จิตแพทย์เพจดังแนะวิธีจัดการอารมณ์ ช่วงครบรอบความสูญเสีย ‘ดูแลกันและกัน แล้วจะผ่านไปได้’

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เพจเฟซบุ๊ก “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” โดยพญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น ได้โพสต์ถึงวิธีการจัดการอารมณ์เศร้าในช่วงนี้ โดยชี้ว่าเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึกตามธรรมชาติในช่วงครบรอบเหตุการณ์ของการสูญเสียบุคคลที่รัก

พญ.เบญจพร ระบุในโพสต์ว่า #Anniversary_grief_ความรู้สึกมาเยือนอีกครั้งเมื่อใกล้วันครบรอบ

“จะครบปีแล้วสินะ คิดถึงพระองค์ท่าน”

“คุณหมอคะ ยายนอนไม่หลับเลย ช่วงนี้เห็นอะไรเป็นต้องคิดถึงพระองค์ท่าน เป็นเหมือนตอนแรกๆที่พระองค์ท่านเพิ่งสิ้นพระชนม์ ความรู้สึกเช่นนั้นมันย้อนมาอีกครั้ง”

Advertisement

เป็นตัวอย่างของคำพูดและข้อความที่ส่งเข้ามาเพื่อปรึกษาและระบายความรู้สึกในช่วงไม่กี่วันมานี้

เมื่อวันครบรอบเหตุการณ์แห่งความสูญเสียได้มาเยือนอีกครั้ง เราจำได้ดีว่าช่วงเวลานี้ในเดือนนี้ เกิดอะไรขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

บรรยากาศต่างๆ ที่คอยย้ำเตือนให้เราคิดถึงความสูญเสีย พระองค์ท่านที่จากไปในช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว แม้จะไม่ได้มีคำพูดใดๆ แต่ทุกคนก็เข้าใจได้ดีถึงความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ข้างใน

Advertisement

พวกเราทุกคนที่ยังคงอยู่ตรงนี้ยังรู้สึกได้ดีถึงความเศร้า ความคิดถึง ความทรงจำที่ได้พบเห็นพระองค์ท่านในชีวิตที่ผ่านมา บางครั้งความรู้สึกต่างๆ ก็ถาโถมเข้ามาอย่างห้ามไม่ได้

ปฏิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพวกเราคนไทยในช่วงนี้ เรียกว่า Anniversary reactions ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติในช่วงเวลาของการครบรอบเหตุการณ์ของความสูญเสียบุคคลที่เรารัก

ไม่ใช่แต่คุณยายเท่านั้น หมอเองก็เป็นเหมือนกัน โพสต์นี้หมอจึงตั้งใจเขียนสำหรับตัวเองและทุกๆ คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อวันครบรอบความสูญเสียของเราใกล้จะมาถึง พวกเราจะจัดการและผ่านไปได้อย่างไร
หมอจะเขียนเป็นข้อๆ เพื่อให้อ่านได้ง่าย

1.ตระหนักว่าอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เป็นธรรมชาติและธรรมดา มากกว่าจะไปคร่ำครวญและถึงกับฟุ้งไปกับอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้น

เตรียมใจไว้เลยว่าช่วงเวลาเช่นนี้ต้องมีความรู้สึกแบบนี้ บอกตัวเองว่า “ยิ่งใกล้จะถึงวันครบรอบ ฉันจะมีความรู้สึกเศร้า/เครียด/โดดเดี่ยว/เหงาและเปล่าเปลี่ยว/อารมณ์แปรปรวนได้ มันเป็นธรรมดา แล้วเดี๋ยวฉันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป”

2.คนรอบข้างบางทีก็จะเป็นเหมือนกับเรา ให้พยายามเข้าใจเขา (บางทีถ้าเขาดูเศร้าดูเงียบไปก็ให้เข้าใจว่ามันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้) บอกให้เขาเข้าใจตัวเราด้วย ควรจะดูแลกันและกัน แล้วก็จะผ่านไปได้

3.พยายามหาสิ่งที่จะทำเพื่อเป็นการดูแลจิตใจและความรู้สึกของตัวเอง ยิ่งอยู่เฉยๆ คิดไปเรื่อยๆ ฟุ้งอยู่กับอารมณ์ของตัวเองก็จะยิ่งเครียด ลองหางานอดิเรกหรืออะไรที่ทำแล้วสบายใจ
เช่น วางแผนในการทำกิจกรรมอะไรก็ได้เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน อาจจะไปทำกิจกรรมจิตอาสา ไปดูสถานที่นิทรรศการที่เป็นการแสดงความรำลึกถึงพระองค์ท่าน
มีผู้อ่านเพจคนหนึ่งก็เศร้ามาก ใช้วิธีไม่เสพสื่อต่างๆ ไม่เปิดทีวี และพยายามไม่คิดถึง หยุดอ่านเพจของหมอด้วย (ซึ่งช่วงนี้เขียนเกี่ยวกับพระองค์ท่านค่อนข้างบ่อย) ปรากฏว่ายิ่งเครียด จริงๆ แล้วการยอมรับจะทำให้ผ่านไปได้มากกว่า อย่าไปปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองจนเกินไป อาจจะเสพสื่อให้น้อยลงแต่คงไม่ถึงกับไม่ดูไม่รับเลย
อย่างหมอเองตั้งใจว่าจะเขียนโพสต์ถึงพระองค์ท่านบ่อยหน่อยในช่วงนี้ เป็นการถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระองค์ ก็ทำให้สบายใจขึ้น

หวังว่าทุกคนจะร่วมกันใช้เวลานี้ถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระองค์พระองค์ท่าน ทำในสิ่งที่ดีตามที่พระองค์ท่านทรงสอนเรา รับผิดชอบในหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและส่วนรวม ในที่สุดพวกเราก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความสูญเสียที่กลับเข้ามาเยี่ยมเยือนนี้ไปด้วยกัน

เก็บความทรงจำที่ดีไว้ในจิตใจ ใช้ชีวิตต่อไปด้วยความมั่นคง

 

#Anniversary_grief_ความรู้สึกมาเยือนอีกครั้งเมื่อใกล้วันครบรอบ"จะครบปีแล้วสินะ คิดถึงพระองค์ท่าน""คุณหมอคะ ยายนอนไม่…

โพสต์โดย เข็นเด็กขึ้นภูเขา บน 9 ตุลาคม 2017

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image