ครบ 15 ปีดีเอสไอ’ไพสิฐ’เผยสถิติรับคดีกว่า 2 พัน อาชญากรรมพิเศษมั่นคงกว่า 800 คดี ป้องรัฐเสียหายกว่า 3 แสนล้าน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อม พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล และ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมทำบุญพระสงฆ์ 9 รูป เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบ ปีที่ 15 และร่วมกันปฏิญาณตนต่อต้านการทุจริต

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ดีเอสไอมีการปรับปรุงภารกิจและอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันมีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2560 รับผิดชอบดำเนินคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายถึง 37 ฉบับ กว่า 100 ฐานความผิด และยังมีคดีพิเศษอื่นๆ ที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้เป็นคดีพิเศษเฉพาะเรื่องอีกด้วยทำให้อาชญากรรมที่เป็นคดีพิเศษซึ่งเป็นคดีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในด้านต่างๆ มีจำนวนมากขึ้นไปด้วย ปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี ดีเอสไอมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษไปแล้วถึง 2,373 คดี โดยดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว 1,977 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 396 คดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่รับไว้สืบสวนก่อนรับเป็นคดีพิเศษถึง 2,514 เรื่อง ที่ดำเนินการเสร็จ 2,311 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 203 เรื่อง สำหรับลักษณะของอาชญากรรมที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ดำเนินการนั้น แบ่งเป็น 4 กลุ่มคดี 1.ด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชญากรรมด้านการเงิน การธนาคาร การภาษีอากร การฟอกเงิน การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การคลัง กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 716 คดี

Advertisement

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวต่อว่า 2.ด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้ว 482 คดี 3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินคดีไปแล้ว 342 คดี และ 4.ด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาชญากรรมพิเศษอื่นๆ กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 833 คดี

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า คดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น เมื่อนำมาคำนวณมูลค่าความเสียหาย ผลประโยชน์ ที่ปกป้อง รักษา เรียกคืนให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว มีมูลค่าถึง 350,501 ล้านบาทเศษ ในขณะที่แต่ละปีดีเอสไอใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ดีเอสไอได้กำหนดทิศทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งเน้นการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านลักษณะความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินอันเป็นการรฉ้อโกงประชาชน และการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนั้นจะมุ่งเน้นในเรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค ในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษร่วมกัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image