ปลัดป้ายแดงกระทรวงดีอี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย บนความท้าทายครั้งใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัล

หากลองสังเกตให้ดีในเวลานี้ นายกรัฐมนตรี หรือผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อมีการไปพูดปาฐกถาหรือพูดในงานสัมมนาใดก็ตาม มักมีการพูดถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี หรือไทยแลนด์ 4.0 ที่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่คนในประเทศได้อย่างมากมาย

โดยในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว หน่วยงานที่เหมือนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในขับเคลื่อน และประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ ก็คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีบทบาทคอยทำหน้าที่ผลักดันในเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนประเทศ เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีโดยตรง

อย่างไรก็ดี กระทรวงดีอี หรือตั้งแต่ชื่อเดิมคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นับเป็นอีก 1 กระทรวงที่ถือเป็นกระทรวงปราบเซียนของไทย เนื่องจากผู้มารับหน้าที่ปลัดกระทรวงดีอีก่อนหน้านี้ 2 คน และเมื่อรวมกับกระทรวงไอซีที 3 คนก่อนหน้านี้ รวมเป็น 5 คน ยังไม่มีใครสามารถอยู่จนครบวาระได้ จนทำให้เป็นที่อยากรู้ของใครหลายคนว่าใครคือผู้ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ ปลัดกระทรวงดีอี ขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัล กันแน่

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เข้ามาทำหน้าที่ปลัดกระทรวงดีอี แทน น.ส.วิไลลักษณ์ชุลีวัฒนกุล ที่โดนย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ปลัดคนใหม่เข้ามาดูงานรวมถึงทำงานอย่างไม่เป็นทางการในกระทรวงดีอี ก่อนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานี้

Advertisement

สำหรับประวัติของปลัดป้ายแดงแห่งกระทรวงดีอี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต Yongstown state University, USA ปี พ.ศ.2527 เริ่มเข้ามาทำงานในบีโอไอ เรื่อยมาจนปี 2558 ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองเลขาธิการบีโอไอ ก่อนย้ายข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงดีอีในที่สุด โดยผลงานเด่นที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของประเทศ การส่งเสริมกิจการสาธารณูปโภค โรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน นอกจากนั้น ยังมีส่วนรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธุรกิจชีวภาพและธุรกิจดิจิทัล

ในครั้งนี้ “มติชน” จึงขอหยิบยกบทสัมภาษณ์ของ น.ส.อัจฉรินทร์ ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี อย่างเป็นทางการ

Advertisement

ความรู้สึกแรกในการตกลงรับงานที่กระทรวงดีอี?

การต้องเข้ามารับงานกระทรวงดีอี แรกๆ ก็รู้สึกกลัวที่จะเข้ามารับงานในหน้าที่นี้ รวมถึงก็ได้คิดทบทวนอยู่นาน แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ได้บอกให้รู้ว่างานด้านนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ แต่ตัวงานเองกลับยังไม่ไปไหนเท่าที่ควร จึงอยากให้มาช่วยกันเพื่อพัฒนาชาติ ซึ่งถ้าพูดไปอาจเหมือนพูดให้ดีแต่ที่ผ่านมาตัวเองก็เป็นคนที่มีความคิดที่อยากจะเห็นประเทศไทยเจริญเติบโตไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้จริง โดยตอนอยู่บีโอไอ ส่วนตัวได้ดูแลงานในเรื่องของอุตสาหกรรมในภาคเทคโนโลยี ได้มองการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในหลายครั้งเองก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิดว่าเหตุใดที่งานด้านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในประเทศไทยยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จึงคิดว่าไหนๆ และควรลองสักตั้ง เพราะส่วนตัวแล้วก็เป็นคนที่ชอบความท้าทาย จึงตัดสินใจรับงานนี้เพราะอยากเห็นความสำเร็จจริงๆ

ส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องของเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปทำงานกันมัน ควรพยายามทำให้ถึงที่สุด แม้ถึงที่สุดแล้วอาจล้มเหลวก็จะไม่รู้สึกล้มเหลวก็ไม่เสียใจ ดีกว่าไม่ทำอะไรแล้วมาเสียดายภายหลัง ฉะนั้นถ้ามีโอกาสทำ ก็ควรทำให้สุดสุด

จะเข้ามาขับเคลื่อนงานใดบ้างในฐานะปลัดดีอี?

คงเข้ามาขับเคลื่อนงานในเรื่องของภารกิจรัฐบาลต่อ ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนตัวตระหนักดีในเรื่องของความสำคัญอันนี้มาก เพราะหากประเทศไทยไม่เอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วนเราจะล้าหลังประเทศอื่นๆ มากจนเกินไป และด้วยประสบการณ์ตอนที่อยู่บีโอไอมาได้ทำในเรื่องของการพัฒนาประเทศในเรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ก็เลยอินเรื่องของการทำงานด้านนี้มาโดยตลอด รวมทั้งจากการที่ว่ากระทรวงนี้เองก็ถือได้ว่าเป็นกระทรวงใหม่ ก็เลยเข้ามาตั้งใจผลักดันภารกิจของกระทรวง ซึ่งตัวเนื้องานเอง ก็ไม่ใช่งานที่เริ่มจากศูนย์ แต่หลายงานเป็นงานที่รัฐบาลมอบหมายงานมาให้ระยะหนึ่งแล้ว การทำงานหลายโครงการจึงทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดใหม่

เข้ามาก็ต้องบอกเลยว่ามาเป็นปลัดคนที่ 3 ของกระทรวงนี้ ซึ่งตั้งมาแค่ 12 เดือนกว่าๆ ปลัด 2 คนที่ทำหน้าที่ก่อนหน้านี้ก็ถือว่ามีเวลาทำงานน้อยจริง โดยส่วนตัวจึงหวังว่าจะเข้ามาทำงานผลักดันนโยบายต่างๆ ก็หวังว่ารัฐบาลคงให้โอกาสมาทำงานสานต่อให้เต็มที่

ภารกิจเร่งด่วนที่จะทำคืออะไร?

ภารกิจเร่งเร่งด่วนที่จะทำก็คือสานงานต่อจากที่รัฐบาลสั่งการมาแล้ว ให้สำเร็จลุล่วงเป็นรูปธรรม งานแรกก็คือการผลักดันในเรื่องของโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ซึ่งตัวโครงการได้ติดตั้งวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปมากแล้ว และมีแผนจะติดตั้งครบ 24,700 หมู่บ้านในสิ้นปีนี้ ฉะนั้น การทำงานในเฟสต่อไปก็คือการเข้าไปตรวจรับงาน ไปดูว่าตัวโครงการออกมาได้ตามที่ตั้งใจหรือไม่ โดยจุดนี้ถือเป็นภารกิจที่ใหญ่ที่สุดของโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ คือการให้คนในพื้นที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยส่วนตัวขอพูดเลยว่าใน 3 เดือนแรก จะพยายามเร่งรัดงานในเรื่องพวกนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาจะสำเร็จคาดว่าไม่เกิน 1 ปี

มีแผนผลักดันให้โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐสำเร็จได้อย่างไร?

ประการแรกต้องเข้าไปปูพื้นฐานความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะเน็ตประชารัฐคือการไปในหมู่บ้านที่ก่อนหน้านี้ไม่มีอินเตอร์เน็ตไฮสปีด ที่มีอยู่ราวครึ่งค่อนประเทศ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องเข้าใจว่าเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกล องค์ความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์อาจจะยังไม่เห็น ฉะนั้นแล้วหน้าที่คือการมาผลักดันให้เกิดการสร้างความเข้าใจ การรับรู้ และเห็นประโยชน์ โดยกระทรวงก็จะเน้นในส่วนการใช้งานที่ประโยชน์ ประเทศไทยเองในส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ มีเรื่องของบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยีออกมาเยอะมาก กระทรวงดีอีจึงต้องเป็นแกนกลางในเรื่องของการเอาความรู้ในเรื่องของการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ การทำอี-คอมเมิร์ซ เข้ามาถ่ายทอดให้ชาวบ้าน

ในการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจจากการใช้ประโยชน์ในโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ กระทรวงดีอีอาจไม่สามารถส่งคนไปประจำได้ทุกหมู่บ้าน ฉะนั้น กระทรวงดีอีจึงทำหน้าที่เสมือนเป็นแกนกลาง และผู้สร้างหลักสูตร โดยจะมีการประสานงานทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ กระทรวงมหาดไทย และสถานบันการศึกษาต่างๆ ในการช่วยถ่ายทอดหลักสูตรการใช้ประโยชน์จากโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ การรู้เท่าทันภัยคุกคาม และข้อกฎหมายที่ต้องตระหนักในการใช้งานเทคโนโลยี โดยตัวกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านนี้น่าจะมีออกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐไปถึง ตอนนี้อาจจะเห็นได้ว่ามีไม่เยอะ แต่เมื่อเราเข้าไปสอนเขา เขาก็จะเห็นถึงประโยชน์ในการนำไปใช้ในบ้านของตัวเองได้มากขึ้น ความต้องการที่มากขึ้นก็จะตามมาทันที ส่วนในเรื่องของจะนำไปใช้ที่บ้านเองได้อย่างไร หรือในเรื่องของราคาค่าใช้บริการ ไม่นานนี้คงออกมา

ในส่วนของภารกิจเร่งด่วนรองลงมาของกระทรวงดีอี?

นอกจากเรื่องอินเตอร์เน็ตประชารัฐแล้ว ยังมีเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากการจัดทำศูนย์ข้อมูลดังกล่าวสำเร็จจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงดีอี และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ที่มีการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานกลาง ซึ่งเบื้องต้นให้มีการประสานข้อมูลกันเพื่อความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน และนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ

โดยได้มอบแนวทางผลักดันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี เช่น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำศูนย์ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งต้องทำงาน ในลักษณะ 4.0 โดยจัดเก็บข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐ มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประกอบการทำงานด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หากเราทำเรื่องบิ๊กดาต้าได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อีกเยอะ เพราะส่วนของรัฐบาลเอง แต่ละหน่วยงานก็มีการคีย์ข้อมูลต่างๆ ลงไปในฐานข้อมูลอยู่ แต่พอจะจัดตั้งโครงการใดแต่ละทีกลับต้องจัดจ้างที่ปรึกษามาพิจารณา หรือทำสำรวจ ซึ่งหากทำสำเร็จจะไม่ต้องเสียเวลาในขั้นตอนเหล่านี้เลย แถมข้อมูลที่ออกมายังมีความเที่ยงตรงไม่แพ้กันด้วย

นอกจากที่กล่าวมา เรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงดีอี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ นับเป็นเรื่องที่ต้องสานต่อให้สามารถบังคับใช้ได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน โดยปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง ซึ่งกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และโดยยึดหลักสากลเป็นสำคัญ

“…ความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่โครงการ
อินเตอร์เน็ตประชารัฐไปถึง ตอนนี้อาจจะเห็นได้ว่ามีไม่เยอะ
แต่เมื่อเราเข้าไปสอนเขา เขาก็จะเห็นถึงประโยชน์ในการนำไปใช้
ในบ้านของตัวเองได้มากขึ้น ความต้องการที่มากขึ้นก็จะตามมาทันที”

 

กระทรวงดีอีจะไปมีส่วนในในโครงการอีอีซีที่รัฐบาลกำลังทำหรือไม่?

บทบาทของกระทรวง คือการเข้าไปพัฒนาในเรื่องของพื้นที่พิเศษของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงด้วย คือ ภายในอีอีซีเองจะมีส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ จำนวน 700 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นโครงการที่ให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งบริษัท ศูนย์วิจัย หรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ทางรัฐบาลจะมีการสนับสนุนอย่างดีในเรื่องของภาษีและสภาวะแวดล้อม เพื่อรองรับการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ในพื้นที่อีอีซี ทางกระทรวงดีอีจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ด้วยเช่นกัน

แนวทางการบริหารเฉพาะตัวของอัจฉรินทร์?

คิดว่าแนวทางการบริหารงานของตนเอง ถือว่าเป็นคนที่เวลาสั่งงานลูกน้องจะพูดชัดๆ และจะให้ไทม์มิ่งหรือกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจนไป รวมทั้งยังเป็นคนที่ยึดมั่นในเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งนิสัยนี้ถือเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่บีโอไอ เพราะที่บีโอไอมีบุคลากรทำงานอยู่แค่ราว 300 คน แต่ภารกิจงานมีมาก ฉะนั้น ด้วยจำนวนคนเท่าที่มีอยู่ การจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้จึงต้องอาศัยหลักการทำงานเป็นทีมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในด้านตัวบุคคลเองก็ยังคงเน้นเรื่องการส่งเสริมศักยภาพ ให้ตัวบุคลากรเองได้มีโอกาสแสดงความสามารถที่มีอยู่ของตนเองออกมาด้วยเช่นกัน ฉะนั้น หลักการบริหารงานแบบอัจฉรินทร์ ก็คือการเน้นเรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

ลักษณะนิสัยส่วนตัวเป็นอย่างไร?

ส่วนตัวเป็นคนลุยๆ ชอบทำงานเอาต์ดอร์ การพูดจาอาจจะโผงผางไปบ้าง ก็อาจเป็นเพราะการที่เป็นผู้หญิงและเรียนจบในด้านวิศวกรรมมา ฉะนั้นในการพูดคุยบางครั้งอาจพูดดูห้วนไม่มีการลงท้ายด้วย คะ ขา ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วย แต่เป็นคนลุยๆ ชอบสู้งานหนัก

หนักใจในการทำภารกิจใดในกระทรวงดีอีที่สุด?

ภารกิจที่หนักใจ ขอมองเป็นเรื่องของความท้าทายมากกว่า โดยที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่เป็นวันแรกของการทำงาน ได้มีการเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอีและหน่วยงานในสังกัด ซึ่งในการประชุมได้แจ้งไปแล้วว่าขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำอย่างไรให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล และการเป็นพลเมืองดิจิทัล

วางแผนงานภายในกระทรวงอย่างไร?

งานในกระทรวงเอง มองเรื่องของการปรับเปลี่ยนคนมากกว่า จะทำอย่างไรให้บุคลากรในกระทรวงเองก้าวทันในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งได้ให้นโยบายไปตั้งแต่วันแรกของการทำงานแล้วว่าทุกคนต้องปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดอบรมให้องค์ความรู้ เพื่อให้บุคลากรในกระทรวงดีอีได้เรียนรู้ ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ได้

วางเป้าหมายการทำงานของตนเองอย่างไร?

ในการวางเป้าหมายการทำงาน ไม่เพียงแต่วางเป้าเรื่องการสานงานในภารกิจหลักต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงแล้ว ยังหวังว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า หน่วยงานรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีรวมทั้งโดยเฉพาะสำนักงานปลัดกระทรวงดีอีเอง จะกลายเป็น Smart Organization ที่จะทำให้การทำงานต่างๆ ของหน่วยงานมีความทันสมัยยิ่งขึ้น สามารถทำงาน และให้บริการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image