สุจิตต์ วงษ์เทศ : ร้อยเอ็ด ไม่ใช่สิบเอ็ด

ทุ่งกุลาร้องไห้ ระหว่างพยัคฆภูมิพิสัย-เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด (ภาพโดย วิโรฒ ศรีสุโร เมื่อสิงหาคม 2527)

จ.ร้อยเอ็ด มีนามเต็มในตำนานว่า เมืองร้อยเอ็ดประตู

หมายถึงเมืองที่อำนาจทางการเมืองและการค้าแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกสารทิศ เสมือนมีร้อยเอ็ดประตูเมือง ประดุจกรุงทวารวดีในมหากาพย์ของอินเดีย

(ไม่ใช่เมืองสิบเอ็ดประตูตามที่เข้าใจคลาดเคลื่อนสืบมานาน)

บรรพชนชาวร้อยเอ็ด เป็นพวกเดียวกับบรรพชนคนอีสานและสองฝั่งโขง เชื่อมโยงถึงดินแดนลาว มีหลายชาติพันธุ์ และมีชื่อเรียกตัวเองต่างกันไป เช่น ลาว, เขมร, จาม, ส่วย, ข่า ฯลฯ

Advertisement

มีความเป็นมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ประกอบด้วยคนพื้นเมืองดั้งเดิม และคนที่โยกย้ายจากภายนอก แล้วประสมประสานทางเผ่าพันธุ์

ร้อยเอ็ดอยู่บนเส้นทางการค้าภายในข้ามภูมิภาค บริเวณขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ด้านทิศเหนือ มีชุมชนมั่งคั่งจากการแลกเปลี่ยนทรัพยาการสำคัญกับชุมชนห่างไกล ได้แก่ เกลือและเหล็ก ตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว (หรือราวหลัง พ.ศ. 1)

เส้นทางการค้าเกลือและเหล็กทำให้ชุมชนเติบโตเป็นบ้านเมือง แล้วแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากรัฐใกล้ทะเล เช่น รัฐทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ รับศาสนาจากอินเดีย ราว หลัง พ.ศ. 1000 ร่วมสมัยรัฐเจนละ ที่มีเมืองสำคัญอยู่ทางยโสธรและอุบลราชธานี ต่อเนื่องถึงจำปาสักในลาว

นับแต่นี้ไป ร้อยเอ็ดยุคแรกเริ่มก็ขุดคูน้ำสร้างคันดินล้อมรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีบึงขนาดใหญ่อยู่ตอนกลาง เรียกภายหลังว่าบึงพลาญชัย

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นขุมทรัพย์ยิ่งใหญ่ทั้งในแง่การเกษตร ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และในแง่การท่องเที่ยว แต่ยังถูกมองข้าม

ทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านขี้เหล็ก อ. ปทุมรัตต์ จ. ร้อยเอ็ด
ทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านขี้เหล็ก อ. ปทุมรัตต์ จ. ร้อยเอ็ด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image