“สเปซเอ็กซ์” ชิงธง อีก 7 ปีส่งคนไปดาวอังคาร

(ภาพ-SpaceX)

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทสเปซเอ็กซ์ ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายละเอียดของแผนการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารของบริษัทที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุด ในวันสุดท้ายของการประชุมว่าด้วยการบินอวกาศนานาชาติ (ไอเอซี) ที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากที่เคยประกาศแผนดังกล่าวเอาไว้ในการประชุมไอเอซีครั้งที่แล้วที่ประเทศเม็กซิโก

ตามแผนเดิม สเปซเอ็กซ์ วางแผนสร้างระบบจรวดส่งและยานอวกาศขนาดใหญ่ ใช้ชื่อว่า ระบบคมนาคมระหว่างดาวเคราะห์ (อินเตอร์แพลเนทารี ทรานสปอร์ต ซิสเต็ม-ไอทีเอส) ซึ่งมัสก์สร้างจินตภาพเอาไว้ว่า จะสามารถขนคนไปปักหลักอยู่บนดาวอังคารได้ 1 ล้านคนในช่วง 50-100 ปีข้างหน้า

ส่วนที่เป็นจรวดส่ง (บูสเตอร์) ของไอทีเอสจะใช้เครื่องยนต์ “แรปเตอร์” 42 เครื่อง เพื่อจัดส่งยานอวกาศขึ้นไปยังวงโคจรเหนือโลก ก่อนที่จะเดินทางกลับมาร่อนลงบนโลกและนำกลับมาใช้ส่งยานเที่ยวใหม่ได้อีกครั้ง ในระยะเวลาสั้นๆ ส่วนตัวยานอวกาศ ซึ่งจะโคจรอยู่ในวงโคจรรอเวลาเหมาะสมออกเดินทางไปยังดาวอังคารซึ่งจะเกิดขึ้น 1 ช่วงเวลาในทุกๆ 26 เดือนนั้น จะสามารถขนผู้โดยสารไปด้วยราว 100 คน เมื่อถึงดาวอังคาร ยานไอทีเอสจะเติมเชื้อเพลิง (มีเทนและออกซิเจน) ที่ผลิตขึ้นที่นั่นแล้วบินกลับมายังโลก

อีลอน มัสก์ ยอมรับว่าหลังจากประเมินความเป็นไปได้ในทางการเงินของโครงการดังกล่าวแล้ว จำเป็นต้องปรับลดขนาดของโครงการให้เล็กลง

Advertisement

มัสก์ระบุว่า จรวดส่งจะลดขนาดลงและใช้เครื่องยนต์แรปเตอร์เพียง 31 ตัว ในเวลาเดียวกันก็ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายภารกิจขึ้น เพื่อให้เป็นไปได้ในแง่ของการลงทุน โดยจะใช้ระบบใหม่ ซึ่งมัสก์เรียกด้วยชื่อรหัสว่า “บีเอฟอาร์” นี้ปฏิบัติภารกิจเชิงพาณิชย์แทน จรวดฟัลคอน 9 และ ฟัลคอน เฮฟวี ร็อคเก็ต ทั้งหมด เพื่อโยกเงินลงทุนในการจัดสร้างระบบจรวดฟัลคอนมาใช้ในโครงการบีเอฟอาร์แทน

บีเอฟอาร์ บูสเตอร์ จะมีความสามารถในการนำส่งสัมภาระหนัก 150 ตันขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ส่วน บีเอฟอาร์ สเปซชิป จะสูง 48 เมตร มีเคบินโดยสาร 40 ห้อง แต่ละห้องสามารถบรรจุคนได้ 5 ถึง 6 คน แต่ในช่วงแรกน่าจะมีผู้โดยสาร

เพียง 2-3 คนต่อห้อง ทำให้คาดว่าการเดินทางแต่ละเที่ยวสู่ดาวอังคารจะนำคนไปปักหลักที่นั่นได้ราว 100 คน ตัวยานจะติดตั้งเครื่องยนต์แรปเตอร์ 6 ตัว สามารถร่อนลงสู่พื้นผิวดาวอังคารได้ด้วยระบบ ซุปเปอร์โซนิค เรโทรโพรพัลชั่น หรือการลงจอดโดยอาศัยการยิงจรวดขับ (ทรัสเตอร์) เป็นแรงต้านแรงโน้มถ่วง เหมือนกับที่จรวดฟัลคอน 9 ใช้ในการลงจอดบนโลกหลังจัดส่งสัมภาระสู่ห้วงอวกาศแล้ว

อีลอน มัสก์ ระบุว่า บีเอฟอาร์ บูสเตอร์ และสเปซชิป สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนกับการใช้เครื่องบิน โดยทางสเปซเอ็กซ์ เริ่มต้นพัฒนาระบบ

บีเอฟอาร์นี้อย่างจริงจังแล้ว โดยตั้งเป้าจะส่งยานอวกาศบีเอฟอาร์ไปลงยังดาวอังคารโดยไม่มีมนุษย์ไปด้วยอย่างน้อย 2 เที่ยว ในปี 2022 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันให้แน่ชัดว่า บนดาวอังคารมีทรัพยากรที่จำเป็นอยู่จริงและเพื่อจัดสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นต้องใช้ในภารกิจครั้งต่อๆ ไป

หลังจากนั้นหากทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน มัสก์ระบุว่า สเปซเอ็กซ์จะส่งยานอวกาศบีเอฟอาร์พร้อมมนุษย์ไปยังดาวอังคาร 2 เที่ยวในปี 2024 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า เป้าหมายสำคัญคือการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจรวดขึ้นที่นั่น และเริ่มต้นก่อสร้างส่วนที่เป็นพื้นฐานของสถานีฐาน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มของอาณานิคมบนดาวสีแดงที่จะขยายตัวต่อเนื่องต่อไป

มัสก์ระบุว่า บีเอฟอาร์จะไม่สร้างขึ้นมาจำเพาะภารกิจดาวอังคารเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำภารกิจอื่นควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่รับจ้างส่งดาวเทียม, รับจ้างส่งสัมภาระเพื่อก่อตั้งสถานีฐานบนดวงจันทร์ กระทั่งยังใช้เดินทางไกลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดบนโลกก็ได้

แม้ว่าเป้าหมายหลักของบีเอฟอาร์ก็ยังเป็นการพลิกโฉมดาวอังคารให้เป็น “ที่ที่น่าอยู่” สำหรับมนุษย์นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image