จีดีพีส่งออกโตสวนทางเงินเฟ้อต่ำ รัฐเหนื่อยเข็นบริโภคในประเทศไม่ขึ้น

กําลังเกิดเป็นข้อสงสัยถึงปรากฏการณ์ว่าเพราะอะไร!!! ขณะที่ทุกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการด้านเศรษฐกิจทยอยออกมาปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยหยิบยกปัจจัยหนุนในเรื่องภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้มีเสียงบ่นในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนและค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศในสมาชิกอาเซียนด้วยกันแล้ว 6-7% จะทำให้ราคาสินค้าไทยส่งออกแพงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน แต่ก็ดูเหมือนไร้อุปสรรค เพราะตัวเลขการส่งออกต่อเดือนยังสูง 1.8-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่ออกปรับเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้ว อย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีจาก 3.6% เป็น 3.8% และส่งออกโตได้ 4.7% คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ในกรอบ 3.6-3.8% ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่เป็น 3.8% จาก 3.5% ปัจจัยหลักจากภาคส่งออกขยายตัว 8.0% จากเดิมมองไว้ 5.0% แต่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจาก 0.8% เหลือ 0.4% หรือบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ปรับประมาณการจีดีพีเป็น 3.7% จากเดิม 3.4% เพราะได้อานิสงส์ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก จึงเพิ่มขึ้นคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกเพิ่มเป็น 7% จากเดิม 3.8% รวมถึงด้านวิชาการอย่างศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์จากเดิม 3.6% เป็น 3.7-4.0%

เอกชนมองส่งออกขยายตัวสูง

ขณะที่ภาคเอกชนต่างก็ปรับเพิ่มคาดการณ์ยกแผง นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “กกร.ประกาศปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 6.5-7.5% จากเดิม 3.5-4.5% เพราะได้อานิสงส์จากประเทศคู่ค้าหลักที่เศรษฐกิจขยายตัว ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน การท่องเที่ยวยังเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีน การฟื้นตัวของการลงทุนเอกชน และการบริโภคของประชาชน รวมทั้งผลจากความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีใหม่ กรอบ 3.7-4.0% แทน 3.5-4.0% ในส่วนอัตราเงินเฟ้อ กกร.ได้ปรับลดกรอบคาดการณ์เป็น 0.5-1.0% จากเดิม 0.5-1.5% แม้ไตรมาสสุดท้ายของปีจะขยับขึ้นๆ แต่กรอบทั้งปีคงไม่เกิน 1.0%”

Advertisement

เช่นเดียวกันกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า สภาผู้ส่งออกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวมูลค่าส่งออกทั้งปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 6% จากเดิม 5% หาก 4 เดือนที่เหลือปีนี้ส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน จะทำให้ปีนี้ส่งออกขยายตัว 6.9-7.0% และจีดีพีโตได้ 3.6% แต่เงินเฟ้อยังไม่ปรับและไม่น่าจะเกิน 1.0% ในปีนี้

แข่งดัมพ์ราคาสินค้าฉุดเงินเฟ้อ

ขณะที่นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย มองว่า “ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงและค่อนข้างต่ำ มีด้วยกันหลายประการ ได้แก่ ประการแรก การบริโภคในปัจจุบันแข่งขันกันในเรื่องโครงสร้างราคาสินค้าเป็นหลัก เมื่อค้าปลีกขนาดใหญ่และผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่แข่งกันดัมพ์ราคาเพื่อให้สินค้าของตนเองขายได้ และที่ผ่านมาใช้เป็นเครื่องมือในการ

Advertisement

กระตุ้นยอดขาย จึงกดดันรายย่อยให้ต้องปรับลดราคาสินค้าตามเพื่อให้แข่งขันและขายได้ หรือธงฟ้าประชารัฐเอง คนมีรายได้เท่าไหร่ก็ซื้อได้ในราคาไม่สูง เมื่อราคาสินค้าไม่สูงใช้จ่ายต่อหน่วยไม่สูง จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงไม่มาก

จากที่ได้ใกล้ชิดประชาชนยังพบว่าคนกล้าใช้จ่ายเพิ่มไม่มากเหมือนในอดีต เขามองว่าเศรษฐกิจที่ว่าดีขึ้นยังเป็นแค่ความรู้สึกว่าดี แต่มองว่ายังไม่ดีถึงตัว จึงยังใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย หรืออยากซื้อของหรือใช้บริการที่เกินกว่าปกติในโอกาสพิเศษก็ทำได้น้อยลง ดังนั้นรัฐต้องการให้เศรษฐกิจดี ก็ต้องสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว และดีแบบถ้วนหน้า เพิ่มอำนาจซื้อในมือคนมีรายได้น้อย เช่น เรื่องเบี้ยคนชรา ที่รัฐจ่ายให้คนชราทุกคน 600-700 บาท ก็น่าจะแยกส่วนที่เป็นคนชราจริงๆ จึงได้สิทธิ จากคนชราที่มีรายได้ดี เพื่อโยกเงินส่วนที่เหลือมาเพิ่มให้กับสวัสดิการคนจน เพราะคนจนเมื่อได้เงินก็ใช้จ่าย เงินหมุนเวียนสู่ระบบรากหญ้าก็จะมากขึ้น”

ภาคการผลิตดีแต่จ้างงานต่ำ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า “การส่งออกที่ขยายตัวดี ยังส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจในประเทศไม่ทั่วถึง แม้จะเห็นภาคการผลิตปรับดีขึ้น แต่การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรเริ่มชะลอตามราคาสินค้าเกษตร ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนยังกระจุกในสินค้าคงทนเป็นหลัก รวมทั้งมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนสูง แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นไตรมาสสุดท้ายของปีตามเทศกาลเฉลิมฉลองที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นแรงกดดันกำลังซื้อและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐจะช่วยประคองการบริโภคเอกชนไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อเงินเฟ้อที่สูงเหมือนหลายปีก่อนหน้านี้”

ทางวิชาการอย่างนายเกียรติอนันต์ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “หากดูเงินเฟ้อเดือนกันยายนที่ผ่านมาสูงขึ้น 0.86% และยังเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่กรกฎาคม 2560 ก่อนหน้านั้นเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกดีขึ้นจริง แต่อานิสงส์ยังไม่ถึงคนกลุ่มใหญ่ เพียงบางส่วนที่มีกำลังเงินกำลังซื้อเพิ่ม เป็นเงินเฟ้อเพิ่มด้านอุปสงค์ ไม่มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ ตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นและส่งออกดีอยู่แต่ในรายใหญ่ๆ กว่าจะกระจายเข้าถึงบริษัทลูกบริษัทเล็กๆ ต้องใช้เวลา ซึ่งเศรษฐกิจโตได้ 3.5-3.7% แต่เงินเฟ้อยังไม่ถึง 1.0-1.5% มองว่าไม่เหมาะสมก็ได้

ถ้าประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเติบโตได้เกินปีละ 5% ต่อเนื่อง 2-3 ปี และการขยายตัวของจีดีพีเติบโตปีละ 3.0-4.0% ต่อเนื่อง 2-3 ปี รวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้ลดลงจากปัจจุบัน และไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองหรือความไม่สงบระหว่างประเทศ ที่หลายฝ่ายก็ยังจับตาเรื่องขัดแย้งสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ก็เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบที่เหมาะสมและสอดรับกับการขยายตัวของจีดีพีและส่งออก ซึ่งเงินเฟ้อต้องเพิ่มขึ้น 1.5-2.0%”

บาทแข็งกระทบรายได้ส่งออก

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย ระบุว่า การส่งออกไทยในปี 2560 เติบโตดีตามภาวะการค้าโลก ช่วง 8 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการส่งออกเฉลี่ย 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาทที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีจาก 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่า 7% เมื่อเทียบกับต้นปี ซึ่งผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าดังกล่าว พบว่ารายได้จากการส่งออกสุทธิ (ส่งออก-นำเข้า) ทั้งปี 2560 จะลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก รายได้ผู้ประกอบการหายไปกว่า 9.9 หมื่นล้านบาท กระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นให้ลดลงจากระดับปกติ 1-6% อาทิ กลุ่มธุรกิจประเภทผลิตภัณฑ์ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ เหล่านี้เป็นผู้ประกอบการไทย 80%

ศูนย์วิเคราะห์รายงานด้วยว่า ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลักจะได้รับผลประโยชน์ ทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าของผู้ประกอบการน้อยลง 7.4 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ 1-2% อาทิ ผู้ค้าเครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาและเวชภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ 60% และธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพึ่งพารายได้จากการส่งออกแต่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิ ธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเคมีภัณฑ์

ธุรกิจขยายแต่จ้างงานไม่เพิ่ม

ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. มองว่า เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวโดยมีแรงส่งจากการส่งออก จากมุมมองตลาดแรงงานมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร แม้ว่าจะเห็นสัญญาณการจ้างงานเพิ่มขึ้นบ้างในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2560) ที่ผ่านมาเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและท่องเที่ยว เช่น ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร-ภัตตาคาร โรงแรม ขนส่ง เป็นต้น แต่ธุรกิจอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ส่งออกสูง แต่การจ้างงานกลับไม่เพิ่มขึ้น ประเมินว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งใช้การทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น ดังนั้นสะท้อนว่าแม้ธุรกิจจะขยายตัวแต่ยังไม่แน่ว่าจ้างงานเพิ่ม

ทั้งนี้หากพิจารณาการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พบว่าลูกจ้างที่มีรายได้ปานกลาง 10,000-20,000 บาทต่อเดือน ลูกจ้างรายได้ปานกลางถึงสูง 20,000-30,000 บาทต่อเดือน และลูกจ้างรายได้สูง 30,000 บาทขึ้นไป การจ้างงานยังเพิ่มขึ้น แต่จ้างงานในกลุ่มลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ที่เป็นแรงงานไม่มีทักษะ การจ้างงานต่ำ และมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภค

ท้ายที่สุดรัฐบาลจะสามารถผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่คาดหวังได้หรือไม่ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image