คอลัมน์ วิเทศวิถี : ทางเลือกประเทศไทย

REUTERS/Joshua Roberts

การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองมานานเกือบครึ่งปีนับจากที่มีการโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่างผู้นำทั้งสองเมื่อวันที่ 30 เมษายน กระทั่งได้มีการเปิดทำเนียบขาวต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์พร้อมด้วยภริยา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ผ่านพ้นไปแล้วอย่างชื่นมื่น

เท่าที่เห็นต้องบอกว่าการให้การต้อนรับผู้นำไทยครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐก็ “จัดให้” อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเปิดแถลงข่าวกับสื่อในห้องทำงานรูปไข่โดยมีภริยาของผู้นำทั้งคู่นั่งอยู่ด้วย ตามด้วยการหารือแบบสองต่อสอง และการหารือเต็มคณะซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการพูดคุยในประเด็นที่หลากหลาย ตบท้ายด้วยการออกถ้อยแถลงร่วมซึ่งเป็นผลสรุปของการหารือยาวถึง 2 หน้าครึ่ง ครอบคลุมความร่วมมือระหว่างกันแบบรอบด้าน รวมถึงประเด็นปัญหาที่มีข้อห่วงกังวลในภูมิภาค ไล่เรียงตั้งแต่เกาหลีเหนือ ทะเลจีนใต้ ไปจนถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่า

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปลี่ยนแปลงท่าทีที่มีต่อรัฐบาลไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะไม่ว่าสถานการณ์ในไทยจะเลวร้ายอย่างไรในสายตาคนบางกลุ่มในประเทศ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือไทยยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาค ทั้งจะด้วยความสำคัญของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ไปจนถึงการแสดงออกซึ่งมีหลักการในเวทีระหว่างประเทศ แม้จะออกอาการเป๋หรือเซไปบ้างจากปัญหาการเมืองภายในรวมถึงการดำเนินนโยบายบางเรื่อง แต่ในภาพรวมแล้วเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ต้องถือว่าไทยยังคงมีความน่าเชื่อถือ มีจุดยืนที่เป็นกลาง และยังสามารถแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ได้แม้ว่าจะเกิดปัญหาภายในประเทศอย่างไรก็ตาม

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรพัฒนาเอกชนว่าการเปิดบ้านต้อนรับผู้นำไทยของทรัมป์เป็นการแสดงความเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการกดขี่ทางการเมืองในประเทศ แต่เสียงเหล่านั้นก็ไม่ส่งผลใดๆ ต่อการเดินหน้าสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เชื่อว่านับจากนี้ไปจะเข้าสู่การเดินเครื่องอย่างเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น

Advertisement

เป็นการกลับมายืนยันและย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีอยู่อย่างยาวนานของสหรัฐกับไทย ซึ่งมีสถานะเป็นชาติพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐชาติหนึ่งในเอเชีย หลังจากที่ปล่อยให้รัฐบาลไทยหันไปซบจีนเป็นพี่ใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้่

ไม่ว่าว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ความสัมพันธ์และความร่วมมือในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจมีความสำคัญมากกว่าหลักการด้านประชาธิปไตยที่เคยเป็นข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่ในอดีต แต่หากจะว่ากันจริงๆ แล้ว ข้อจำกัดด้านประชาธิปไตยของสหรัฐก็ไม่ใช่ข้อจำกัดที่บังคับใช้กับทุกประเทศเสมอเหมือนกันมาแต่ไหนแต่ไร หากเข้าใจในหลักการนี้ก็จะตระหนักว่าภาพที่ปรากฎจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความหมาย เพราะมหาอำนาจอย่างสหรัฐคงไม่จำเป็นต้องมานั่งเอาใจไทย หากสหรัฐไม่เห็นว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่มีความสำคัญกับสหรัฐด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าสำหรับรัฐบาลทหาร การเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของผู้นำไทยครั้งแรกในรอบ 12 ปีถือเป็นดังตราประทับรับรองจากมหาอำนาจในซีกโลกตะวันตก ขณะเดียวกันก็ต้องถือเป็นความสำเร็จจากการประสานงานและเตรียมการของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำให้การพบปะกันครั้งนี้เกิดขึ้นได้ในที่สุด แม้ก่อนหน้านี้จะมีคำปรามาศจากหลายฝ่ายที่เชื่อว่าการพบปะกันดังว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง และเจอกับโรคเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะการเตรียมการสำหรับการเยือนระดับผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายมากขึ้นอีกหลายเท่า

สำหรับประเทศไทย การหันกลับไปจับมือกับสหรัฐให้อุ่น ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประเทศ แทนที่จะวางตัวเป็นดังลูกไก่ในกำมือของจีนอย่างที่เคยทำมา เพราะการจัดวางความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในโลกอย่างสมดุลเป็นนโยบายต่างประเทศที่ไทยยึดถือมาตลอด ก่อนจะหันมาปิดทางเลือกอื่นๆ ไปผูกสมัครรักใคร่กับพี่ใหญ่ของเอเชียอย่างจีน หลังจากที่รัฐบาลตะวันตกหันหลังให้เพราะการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินครั้งล่าสุด ซึ่งดูเหมือนว่าพอผ่านช่วงเวลาแห่งการชี้แจงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ท่าทีของชาติตะวันตกต่อไทยก็ไม่ได้แข็งขืนกร้าวกระด้างอย่างในช่วงต้นอีกแล้ว

โดยเฉพาะหลังจากที่ประชาชนได้ลงประชามติผ่านร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา สถานการณ์ก็ค่อยๆ คลี่คลายไปในทางบวกกับรัฐบาลมากขึ้น จนแทบจะเรียกได้ว่าสถานการณ์หรือแรงกดดันจากนอกประเทศต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นประเด็นอีกต่อไป ยิ่งเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำกับประธานาธิบดีสหรัฐว่าการเลือกตั้งของไทยจะเกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป ก็ยิ่งปลดเปลื้องแรงกดดันได้แทบหมดสิ้น หากไม่มีสถานการณ์แทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่ว่าจะการซื้อถ่านหิน การจะเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู หรือกระทั่งการซื้ออาวุธจากสหรัฐ ไม่ใช่เรื่องประหลาด ในทางตรงกันข้ามแทบจะถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เมื่อมีการเดินทางไปเยือนในระดับผู้นำ แน่นอนว่าดีลทางธุรกิจต่างๆ ย่อมจะถูกรวบรวมขึ้นมาพูดคุยต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ส่วนที่ว่าใครจะได้ใครจะเสียก็ขึ้นกับมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่ถือเป็นความฉลาดของฝ่ายไทยที่ได้เน้นย้ำในประเด็นการลงทุนของนักธุรกิจไทยในสหรัฐ ซึ่งช่วยจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชาวอเมริกันในระดับที่ไม่อาจดูเบา เพราะสอดคล้องกับจุดยืนของรัฐบาลทรัมป์ที่เน้นนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และยังเน้นย้ำให้เห็นว่า การเปิดบ้านต้อนรับผู้นำไทยในครั้งนี้ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อและองค์กรเอกชนใปประเทศสหรัฐอยู่บ้าง แต่ก็ก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวอเมริกันด้วย

อีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันซึ่งกลายมาเป็นข่าวร้อนที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ก็คือการที่นางอีวานกา ทรัมป์ บุตรสาวของประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบกับนางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี และได้เชื้อเชิญให้เดินทางเยือนไทย ซึ่งมีการเผยแพร่ข่าวว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า นางอีวานกาแสดงความประสงค์ที่จะพบกับคุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คุณบุ๋ม ที่รัฐมนตรีต่างประเทศพูดถึงคือคุณบุ๋ม วีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก ที่เพิ่งได้รับรางวัล TIP Hero ในฐานะที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ที่เชียงใหม่

จากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เลยกลายเป็นประเด็นข่าวบันเทิงไปเสียอย่างนั้น สื่อสารผิด ชีวิตเปลี่ยนจริงๆ

ดอน ปรมัตถ์วินัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พอใจอย่างยิ่งกับภาพรวมผลการเยือนสหรัฐของท่านนายกรัฐมนตรี ที่เป็นการเยือนสหรัฐของผู้นำไทยหลังว่างเว้นไปถึง 12 ปี ถือว่าเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จ มีความรู้สึกว่าต่างคนต่างให้เกียรติกันและกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าภาพการเยือนที่ออกมาไม่ได้มาจากการเดินทางไปเยือนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน ซึ่งต้องมีการรับรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวท่านนายกฯก่อน

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โทรศัพท์หารือกับผู้นำไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่้งทั้ง 3 ท่านเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ก็ชื่นชมผู้นำที่ดูแลบ้านเมืองอย่างดีและชื่นชอบคนเข้มแข็ง ประเด็นสำคัญที่ได้หารือทางโทรศัพท์ในวันที่ 30 เมษายน คือแสดงความชื่นชมในความเป็นผู้นำที่มีความแข็งแกร่งของท่านนายกฯในช่วงที่บริหารบ้านเมือง 2.คือจะส่งคณะผู้แทนทางด้านเศรษฐกิจมาหารือการค้าการลงทุน ซึ่งมาจากพื้นฐานที่เราเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และ3.คือการเชิญท่านนายกฯเยือนทำเนียบขาว ซึ่งทั้ง 3 เรื่องที่พูดในวันนั้นก็ได้ดำเนินการแล้วทั้งหมด

การต้อนรับเป็นไปอย่างดีและมีความอบอุ่น บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างฉันมิตร อัธยาศัยที่แสดงออกเป็นที่รับรู้และรู้สึกได้สำหรับผม ท่านนายกฯทำการบ้านมาเป็นอย่างดี โดยได้ให้ภาพใหญ่เพื่อให้รับรู้ว่าไทยกับสหรัฐรู้จักกันมานาน มีความสัมพันธ์และร่วมมือกันในทุกมิติในทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เป็นพื้้นฐานที่ดีทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้คุยกับเพื่อนที่คบกันมาร่วม 200 ปี ซึ่งมีผลด้านจิตวิทยาสูง

การหารือในห้องระดับรัฐมนตรี รู้สึกได้ว่ามีความเป็นมิตรมาก การพูดจาเป็นไปอย่างสุภาพ ไม่มีอะไรเลยที่ทำให้รู้สึกว่าคุยกับมหาอำนาจ ไม่มีความรู้สึกว่าเขามาวางท่าทีเหนือเรา แต่เหมือนเพื่อนกับเพื่อนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบนโต๊ะทานข้าว เข้าข่ายมีความรู้สึกฉันทมิตร ตลอดเวลาการหารือท่านนายกฯ ไม่ได้อ่านหรือดูโน๊ต แต่เป็นการพูดคุยแบบจ้องตา เพราะท่านทำการบ้านมาดี มีความเข้าใจเรื่องต่างๆ มาก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่อยากให้เห็น

ไม่ได้มีอะไรอย่างที่นักวิเคราะห์บอกว่าเราต้องไปยอมหรือถูกกดดันสหรัฐกดดัน เพราะหลายๆ เรื่องที่มีการพูดถึงเป็นเรื่องที่ได้คุยกันไปหมดแล้วในระหว่างการเตรียมการเยือน ในฐานะคนทำงานรู้สึกโล่งใจและพอใจว่าเป็นการเยือนที่มีประโยชน์และช่วยให้มีการเชื่อมสัมพันธ์ในระดับผู้นำที่ดี

ในโอกาสนี้ยังมีการพบกันอย่างดีของฝ่ายภริยาผู้นำทั้งสองซึ่งถือว่ามีความพิเศษ เพราะได้พูดคุยแลกเปลี่นประสบการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายทำให้กับสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้กันน้อย อาทิ งานที่คุณเมลาเนีย ภริยาของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำในเรื่องปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด ข้อริเริ่มตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลปัญหาเยาวชนขึ้นโดยเฉพาะเด็กหญิงที่ติดยาเสพติดและตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ รวมถึงเรื่องการศึกษาของเยาวชน ขณะที่ภริยาท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้เล่าประสบการณ์สมัยเป็นนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ที่ได้ช่วยครอบครัวทหารที่มีบุตรพิการ และขณะนี้ก็ได้ช่วยเรื่องการศึกษาทางไกล ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มาก ทั้งคู่มีความชื่นชมต่อกัน และมีเรื่องที่อยูในความสนใจร่วมกันที่น่าจะคุยกันต่อได้ในโอกาสหน้า จึงมีการเชิญให้เดินทางไปเยือนในโอกาสที่เป็นไปได้

ถือเป็นภริยาผู้นำคนที่ 2 ที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในลักษณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ก็มีเพียงนางเผิง ลี่หยวน ภริยาท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image