‘ส.พนักงานสอบสวน’งัดข้อ ค้านอัยการกลั่นกรองก่อนแจ้งข้อหา ฟันธงไม่พร้อมร่วมตรวจที่เกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง ในฐานะเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ที่รัฐสภา โดยมีนายธานิศ เกศวพิทักษ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมถกเถียงกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง.(2) ที่ระบุให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและอัยการ โดยผู้แทนอัยการเสนอว่า จะเข้ามากลั่นกรองตรวจสอบก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหา โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งอัยการมาใช้ดุลพินิจก่อน รวมทั้งให้อัยการร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ

พ.ต.อ.มานะ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีทางฝ่ายตำรวจ โดยสมาคมพนักงานสอบสวนนำข้อเท็จจริงไปเสนอว่า ที่ผ่านมากฎหมายให้อำนาจอัยการสอบสวนในหลายเรื่อง อาทิ คดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ตลอดจนคดีเด็กที่ต้องมีสหวิชาชีพร่วมสอบปากคำ ซึ่งรวมถึงอัยการด้วย ในการปฏิบัติที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนมักจะต้องพาตัวเด็กไปให้อัยการสอบสวน ทั้งที่ตามหลักการอัยการต้องมาที่สถานีตำรวจ ตรงนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการสอบสวนคดีอาญาของอัยการ

“ที่อัยการเสนอว่าจะร่วมตรวจที่เกิดเหตุกับตำรวจด้วยนั้น ผมเห็นด้วย แต่อัยการต้องมีความพร้อม ต้องเข้าเวรอยู่กับพนักงานสอบสวนจะได้ไปตรวจที่เกิดเหตุได้ทันที พนักงานสอบสวนไม่ขัดข้อง แต่เกรงว่าจะมาช้า หรืออาจต้องเอาบันทึกที่เกิดเหตุไปให้เซ็นทีหลัง ส่วนที่อัยการเสนอว่าจะเข้ามากลั่นกรองตรวจสอบก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหานั้น ตรงนี้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ล่าช้า เพราะในกฎหมายระบุชัดแจ้งว่าการแจ้งข้อหาต้องมีพยานหลักฐาน และอัยการไม่ได้ทำสำนวนคดีตั้งแต่ต้น ขอยืนยันว่าอัยการไม่มีเหตุผลที่จะเข้ามาตรงนี้ กฎหมายวางหลักชัดเจนในทางปฏิบัติ”พ.ต.อ.มานะกล่าว

พ.ต.อ.มานะ กล่าวอีกว่า โดยสรุปในฐานะสมาคมพนักงานสอบสวนเห็นว่าอัยการยังไม่พร้อมที่จะเข้ามากลั่นกรองตรวจสอบก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหา ทั้งนี้ขอเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ที่ระบุว่า กรณีความผิดได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่อาจมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนได้ โดยขอให้แก้เป็น ขอให้อัยการสูงสุดรับผิดชอบโดยลำพัง ไม่ต้องมอบหมายพนักงานสอบสวน เพราะที่ผ่านมามักมีการมอบหมายพนักงานสอบสวนตลอด และขอเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และมาตรา 155/1 กรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการต้องร่วมทำสำนวนกับพนักงานสอบสวน โดยขอเสนอให้อัยการสูงสุดรับมอบตรงนี้ไปรับผิดชอบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image