เสียงจากภูพาน น้อมรำลึกร.9ž

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรอย่างต่อเนื่อง

และทรงเห็นว่า พสกนิกรของพระองค์มีความยากจน ไร้อาชีพทำกิน เนื่องจากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพราะขาดน้ำ ขาดป่า ซึ่งเกิดจากปัจจัยธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงงานจนเกิดโครงการพระราชดำริน้อยใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

Advertisement

ในปี 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักบริเวณเทือกเขาภูพาน ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและสำรวจเส้นทางด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์Žชาวสกลนครจึงได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดในทุกปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อทรงงาน และพระองค์ทรงห่วงใยว่าพสกนิกรยังขาดองค์ความรู้ในการทำเกษตรให้ประสบผลสำเร็จ จึงมีพระราชดำริให้สร้างศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตร

ส่อม วงศ์สีดา

ปู่ส่อม วงศ์สีดา อายุ 79 ปี ราษฎรบ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุคคลหนึ่งที่เคยถวายงานอย่างใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เล่าเหตุการณ์วันนั้นว่า เมื่อปี 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านนานกเค้า ขณะนั้นฉันกำลังเลี้ยงวัว ทำนาอยู่ เมื่อได้ข่าวว่าเป็นพระองค์ท่านเสด็จฯ จึงดีใจอย่างมาก และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด

พระองค์ตรัสถามอย่างเป็นกันเองว่า ทำอาชีพทำอะไร ประสบปัญหาอะไรบ้าง ฉันจึงทูลตอบพระองค์ไปว่า ทุกปีขาดน้ำทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะหน้าแล้ง พระองค์จึงรับสั่งว่า ให้ทำนาต่อไป จะทำฝายให้ จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ ปู่ส่อมยังจำรับสั่งของพระองค์ได้แม่นยำ แม้ผ่านมานานถึง 38 ปี

Advertisement

จากนั้นจึงเกิดอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ขึ้น หล่อเลี้ยงชาวบ้าน จนคลายทุกข์ร้อน ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพระองค์ยังทรงให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2525 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ฉันยังน้อมเกล้าฯถวายที่ดิน 18 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นความภูมิใจอย่างสูงสุดของชีวิตŽ ปู่ส่อมเล่าด้วยความปลาบปลื้ม

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินการในปี 2527 ในเนื้อที่ 13,300 ไร่ ที่บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ปัจจุบันเป็นสถานที่ศึกษา ทดลองแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า การวางแผนปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ที่เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม ศึกษา ค้นคว้า ฝึกอบรมความรู้เพิ่มเติมนำไปปฏิบัติได้ เพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่ทำมาหากินของตนเองให้ได้ผลผลิตและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง สาธิตและการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม เป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร

การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งการดำเนินงานออกเป็นหลายด้าน ประกอบด้วย งานพัฒนาด้านแหล่งน้ำ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานทั้ง 15 อ่าง มีการพัฒนาแหล่งน้ำอยู่ 2 รูปแบบคือ

1.พื้นที่ในเขตชลประทาน คือการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ 15 อ่าง ซึ่งศูนย์ภูพานดูแลอยู่

2.พื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระทฤษฎีใหม่และการขุดบ่อประมง เจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ราษฎร เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค งานด้านพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ราษฎรมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าโดยรอบ

ทั้งนี้ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 8 โซน 8 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 11,000 ไร่ ก่อให้เกิดสำนึกในการป้องกันอนุรักษ์ป่าไม้เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ส่งผลให้ป่าฟื้นฟูสมบูรณ์ขึ้นอย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้คนรักหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ โดยเริ่มจากการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนการปลูกป่าในลักษณะต่างๆ เช่น ปลูกต้นไม้ในใจคน ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร ปลูกป่าธรรมชาติ ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรม

งานด้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า มีการจำลองเนื้อที่เป็นสวนสัตว์ 60 ไร่ มีสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ป่าสงวน เช่น เนื้อทราย

งานด้านปรับปรุงบำรุงดิน เน้นใช้หลักธรรมชาติแก้ไขปัญหาดินให้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่โดยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด พืชหมุนเวียน หญ้าแฝกป้องกันหน้าดิน

งานด้านพัฒนาเกษตรกรรม ทดลองพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ลิ้นจี่ นพ.1 ลำไยอีดอ แห้ว ส้มโอ มังคุด เงาะ ทุเรียนเทศ สะตอปักษ์ใต้ สับปะรด และยังปลูกไม้ผลหายาก เช่น อะโวคาโด โกโก้

งานด้านเพาะเห็ดเพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร โดยการศึกษาทดลองหาวัสดุที่เหมาะสมในท้องถิ่นมาเพาะเห็ด ฝึกอบรมสาธิตการทำเชื้อเพาะเห็ด มีการเพาะเห็ดฟางข้าวและขี้เลื่อยยางพารา ปัจจุบันสามารถปรับปรุงวิธีการเพาะเห็ด 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดสมุนไพร เช่น เห็ดหลินจือ และเห็ดพื้นบ้าน เช่น เห็ดขอนขาว เห็ดบด เนื่องจากกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

งานด้านเลี้ยงหม่อนไหม มีการส่งเสริมพันธุ์ไหม ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ไหมพันธุ์นางตุ่ยและไหมพันธุ์อีรี่ เพื่อนำไหมที่ได้ไปถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มขาย

งานด้านยางพารา ที่ศูนย์ภูพานได้ศึกษาศักยภาพการปลูกสร้างสวนยาง ในพื้นที่ 17 ไร่ และเป็นตัวอย่างการปลูกสวนยางพาราให้แก่เกษตรกร จากพันธุ์ดี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ GT1 และพันธุ์ PR255

งานด้านศึกษาและพัฒนาข้าว มีการศึกษาวิจัยการปลูกข้าวพันธุ์สกลนครและพันธุ์อื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในภาคอีสาน

งานด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงกวางรูซ่า และสัตว์ 3 ดำภูพาน ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จของศูนย์ภูพาน คือ สุกรภูพาน (หมูดำ) ไก่ดำภูพาน และโคเนื้อภูพาน กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

งานด้านประมง มีการทดลองการแปลงเพศปลานิล มีการสาธิตการเลี้ยงปลาบ่อแบบต่างๆ และการทำประมงแบบผสมผสาน

งานพัฒนาด้านสาธารณสุข ให้บริการนวดตัว นวดฝ่าเท้า เพื่อสุขภาพ โดยฝึกอบรมให้ผู้ที่สนใจ และยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาหม่องน้ำสมุนไพร ยาดม เทียนตะไคร้หอม ลูกประคบ เป็นต้น ภายในพื้นที่ยังมีสวนสาธิตสมุนไพรกว่า 280 ชนิด

งานด้านพัฒนาอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว มีการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรรอบศูนย์ภูพาน เพื่อสร้างรายได้เสริมและสามารถทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงชีพได้

กว่า 33 ปีที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯได้สนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันเทคโนโลยี ควบคู่กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสถานที่จัดอบรม สัมมนา กล่อมเกาจิตใจให้เยาวชนรู้จักหลักการดำเนินชีวิต เป็นสถานที่สร้างอาชีพให้เกษตรกร นำไปประกอบอาชีพ ซึ่งประสบสำเร็จมาแล้วหลายครอบครัวจนหลุดพ้นจากความยากจน

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งมั่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร เป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ชาวสกลนครและชาวไทยทั่วประเทศยังน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมตั้งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการทำความดีสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image