คอลัมน์ หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน : ‘ลูก’ ไม่ได้น่ารัก

อาจจะเป็นเพราะโลกออนไลน์เปิดทางให้ระบายความรู้สึก แชร์ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นได้ง่าย และกระจายไปกว้างขวางด้วยความรวดเร็วมากขึ้น

ทำให้บางเรื่องราวที่ผู้คนเคยมองข้ามและรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นความปกติ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ที่คนทั่วไปไม่มองข้ามลงมาเป็นตัวแสดงร่วม ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกขัดอกขัดใจนั้นกลายเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป

จนน่าสนใจว่าสังคมออนไลน์ที่ผู้คนสามารถสร้างกระแสความรู้สึกร่วมกันได้ทุกเรื่องเช่นนี้

หากอยู่อย่างไม่เท่าทันกับความเปลี่ยนไป จะเป็นการอยู่ร่วมสังคมที่เต็มไปด้วยแรงกดดันที่ก่อให้เกิดความเครียดได้หรือไม่

Advertisement

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่กระแสทำท่าว่าจะเป็น “วาระแห่งชาติ” อาจจะต้องถึงกับตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูป” ขึ้นมาโดยเฉพาะ ก่อนที่การฆ่ากันตายในร้านอาหารจะกลายเป็นเรื่องปกติเหมือนอาชญากรทั่วไป

นั่นคือ “มารยาทของเด็กในร้านอาหาร”

สังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับวลีที่ว่า “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน”

เพราะวลีนี้ไม่เพียงเป็นชื่อกระทู้ในเว็บเพจดังๆ อยู่บ่อยครั้ง ยังเป็นชื่อเพจในเฟซบุ๊ก และเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ อยู่บ่อยๆ

เลยมาถึงการกลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับการหยิบยกมาสนทนาในวงการต่างๆ

จนทำไปทำมา กลายเป็นเรื่องที่บ่มเพาะความรังเกียจเด็กที่ไม่ใช่ลูกหลานของตัวเองขึ้นมาอย่างช้าๆ

เพราะเหตุนี้ จึงน่านำมาพิจารณายิ่งว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“มันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง” นักวิเคราะห์สังคมผู้หนึ่งพยายามที่หาสาเหตุ

“สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมาก” ในหลายด้าน

มารยาทบนโต๊ะอาหารแบบผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้ดี ผู้ที่จะร่วมโต๊ะต้องถูกฝึกหัดมาเป็นอย่างดี กินอย่างโน้นต้องวิธีนี้ กินอย่างนี้ต้องวิธีโน้น ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องไม่ทำ ไม่ควรทำอย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย

ความเคร่งครัดเข้มงวดมีความแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว หรือชนชั้นของสังคมว่าจะอบรมสั่งสอนกันด้วยกรอบของความเป็นผู้ดีขนาดไหน

ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนยากจน หาเช้ากินค่ำ ความเข้มงวดในการกินการอยู่ไม่ได้มีใครใส่ใจมากนัก

เป็นการอยู่ในสังคมญาติ สังคมมิตรเข้าอกเข้าใจกัน

เด็กๆ ที่เกิดมาในสังคมแบบนี้ เติบโตมาโดยไม่ได้รับการอบรมอะไรมากมายนักในเรื่องมารยาท

หรือกระทั่งครอบครัวที่ร่ำรวย มีเงินมีทองมีฐานะบางครอบครัวที่ยังเคยชินกับวัฒนธรรมญาติมิตร ลูกหลาน ความรู้สึกให้อภัยกับความไร้เดียงสา ความไม่รู้ของเด็กยังมีอยู่

คนกลุ่มหลังนี้จะรู้สึกถึงการให้อภัยกับเด็กเป็นความเป็นปกติ

แต่สังคมยุคใหม่ที่โลกเชื่อมถึงกันในทุกมิติ กลายเป็นเรื่องไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่เสียแล้ว

ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ร้านอาหาร

โดยเฉพาะร้านอาหารยุคใหม่ที่ทุกคนที่เข้าในร้านต้องกินข้าวจากหม้อเดียวกัน จากอาหารถาด หรือจาน เดียวกัน อย่างร้านบุฟเฟต์ต่างๆ บางร้านแทบจะถือว่าร่วมโต๊ะเดียวกันอย่างร้านที่มีอาหารวิ่งไปให้เลือกตามสายพาน

คนที่ต่างวัฒนธรรม ต่างการอบรมบ่มเพาะที่ถือสาในเรื่องราวที่ต่างกันต้องมาร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้ การรับกันไม่ได้จึงเกิดขึ้น

กลุ่มหนึ่งรับไม่ได้ในมารยาทของเด็ก ไม่ว่าไร้เดียงสาสักเท่าไร อย่างบางเรื่องแค่เป็นเด็กสองสามขวบ มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงมารยาทในโต๊ะอาหาร แน่นอนไม่ได้ด่าเด็ก แต่ด่าพ่อแม้ผู้ปกครอง บางคนด่าอย่างสาดเสียเทเสีย

แต่อีกกลุ่มหนึ่งยังมองว่าเรื่องเหล่านี้ แค่มีเมตตาต่อเด็กก็จบ จะอะไรนักหนา

ที่รับไม่ได้คือความไร้น้ำจิตน้ำใจ ไม่ยกเว้นแม้แต่เด็กเล็ก

ต่างฝ่ายต่างบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้กินข้าวอยู่ที่บ้านตัวเองดีกว่า จะได้ไม่ต้องมีเรื่องที่ไม่ชอบ

สังคมที่มีคนแตกต่างมาอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดอย่างที่ว่า

หากไม่พัฒนากลไกที่จะไปสร้างความคิดการอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับความแตกต่างขึ้นมา

ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังใส่กัน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ลองนึกดูว่าในร้านอาหารที่เต็มไปด้วยคนที่ตัดสินคนอื่น โดยยึดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ในอารมณ์ที่อยู่ร่วมสังคม อยู่ร่วมโลกไม่ได้กับเห็นว่า “ผิด”

อะไรจะเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image