ทนไม่ไหวแล้วก้นบุหรี่ล้นหาด 2.5กม. เก็บได้1.3แสนมวน ทช.ประกาศ ห้ามสูบ ชายทะเล ฝ่าฝืนคุก1ปีปรับ1แสน

วันที่ 9 ตุลาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้สำรวจปริมาณขยะ ประเภทก้นบุหรั่ บริเวณพื้นที่ชายหาดป่าตอง โดยเก็บข้อมูลพื้นที่ 9 ตารางเมาตร ที่ความลึก 10 เซนติเมตร ผลการศึกษาพบว่า มีค่าเฉลี่ยก้นบุหรี่ที่พบเท่ากับ 0.76 มวน ต่อตาราเมตร หรือมีจำนวน ณ วันที่เก็บเท่ากับ 101,058 มวน ตลอดแนวชายหาดป่าตอง หรือ ประมาณ 63,237 ถึง 138,879 มวน ต่อชายหาด 2.5 กิโลเมตร

“มันเป็นข้อมูลที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง เมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบอีกว่า ก้นกรองบุหรี่เป็นขยะที่พบบ่อยและมากที่สุดในพื้นที่ชายหาด โดยจากการประมาณการทั่วโลกยังพบอีกว่า มีก้นกรองบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านมวน ถูกผลิตขึ้น และใช้ในแต่ละปี ในจำนวนนี้ประมาณ 30% ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดมลพิษมากกว่า 5 แสนตัน ต่อปี โดยข้อมูลจากประเทศที่มีชายทะเล และชายหาด พบว่าขยะที่เกิดจากบุหรี่ อันประกอบด้วย ซองบุหรี่ และก้นกรองบุหรี่ มีปริมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด ในท้องถนน หรือตามเมืองใหญ่ เฉพาะประเทศไทยนั้นพบว่า แต่ละวันมีก้นบุหรี่มากกว่า 100 ล้านชิ้น ตกค้างในสิ่งแวดล้อม”นายจตุพร กล่าว

Advertisement

นายจตุพร กล่าวว่า ผลกระทบของก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง คือเป็นขยะที่อุดตันทางระบายน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หรืออาจถูกน้ำพัดพาลงคูคลอง จนลงสู่ทะเล สะสมอยู่ใต้พื้นทรายตามชายหาด ก่อให้เกิดผลต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ โดยเมื่อสัมผัสกับน้ำจะปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น แคดเมี่ยม ตะกั่ว สารหนู และอนุพันธุ์ของยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นพิษต่อห่วงโซ่อาหาร

“เกี่ยวกับปัญหาทั้งหมดนี้ ผมได้นำปรึกษา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนะรัตน์ รัฐมนตรีทส.ท่านได้ให้แนวทางมาว่า ควรจะมีมาตรการบางอย่าง เพื่อลดปริมาณขยะในทะเล หรือในชายหาด เพราะหากปล่อยไว้เช่นนี้เรื่อยๆปริมาณขยะในทะเล โดยเฉพาะก้นบุหรี่ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสิ่งแวดล้อมก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ มาตรการดังกล่าวคือ การจัดระเบียบการสูบบุหรี่ตามชายหาดต่างๆ โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของทช.ได้นำปัญหาและข้อเสนอสำหรับเป็นทางออกในเรื่องนี้ไปหารือกับส่วนท้องถิ่น 20 แห่ง ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต รวมทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งหมดล้วนเห็นด้วยกับมาตรการนี้ คือ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปทช.จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 จัดระเบียบ ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด นำร่อง 20 หาด เช่น หาดแม่พิมพ์ หาดแหลมสิงห์ หาดบางแสน หาดชะอำ หาดเขาตะเกียบ หาดบ่อผุด(เกาะสมุย) หาดทรายรี หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หาดเกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน หาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดพัทยา หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี หาดสมิหรา จ.สงขลา เป็นต้น โดยในอนาคตก็จะประกาศเต็มรูปแบบทั่วทุกหาด

“การห้ามสูบบุหรี่ บนชายหาด เราก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด แต่ก็จะจัดระเบียบให้สูบเป็นที่เป็นทาง ก่อนลงไปเดินชายหาด มีที่สำหรับทิ้งก้นบุหรี่ให้ แต่ห้ามไม่ให้ลงไปเดินทอดน่องที่ชายหาด เดินไปสูบบุหรี่ไป อย่างนี้ไม่ได้ เพราะในที่สุดแล้ว มีเปอร์เซ็นต์จะทิ้งบุหรี่บนชายหาดสูงมาก การดูแลควบคุมนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ ทช.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นนั้นๆช่วยกันดูแล สำหรับโทษ เราดำเนินการตามกฏหมายเต็มรูปแบบ คือ คนที่ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”นายจตุพร กล่าว

อธิบดี ทช.กล่าวว่า นอกจากการห้ามสูบบุหรี่ ชายหาดแล้ว ปัญหาการทิ้งก้นบุหรี่ลงลงในทะเลโดยตรงจากเรือโดยสารและเรือนำเที่ยว ซึ่งมีปริมาณเยอะเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ก็จะเป็นมาตรการในระยะใกล้นี้ คือ ห้ามสูบบุหรี่ในเรือโดยสาร หรือเรือท่องเที่ยว เป็นมาตรการเดียวกับที่สายการบินใช้ ทช.จะนำเรื่องนี้ หารือกับทางกรมเจ้าท่า เพื่อหาวิธีการเนินการต่อไป

“ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม นี้ ประเทศไทย โดยทช.จะเป็นเจ้าภาพประชุมกลุ่มประเทศอาเซียน เรื่องขยะทะเล ที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ว่าด้วยมาตรการการลดปัญหาขยะในทะเล เพื่อทำให้สถานการณ์ขยะในทะเลของประเทศไทยดีขึ้น จากเดิมที่ประเทศไทยถูกบันทึกสถิติว่า มีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับดังกล่าวจะต้องดีขึ้น”นายจตุพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image