัจจัยหนุนที่สำคัญหลายประการ ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เป็นเซฟเฮเว่นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเอเชีย สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีเหนือ รวมถึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังในปี 2561 คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีการลดขนาดงบดุลในปริมาณมากในทุกๆ ไตรมาส รวมถึงความเสี่ยงภายในประเทศ หากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง

“ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท น้อยกว่าตัวเลขปีที่แล้วที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในแอลทีเอฟประมาณ 65,000 ล้านบาท จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนโยกฐานการลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้แล้วปัจจัยบวกของเศรษฐกิจ ทั้งตัวเลขจีดีพีครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.5% ตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้น น่าจะมีผลให้ดัชนีตลาดหุ้นจะขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,700 จุด ก่อนสิ้นปี 2560 ส่วนเป้าดัชนีปี 2561 ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,760 จุด จากเดิมที่วางเป้าดัชนีกลางปี 2561 ไว้ที่ระดับ 1,650 จุด” นายประกิตกล่าว

ฐานแข็งแกร่งกว่ายุคต้มยำกุ้ง

ด้าน นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร สายงานธุรกิจค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) พูดถึงโครงสร้างตลาดหุ้นว่า “แน่นอนว่าในขณะนี้ความมั่นคงของสถาบันการเงินมีมากกว่าสมัยนั้นแน่นอน โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆ มีความมั่นคงสูงมาก ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ก็ดี ทางตลาดหุ้นเองก็มีความรัดกุมมากขึ้น และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คอยดูแล ทั้งนี้จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งเกิดจากระบบธนาคาร หากระบบธนาคารอ่อนแอ ประเทศก็อ่อนแอไปด้วย นี่คือโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่าง ขณะเดียวกันเชื่อว่าการบริหารงานของผู้บริหารในปัจจุบันได้รับบทเรียนมาจากปีที่ดัชนีเคยขึ้นไปพีคสูงสุด หรือจากช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้มั่นใจว่าการบริหารงานดีกว่าตอนนั้นแน่นอน และคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะยืนได้ ปัจจัยเสี่ยงในประเทศยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไร”

แต่อย่างไรก็ตาม นายกัณฑราคาดการณ์กรอบดัชนีในปีนี้ไว้ที่ระดับ 1,650-1,700 จุด ส่วนปีหน้าตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 1,900 จุด คาดกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) โต 9.5% เงินปันผลตอบแทน 3% และมีพีอี 17 เท่า โดยปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นในปี 2561 มองว่าฟันด์โฟลว์จะเข้ามาต่อเนื่อง เนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเงินไหลออกเป็นหลักแสนล้านบาท จึงมองว่าเงินที่เข้ามาในขากลับนี้จะมาก รวมถึงปัจจัยบวกจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแม้ว่าจะไม่มากแต่มีอัตราการเร่งที่ดี และแม้ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้น แต่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ในหลายๆ ประเทศก็เช่นเดียวกันดอกเบี้ยต่ำและเศรษฐกิจก็กำลังฟื้น ล้วนมีผลต่อกำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียน

“หุ้นเป็นลีดดิ้งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องขึ้นก่อนเศรษฐกิจ ระบบสถาบันการเงินและระบบโครงสร้างตลาดหุ้นแข็งแกร่ง ต่างกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่กู้ดอกเบี้ยแล้วใช้ผิดประเภท ทำให้ประสบปัญหา ส่วนความเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้มองว่า ดัชนีจะผันผวนออกด้านข้าง แต่มีแนวโน้มขึ้น และมีโอกาสทำนิวไฮอีกครั้งในช่วงสิ้นปี” นายกัณฑรากล่าว

จะเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ และจากโครงสร้างตลาดหุ้นในปัจจุบัน แม้ว่าจะทำนิวไฮและติด 1 ใน 5 อันดับที่มีดัชนีสูงที่สุด แต่ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณหุ้น มาร์เก็ตแค็ป รวมทั้งประเภทของหุ้นกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างกัน อย่างน้อยก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าโตอย่างเข้มแข็ง

แต่ก็จะต้องติดตามต่อว่าดัชนีปีนี้จะเป็นไปตามที่บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ต่างๆ คาดการณ์ไว้หรือไม่ รวมถึงจับตาดูว่าหุ้นที่ขึ้นรอบนี้จะปูทางเศรษฐกิจแข็งแรง หรือจะพลิกกลับมาซ้ำรอยเดิมไม่นานคงได้เห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image