พระอัจฉริยภาพ “ร.9” โลกขานรับ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ชิลี

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือเอสอีพี) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตที่พระองค์พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยมาหลายทศวรรษแล้ว

นับจนถึงปัจจุบันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัย เพราะสารัตถะในปรัชญาดังกล่าวของพระองค์เป็นการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนมานานก่อนที่จะเกิดการผลักดันให้มีการรับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจีส์) พ.ศ.2573 ในสหประชาชาติ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

ด้วยตระหนักว่าเอสอีพีเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ได้ เพราะไทยประสบความสำเร็จในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และการพัฒนาชุมชน รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มนโยบาย SEP for SDGs Partnership เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนกับต่างประเทศในการบรรลุถึงพันธกิจเอสดีจีส์ ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในประเทศของตน โดยสนับสนุนให้หลายประเทศนำเอาโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่และความต้องการในแต่ละแห่งอีกด้วย

สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์

หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศและเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย โดย นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมความร่วมมือระหว่างประเทศถือว่าการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศต่างๆ มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเมื่อปี 2559 ที่ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา 134 ประเทศ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 77 จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยในการเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศคู่ร่วมมือและในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ

Advertisement

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ขยายงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมในลักษณะโครงการในต่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนในการบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน

ติมอร์เลสเต

อธิบดีสุพัตรากล่าวว่า โครงการพัฒนาชุมชนในต่างประเทศที่ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์นั้น มี 2 ลักษณะ ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของภาครัฐหรือของประมุขประเทศ เช่น ในราชอาณาจักรเลโซโท ราชอาณาจักรตองกา และ สปป.ลาว และโครงการเกษตรกรหรือชุมชนตัวอย่าง เช่น ติมอร์เลสเต ราชอาณาจักรกัมพูชา และชิลี

“การดำเนินโครงการในทั้งสองลักษณะมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อเกิดการระเบิดจากข้างในและนำไปสู่การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทที่เป็นภูมิสังคมของประเทศนั้นๆ อีกทั้งมีการประเมินและชี้วัดความสำเร็จบนหลักการพัฒนาด้วยการพึ่งพาตนเอง และการมีส่วนร่วมตามแนวทางทรงงานที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อธิบดีสุพัตรากล่าว

Advertisement
ตองกา

ที่ผ่านมากรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาของไทยมากมาย ในการดำเนินกิจกรรมที่ใช้ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างของความสำเร็จจากการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีความหลากหลายทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ และอื่นๆ กับต่างประเทศ

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกล่าวว่า ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศจะเป็นงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือการพัฒนาและริเริ่มความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่เป็น “ผู้ให้” ในกรอบความร่วมมือไตรภาคีให้มากขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมและโครงการในประเทศที่สาม และประการที่ 2 คือ การพัฒนางานอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand-FFT) ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเพิ่มความตระหนักรู้แก่เยาวชนไทยเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในงานอาสาสมัครที่จะไปปฏิบัติงานในประเทศคู่ร่วมมือ

ปัจจุบันมีการนำเอกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้แล้วในลักษณะความร่วมมือทวิภาคีรวม 9 ประเทศ ได้แก่ ลาว เลโซโท กัมพูชา ติมอร์เลสเต ชิลี ตองกา ฟิจิ ศรีลังกา และโมซัมบิก ขณะที่ยังมีอีกราว 13 ประเทศในหลายภูมิภาคที่แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยอย่างจริงจังต่อไป นอกจากนี้แล้วยังมีความร่วมมือในลักษณะ 3 ฝ่าย อาทิ กับเยอรมนีในการทำโครงการที่ติมอร์เลสเต กับเกาหลีใต้จัดฝึกอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สมาชิกอาเซียน กับสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ในการจัดทำ หนังสือ South-South in Action เพื่อเผยแพร่แนวทางการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับโครงการอาสาสมัครสหประชาชาติ (ยูเอ็นวี) จัดเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของอาเซียนและเอสอีพี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานอาสาสมัครเยาวชนในการบรรลุเอสดีจีส์ กับสหรัฐในการดำเนินโครงการแก้มลิงที่ลาว ขณะที่ญี่ปุ่นก็สนใจที่จะร่วมดำเนินโครงการกับไทยในทวีปแอฟริกา และยังมีความร่วมมือในลักษณะพหุภาคีกับสมาชิกลุ่ม 77 โดยมีการจัดโครงการอบรมให้กับชาติที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อีกด้วย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “สากล” ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image