ตุลาคม 2560 โดย ปราปต์ บุนปาน

เมื่อล่วงเข้าถึงเดือนตุลาคม 2560 พสกนิกรชาวไทยต่างก็มีใจจดจ่ออยู่กับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม

โดยกำหนดให้วันที่ 26 ตุลาคม เป็นวันถวายพระเพลิง

ต้นเดือนที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพในพระบรมมหาราชวัง

ก็มีพสกนิกรผู้จงรักภักดีพร้อมใจกันเดินทางไปเข้าคิวรอบริเวณท้องสนามหลวงอย่างเนืองแน่น

Advertisement

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว มีปรากฏการณ์น่าสนใจดำรงอยู่หลายประการ

ข้อแรก เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักต่างๆ ไปสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้ามาถวายสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

ส่วนใหญ่ระบุคล้ายๆ กันว่า พวกตนไม่ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจนี้เป็นครั้งแรก

หลายๆ คน เดินทางมากราบพระบรมศพแล้ว 4-5 ครั้ง

มีไม่น้อยที่มาถวายความอาลัยในหลักหลายสิบครั้ง

และมีพสกนิกรผู้จงรักภักดีบางรายที่เดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพเกินร้อยครั้ง

นี่แสดงให้เห็นว่าสายใยความรักความผูกพันระหว่างในหลวง รัชกาลที่ 9 กับพสกนิกรของพระองค์นั้น มีความลึกซึ้งเพียงใด

ข้อต่อมา จากการดูฟุตเทจข่าว ที่เพื่อนร่วมงานแผนกสื่อใหม่ของเครือมติชนไปพูดคุยกับประชาชนหลากกลุ่มหลายวัย ที่มาถวายบังคมพระบรมศพ

จะพบว่าหลายคน โดยเฉพาะที่มีวัย 30-40 ปีลงไป ล้วนยอมรับว่าพวกเขาไม่เคยเห็นพระองค์จริงของในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่แทบทุกคนก็ตระหนักได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ผ่านพระราชกรณียกิจมากมายมหาศาลนานัปการ

แต่ก็มีผู้ให้สัมภาษณ์บางรายที่มองมุมต่างไว้อย่างชวนคิด นั่นคือ ไม่ใช่แค่พสกนิกรจำนวนมากเท่านั้นหรอกที่ไม่เคยเห็นพระองค์จริงของในหลวง รัชกาลที่ 9 หากพระองค์เองก็มิได้ทรงรู้จักตัวตนจริงๆ ของราษฎรทุกคนเช่นกัน

แต่กระนั้น พระองค์กลับทรงงานหนักตลอดรัชกาลเพื่อช่วยเหลือพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา โดยไม่ทรงสนใจว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครหรือมีความคิดเห็นอย่างไร

จุดนี้นี่เองที่ทำให้เราได้ตระหนักถึงสถานะ “ความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ” ของพระองค์ ซึ่งช่วยเชื่อมโยงให้ผู้คนที่ไม่เคยพบหน้าค่าตากัน สามารถรู้สึกว่าพวกตนเป็นสมาชิกของชุมชนแห่งเดียวกัน และมี “พ่อ” ร่วมกัน

อีกแนวโน้มสำคัญที่พบเห็นได้มาก คือ พสกนิกรส่วนใหญ่ต่างยืนยันเหมือนกันว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสถานะเป็น “แบบอย่างที่ดีเลิศ” ของพวกเขา

บางคนแสดงความเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่ทำความดีและเสียสละเพื่อคนอื่น

ขณะที่บางคนลงรายละเอียดไปมากกว่านั้น โดยอ้างอิงถึงพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ

และก็มีอีกหลายต่อหลายคนที่ตั้งปณิธานว่าตนเองจะเจริญรอยตามในหลวง รัชกาลที่ 9 ผ่านการดำเนินชีวิตตามแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”

การยึดถือในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็น “ต้นแบบที่ดีเลิศ” ในการดำเนินชีวิต โดยเหล่าพสกนิกร จึงดำรงอยู่เคียงคู่กับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศอันงดงามตระการตา ณ แกนกลางของจักรวาล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสถานะความเป็นศูนย์รวมจิตใจของพระองค์

เชื่อว่าปรากฏการณ์น่าสนใจอันเกิดขึ้นจากความอาลัยรักที่พสกนิกรชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะปรากฏให้พวกเราเห็นอีกเป็นระยะ

ตลอดเดือนตุลาคม 2560

…………………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image