แม้ไม่มี ‘เจ้าพ่อเพลย์บอย’ แล้ว แต่ผลกระทบของ ‘เพลย์บอย’ ต่อผู้หญิง ก็ยังไม่จบ !!!

เพลย์บอย ลดคุณค่าผู้หญิง?
เพลย์บอย ทำกับผู้หญิงราวกับวัตถุ?
เพลย์บอย ให้อิสระแก่ผู้หญิง?
เพลย์บอย เสริมสร้างความสามารถแก่ผู้หญิง?

ถึงแม้ “ฮิวจ์ เฮฟเนอร์” นักธุรกิจชาวอเมริกัน

ผู้ก่อตั้งนิตยสารเพลย์บอยจะเสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา แต่ประเด็นคำถามต่างๆ ข้างต้น และผลกระทบของนิตยสารปลุกใจเสือป่าเล่มนี้ที่มีต่อผู้หญิง นับแต่ถือกำเนิดขึ้นบนแผงหนังสือเมื่อปี 2496 หรือเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่า ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างไรบ้าง?

ในบทความของเอเอฟพีเล่าว่า ขณะที่มีนักสิทธิสตรีบางคนโจมตีว่านิตยสารเพลย์บอยทำให้ผู้หญิงดูด้อยค่า ถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ แต่ก็มีนักวิชาการบางคนที่มองว่านิตยสารเพลย์บอยส่งผลบวกต่อผู้หญิงหลายอย่าง อย่างเช่น แคร์รี พิตซูโล อาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด และเจ้าของหนังสือ “Bachelors and Bunnies: The Sexual Politics of Playboy” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ให้ความเห็นว่า อิทธิพลของนิตยสารเพลย์บอยนั้นลึกซึ้งและซับซ้อนมากกว่าจะมองกันแค่หน้าปก

Advertisement

“แรกที่มอง ฉันก็คิดว่านี่เป็นนิตยสารที่โป๊มาก แต่ทันทีที่ฉันเริ่มอ่าน ฉันก็พบว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น”

อาจารย์พิตซูโลบอกว่าในนิตยสารเพลย์บอยมีเนื้อหาที่ก้าวหน้าหลายอย่าง และสนับสนุนผู้หญิงมากกว่าที่หลายคนเคยให้เครดิตแก่นิตยสารเล่มนี้

พิตซูโลยกตัวอย่างเช่น เฮฟเนอร์สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิในการทำแท้ง สนับสนุนผู้หญิงให้เข้าถึงการคุมกำเนิด สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิ ความเสมอภาค และยังให้เงินทุนก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือแก้ปัญหาการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

นอกจากนั้นในเพลย์บอยที่ออกมาช่วงปีแรกๆ “บรรดานางกระต่ายยังบอกให้โลกได้รู้ด้วยว่า ผู้หญิงดีๆ ก็ชอบเซ็กซ์ด้วยเหมือนกัน นั่นเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวในเพลย์บอยที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อช่วง 1950s และ 1960s” พิตซูโลกล่าว

ทั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัว อาจารย์พิตซูโลรู้สึกว่าการที่นางกระต่ายของเพลย์บอยออกมาบอกเช่นนั้นได้ช่วยโต้แย้งความคิดที่เชื่อกันมานานว่า “หากคุณไม่ใช่เด็กสาวที่ดี คุณก็เป็นเด็กสาวที่เลว โดยไม่มีทางเลือกอื่น” ซึ่งมันไม่ใช่

ขณะที่มีนักวิชาการหลายคนที่มีความเห็นถึงอิทธิพลของนิตยสารเพลย์บอยที่ส่งผลต่อสังคมแตกต่างกันไป อย่างเช่น เอลิซาเบธ ฟราเทอริโก อาจารย์มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่อ้างในหนังสือ Playboy and the Making of the Good Life in Modern America ของเธอที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2554 ว่า

“เนื้อหาในเพลย์บอยไม่ได้มีคุณค่าเป็นเหมือนกระบอกเสียงเพื่อสิทธิสตรีเหมือนที่เฮฟเนอร์และบรรดาผู้สนับสนุนกล่าวอ้าง แต่เอลิซาเบธมองว่านิตยสารปลุกใจเสือป่าเล่มนี้สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมที่นิยมเรื่องเพศ และสร้างความหมายเรื่องอิสระทางเพศที่ซับซ้อน และยังทำให้สังคมยอมรับเรื่องการดึงดูดทางรูปร่าง หน้าตา และการแสดงออกทางเพศ”

เช่นเดียวกับที่ แพทริค ทรูแมน ประธานศูนย์เลขาธิการแห่งชาติเกี่ยวกับการหาประโยชน์ทางเพศ กล่าวว่า

“เพลย์บอยได้ทำให้เรือนร่างของผู้หญิงถูกมองเป็นสินค้า ดังที่มีการตีพิมพ์รูปโป๊เปลือย ผู้หญิงในหนังสือเพลย์บอยที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และยังเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขของสื่อลามกทางอินเตอร์เน็ตที่อเมริกากำลังประสบอยู่ในเวลานี้” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image