ภาพเก่า…เล่าตำนาน น้ำพระทัย ทรงห่วงใยพสกนิกร : เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มย่างกรายมาสู่แผ่นดินของเราตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วง พ.ศ.2054 ชาวโปรตุเกสนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นำขี้ผึ้งรักษาแผลชนิดหนึ่งติดตัวเข้ามา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การรักษาโรคกับชาวอยุธยา เมืองท่าขนาดใหญ่

ต่อมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นักการทูต พ่อค้าชาวฝรั่งเศสเข้ามาสร้างไมตรี สร้างสถานพยาบาลในบางกอก อยุธยา พิษณุโลก นำพาความรู้ด้านการแพทย์เข้ามาเสริมในราชสำนัก

แพทย์หลวงในราชสำนักจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภททำงานคู่ขนานกัน คือ แพทย์หลวงฝ่ายยาไทย และแพทย์หลวงฝ่ายยาฝรั่ง ยาที่สำคัญที่ถูกบันทึกไว้คือ ยาควินิน (Quinine) แก้ไข้มาลาเรีย

Advertisement

ช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกิดวิกฤตการณ์ขับไล่ฝรั่งผิวขาวและชาวตะวันตกออกนอกแผ่นดินอยุธยา กิจการแพทย์ฝ่ายตะวันตกก็พลอยจางหายไปกับกาลเวลา ไม่มีพัฒนาการด้านการแพทย์ ไม่มีหยูกยา ตำรารักษาโรคจากชาติตะวันตก

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยในหลวงรัชกาลที่ 2 มีผู้เสียชีวิตราว 3 หมื่นคน ภายในเวลา 15 วัน มีหลักฐานชี้ชัดว่า โรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอหิวาตกโรค เนื่องจากผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ อหิวาตกโรคระบาดมาจากทางเกาะปีนัง เข้ามาทางปากน้ำ และแพร่ต่อมายังกรุงเทพฯ ชาวบ้านใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทั้งกินทั้งถ่ายลงน้ำ ไม่มีระบบประปาหรือการจัดสุขาภิบาล ทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่
รวดเร็ว

 

Advertisement

พ.ศ.2371 ในแผ่นดินในหลวง ร.3 สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ชาวสยามเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติฝรั่งผิวขาว มีการทำสัญญาค้าขาย ชนชาติตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจทางทะเลคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮอลันดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ต่างขอเข้ามาเปิดการคบค้ากับสยาม กิจการแพทย์เป็น “สะพานเชื่อมไมตรี” ที่แพทย์ (Medical Doctor) ชาวตะวันตกเข้ามาถึงราชสำนักและเริ่มให้บริการรักษาโรคต่อชาวสยามทีละเล็กละน้อย ผสมผสานกับกิจการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เกิดมีโรงเรียน มีสถานพยาบาล มียารักษาโรคแบบฝรั่ง ซึ่งแต่แรกชาวสยามยังไม่ยอมรับการรักษาพยาบาลตามแนวทางแพทย์ฝรั่ง ที่ชาวสยามเรียกว่าหมอสอนศาสนา คือ รักษาโรคไปด้วย เผยแพร่คำสอนคริสต์ศาสนาไปด้วย

ในรัชสมัยในหลวง ร.3 คาร์ล ฟรีดิช ออกุสต์ กุทซลาฟฟ์ นายแพทย์ชาวเยอรมันสมัครทำงานร่วมกับมิชชันนารีของฮอลันดา เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมกับจาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ นำยาและหนังสือพระคัมภีร์เข้ามาเพื่อสร้างไมตรีกับชาวสยามให้หันมานับถือศาสนาคริสต์

ในสมัยในหลวง ร.3 อหิวาตกโรค (ชาวสยามเรียกโรคห่า) ยังคงเป็นปีศาจร้ายคร่าชีวิตชาวสยาม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถึงแม้จะมีแพทย์และมิชชันนารีเข้ามาในสยาม แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์จากโลกตะวันตกในเวลานั้นก็ยังไม่เจริญก้าวหน้า

พ.ศ.2377 นายแพทย์บรัดเลย์ (ชาวสยามเรียกว่า ปลัดเล) ชาวอเมริกันจบแพทยศาสตร์จากนิวยอร์ก เดินทางเข้ามาพร้อมมิชชันนารีอเมริกัน นำยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือผ่าตัด พร้อมทั้งเปิด “โอสถศาลา” ที่วัดเกาะ นับเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะทำให้ชาวสยามยอมรับรักษากับแพทย์และยาจากหมอฝรั่ง

 

 

นอกจากอหิวาตกโรคที่พรากชีวิตชาวสยามไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษเข้ามาร่วมทำลายชีวิตชาวสยามลงไปแบบใบไม้ร่วง ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้หมอบรัดเลย์สอนวิธีการปลูกฝีให้แพทย์แผนไทย แล้วไปปลูกฝีกับประชาชนชาวสยามจนทำให้สยามสามารถควบคุมและป้องกันโรคฝีดาษได้เป็นผลสำเร็จ

ชาวสยามเสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นจำนวนมหาศาล ระบบงานการแพทย์ยังไม่เกิด แพทย์ ยา เครื่องมือ สถานพยาบาล และความรู้ด้านการแพทย์หาจุดเริ่มต้นไม่เจอ

พ.ศ.2424 ในสมัยในหลวง ร.5 อหิวาตกโรค ผีห่าซาตานผู้ไร้ความปรานีหวนกลับมาปลิดชีพชาวสยามไปเป็นจำนวนมากอีกครั้ง กรุงเทพฯ เงียบเหงาวังเวงสุดบรรยาย เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานพยาบาลขึ้นชั่วคราวรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายหายไป โรงพยาบาลปิดทำการไปด้วย หากแต่ในพระทัยพระองค์ตระหนักว่าจะต้องตั้งโรงพยาบาลขึ้นให้ได้

โรงพยาบาลแผนตะวันตกแห่งแรก คือโรงพยาบาลทหารหน้า ซึ่งมีนายแพทย์เทียนฮี้ สารสิน เป็นผู้อำนวยการ (แพทยศาสตรบัณฑิตคนแรกของสยามจบจากสหรัฐอเมริกา โดยมิชชันนารีสนับสนุนส่งไปเรียนแพทย์) เปิดดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2422-2427 แล้วกิจการแพทย์ในสยามประเทศสะดุดหยุดลงอีกครั้ง

ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

“โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีเกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ ตลอดจนได้ตั้งใจแลออกปากอยู่เนืองๆ ว่า ถ้าตายจะขอแบ่งเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนหนึ่งมอบไว้สำหรับใช้ในการโรงพยาบาล แลสั่งไว้ขอให้จัดการให้สำเร็จดังประสงค์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดจัดการให้มีขึ้นจงได้ และจะอุดหนุนการโรงพยาบาลด้วยทุนรอนส่วนหนึ่ง ไม่ชักเงินที่เป็นมรดกซึ่งกำหนดว่าจะให้นั้นมาใช้ แลมีอำนาจที่จะใช้เงินแผ่นดินได้อยู่ ก็ใช้เงินแผ่นดินเป็นรากเหง้าของการพยาบาลบ้างตามสมควร การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างที่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้….”

น้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรด้านการแพทย์ พยาบาล การสาธารณสุขในสยามก็บังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

สยามประเทศมาถึงจุดกำเนิดด้านการแพทย์อย่างเป็นระบบ

22 มีนาคม พ.ศ.2429 ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรให้เป็นสถานที่รักษาประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

สถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น พระองค์พระราชทานที่ดินอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง ซึ่งเป็นวังเดิมของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่รกร้าง แต่มีความร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ

31 พฤษภาคม 2430 ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรด้วยโรคบิด สิ้นพระชนม์ลง ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยิ่งนัก ถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะต้องให้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นให้จงได้

เสร็จงานพระเมรุแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ในงานพระเมรุ นำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลัง นอกจากนี้ยังพระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ เพื่อการก่อสร้างโรงพยาบาล

ในช่วงแรก สร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลศิริราช” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”

กิจการแพทย์ในสยามเริ่มก้าวเดินไป และก้าวหน้าเป็นลำดับ ต่อมาจึงได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นในโรงพยาบาลนี้ และเริ่มเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2433 เป็นต้นมา โดยจัดหลักสูตรการศึกษา 3 ปี สอนทั้งวิชาแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทยชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร”

นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2436

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2443 ในหลวง ร.5 เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการ และพระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย” ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ได้ทรงโน้มน้าวพระทัยให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ สนพระทัยวิชาแพทย์

พระองค์จึงทรงไปศึกษาต่อด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตในเวลาต่อมา พระองค์ทรงวางรากฐานการศึกษาของแพทย์ในสยามให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ

ศาลาศิริราช 100 ปี เป็นสถานที่ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พร้อมกับตึกอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2531

โรงพยาบาลศิริราชได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงมาตามลำดับ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าทุกพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์

เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ มีเนื้อที่ 110 ไร่ อาคาร 59 หลัง

โรงพยาบาลศิริราชและกิจการแพทย์ทั้งปวงมีพัฒนาการเป็นเลิศในทุกมิติ สร้างคุณูปการแก่สังคมไทยสมดังพระราชปณิธานที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระทัยที่จะดูแลพสกนิกร

โรงพยาบาลศิริราชเคยเป็นที่ประทับรักษาอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้โรงพยาบาลศิริราชทุกครั้งที่เสด็จฯมาประทับ เช่น พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมในโรงพยาบาลศิริราช และพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหารถติดรอบโรงพยาบาลศิริราช

การก่อสร้างอาคารสถานที่เพื่อขยายขีดความสามารถในการดูแลผู้เจ็บป่วยทั้งหลายยังคงมีพัฒนาการต่อไป

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม เวลา 19.37 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อรับพระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรองรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน อาคารนี้สูง 25 ชั้น 355 เตียง มีศูนย์ความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ มีห้องไอซียู 62 ห้อง

ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ช่วยโครงการศิริราชที่ดำเนินการอยู่ หวังว่าจะช่วยได้บ้าง และขอขอบคุณที่ดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย

24 กันยายน 2560 เวลา 16.43 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ณ โรงพยาบาลศิริราช

บรรยากาศ ณ โรงพยาบาลศิริราช นักศึกษาแพทย์ พยาบาล และประชาชนเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทาง และมาจับจองพื้นที่โดยรอบพระราชานุสาวรีย์ เพื่อรอชื่นชมพระบารมี

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาถึง ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและยังความปลาบปลื้มต่อพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้

ทรงพระเจริญ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือ 48 ปีแพทยสภา ปูชนียแพทย์ และภาพ/ข้อมูลจากมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image