‘Chic Silk’ ‘ผ้าทออุบล’ จากงานวิจัยสู่แฟชั่น

หากใครมีโอกาสได้ชมแฟชั่นโชว์ชุดพิเศษ “ผ้าทอพื้นเมืองอุบล” ผลงานของคณะอาจารย์สาขาวิชาสิ่งทอและแฟชั่นคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาจะแปลกใจ

ผลงานแฟชั่นที่เกิดจาก “งานวิจัยและพัฒนา” ที่นักวิจัยและชุมชนผู้ทอผ้าพื้นเมืองอุบลร่วมกันคิด ร่วมกันทดลอง โดยใช้ ผ้ากลีบบัว ผ้าเปลือกไหม และ ผ้าย้อมคราม มาพัฒนาลวดลายสีสันและเนื้อผ้า พร้อมกับการออกแบบเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย สวมใส่ได้จริงโดยไม่มีคำว่าเชย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอพื้นเมืองอุบล

ผศ.ดร.กัญญา จึงวิมุติพันธ์ คณบดีคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า วัฒนธรรมการแต่งกาย การทอผ้าในภูมิภาคอีสานมีความเชื่อมโยงกับหลายชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เขมร ส่วย ซึ่งแต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดการหลอมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น กลายเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า หากจะปล่อยให้เป็นไปแบบเดิมๆ สักวันก็อาจเลือนหาย เราจึงต้องมีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ เข้ามาบูรณาการ เพื่อสืบต่อลมหายใจให้กับผ้าทอพื้นเมืองอุบลราชธานี ทำให้ของเก่าที่ดีอยู่แล้วก็ยังอยู่ต่อไปได้ และยังได้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการต่อยอดเชื่อมโยงไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ช่วยให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน

ทางด้าน ผศ.ดร.สิทธิชัย สมานชาติ อาจารย์สาขาวิชาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “ผ้ากลีบบัว” กล่าวว่า เดิม จ.อุบลราชธานี มีผ้าทอประจำจังหวัดชื่อว่า “ผ้ากาบบัว” แต่คณะผู้ทำวิจัยต้องการสร้างสรรค์ผ้าทอผืนใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกบัวสีชมพูซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด จึงได้ร่วมกับชุมชนในการทำวิจัย ตั้งแต่กระบวนการย้อมไหมจากสีธรรมชาติให้ได้สีชมพูอ่อน เทคนิคการทอให้เกิดร่องขนาดเล็ก เมื่อทอเป็นผืนจะเกิดสีเหลือบเข้มอ่อนในผืนเดียวกัน มองดูละม้ายกับกลีบบัวตามธรรมชาติ

Advertisement

ขณะเดียวกันยังคงนำลวดลายดั้งเดิมมาพัฒนาเป็นลายต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นที่เหมาะกับผ้ากลีบบัวผืนใหม่ ให้สวยละมุน จึงได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

“การทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนนั้น มหาวิทยาลัย นักวิจัย นักวิชาการ เป็นผู้สนับสนุนให้แนวทาง ทำให้ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาหรือมีความต้องการเกิดองค์ความรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง โดยใช้เครื่องมือหรือภูมิปัญญาดั้งเดิม ผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทำให้ชุมชนรู้ว่าพวกเขาสามารถทำงานวิจัยได้ด้วยตนเองเช่นกัน ทำให้เกิดการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้โดยตรง”


ด้าน กฤษฎา รัตนากูร อาจารย์สาขาวิชาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น ผู้ทำการวิจัยผ้าทอพื้นเมืองอุบล “Chic Silk” เล่าถึงที่มาของการนำผ้าเปลือกไหมมาร่วมพัฒนาว่า เป็นเพราะผ้าเปลือกไหมนั้นค่อนข้างมีความกระด้าง ขายไม่ได้ราคา จึงได้นำปัญหาตรงนั้นมาหาวิธีแก้ไขร่วมกับชุมชน

“พบว่าการนำผ้าเปลือกไหมที่ทอเป็นผืนมาทำลายด้วยวิธีการฉีกแล้วนำมาประกอบเป็นผืนใหม่ ด้วยวิธีการนี้ทำให้เนื้อผ้าเกิดเท็กเจอร์ใหม่ เส้นใยที่ฉีกขาด หลุดลุ่ย กลายเป็นเอกลักษณ์ และเนื้อผ้ามีความนุ่ม คล้ายๆ กับที่เทรนด์การสวมยีนส์ขาดกำลังได้รับความนิยม เมื่อนำไปตัดชุดความหลุดลุ่ยของเส้นไหมกลายเป็นความสวยงาม จึงได้ตั้งชื่อว่า Chic Silk ซึ่งคำว่า Chic ก็ล้อมาจากคำว่า “ฉีก” กฤษฎาบอก และว่า

ผลงานวิจัยนี้ได้ไปร่วมโชว์ใน Hongkong Fashion Week เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากแฟชั่นบายเออร์ทั้งจากยุโรปและเอเชีย ที่ต้องการชุดราตรีสำเร็จรูปที่ตัดเย็บจาก Chic Silk จำนวนมาก แต่เรายังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากยังเป็นผลงานต้นแบบอยู่ ขณะนี้กำลังพัฒนาในด้านการผลิตจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถผลิต Chic Silk ที่ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกผืน

ที่น่าสนใจคือ เป็นการหยั่งเชิงตลาดที่ทำให้อนาคตของผ้าเปลือกไหมที่ใกล้ตายให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image