สัญญะ การเมือง อ่านผ่าน “รัฐธรรมนูญ” สัญญาณ เลือกตั้ง

พลันที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์

สัมผัสได้จาก “ปฏิกิริยา” หงุดหงิด

เป็นความหงุดหงิดจากโฆษกระดับ “พล.ท.” เป็นความหงุดหงิดจากโฆษกระดับ “พ.อ.” เป็นความหงุดหงิดจากคุณห้อย คุณโหนบางคนใน “สนช.”

“การเลือกตั้งไม่ใช่การเลื่อนหรือไม่เลื่อน ไม่ใช่การขยับวันเลือกตั้ง”

Advertisement

“นักการเมืองต่างหากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองแล้วหรือยัง อย่าเสียจริต ขอให้รอหน่อย”

ความจริง ความสงสัย ความไม่แน่ใจของ “นักการเมือง” เป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติยิ่ง เนื่องจากพวกเขาถูกหลอกให้หลงมาแล้ว

จาก “ปฏิญญาโตเกียว” มายัง “ปฏิญญานิวยอร์ก”

Advertisement

หลอกให้หลงจากคำมั่นอันมาพร้อมกับเสียงเพลงกระหึ่มหลังรัฐประหาร “ขอเวลาอีกไม่นาน เราจะทำตามสัญญา”

กระนั้น หากศึกษาจากบทเรียนในทางประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ พลันที่มีการประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเลี่ยงหรือเลื่อน

ขอให้ดูจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511”

แม้ จอมพลถนอม กิตติขจร จะยื้อตาม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เรื่อยมาแต่ในที่สุดก็ต้องจัดการเลือกตั้ง

เลือกตั้งในปี 2512 หลังมีรัฐธรรมนูญเพียง 1 ปี

หรือกระทั่งหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 รัฐบาล “หอย” เพ้อฝันจะครองอำนาจต่อเนื่องไปอย่างน้อย 12 ปี แต่อยู่ได้ไม่ครบ 1 ปี ก็ถูกรัฐประหารซ้ำ

หลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ในเดือนเมษายน 2522 ก็มีเลือกตั้ง

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็เป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็เป็นเช่นนี้

มีแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เท่านั้นที่ทำท่าจะ “ยาว”

ความเป็นจริงจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ความเป็นจริงจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ความเป็นจริงจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็น “บทเรียน” อย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่าสิ่งที่จะติดตามมาอย่างกระชั้นภายหลังประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” ก็คือสัญญาณแห่ง “การเลือกตั้ง”

ยื้อจากปี 2559 มาจนถึงปี 2561 แต่ก็จำต้องสัญญาว่าจะต้องมีในปี 2562

อาการ “ยื้อ” อาการหงุดหงิดอย่างที่บรรดาองคาพยพแห่งขบวนการรัฐประหารสำแดงออกเป็นอาการที่ “นักการเมือง” เข้าใจ

แม้จะมีการวาง “มาตรการ” เพื่อการสืบทอด “อำนาจ” ไว้รอบด้าน

แต่นักการเมืองซึ่งมากด้วยความจัดเจนสามารถคาดหมายได้ไม่ยากว่า ถึงจะได้สืบทอดอำนาจตามกลไกของ “รัฐธรรมนูญ” ก็ไม่เหมือนเดิม

วินาทีที่จะตามมาภายหลัง “การเลือกตั้ง” จึงเป็นวินาทีแห่งการนับถอยหลังในทางการเมืองและในทางอำนาจ

การประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” จึงเป็นสัญญาณแรกในทางการเมือง จากนั้นก็ตามมาติดๆ ด้วยกฎหมายลูกฉบับแล้วฉบับเล่า

ที่จะเห็นแน่นอนในเดือนพฤศจิกายน คือการปลดล็อก

เป็นการปลดล็อกให้พรรคการเมือง เป็นการปลดล็อกให้นักการเมือง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญและของกฎหมายลูก

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะยื้อ อยากเป็นอย่างยิ่งที่จะขวาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image