คร.จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้องขาย ‘เบียร์สดผ่านเครื่องกด’ ร้านสะดวกซื้อ เอ็นจีโอจี้แก้กม.

แฟ้มภาพ

หลังจากอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พิจารณาและมีมติเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อกรณีการขายเบียร์สดด้วยเครื่องกดว่า ผิดตามกฎหมาย 2 มาตรา คือ เข้าข่ายเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติตามมาตรา 30 (1) และยังเข้าข่ายเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม  นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิด จะรวบรวมและส่งเรื่องมาที่สำนักงานฯ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมฯ โดยจะเชิญผู้ทีเกี่ยวข้องมาสอบถามเพิ่มเติมและดำเนินการตามขั้นตอนทางคดีต่อไป  ซึ่งต้องไปดูตามหลักฐานอีกทีว่าจะเชิญใครบ้าง อย่างไรก็ตามในความผิดเบื้องต้นกรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องอัตโนมัติตามมาตรา 30(1) ปรับ 20,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี ส่วนความผิดมาตรา 32 เรื่องการโฆษณานั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุก 1 ปี หากรับผิดแต่ไม่ดำเนินการแก้ไขก็จะมีโทษปรับรายวันอีก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอการจำแนกว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มเติมและเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานหรือไม่ นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า จะเสนอเรื่องให้ทางคณะกรรมการฯรับทราบ ส่วนจะปรับแก้กฎหมายหรือไม่อย่างไรต้องพิจารณาก่อน  แต่ในส่วนที่เครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอให้มีการออกอนุบัญญัติเพื่อกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเครื่องกดในร้านสะดวกซื้อ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า  กรณีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 (6) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรืออนุบัญญัติตามพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551            เพื่อพิจารณายกร่างและเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป

“ขอยืนยันว่า กรมควบคุมโรค ไม่สนับสนุนให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่อื่นๆ เช่นเดียวกันกับการขายแบบเครื่องกดดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคก็ได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ตระหนักถึงพิษภัยที่เป็นปัญหากระทบทางด้านสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย หากประชาชนพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายขอให้ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3342 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.นิพนธ์ กล่าว

Advertisement

ด้าน  นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา  กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯรู้สึกขอบคุณและพอใจกับการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ  รวมทั้งการแสดงออกของทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น รวมไปถึงแฟมิลี่มาร์ท ที่ออกแถลงการณ์มาแสดงจุดยืนยุติการติดตั้งเครื่องจำหน่ายเบียร์สด  ซึ่งถือว่ารับฟังเสียงประชาชน สำหรับผลการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ที่ออกมานั้น ถือว่าพอใจตรงมีท่าทีในเรื่องการดำเนินคดีกับร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากแม้จะยุติการทดลองจำหน่าย แต่ก็ถือว่ามีความผิดในแง่ของการโฆษณา และการติดตั้งเครื่องกดที่เข้าข่ายเป็นเครื่องอัตโนมัติ แต่ต้องติดตามต่อไปว่า ในระยะยาวจะมีมาตรการในการป้องกันการเข้าถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นับวันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆได้อย่างไร

“ทางเครือข่ายฯได้ขอให้มีการปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการกำหนดวิธีการขายและพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะยาว ในเรื่องของการควบคุมวิธีการขายนั้น  แม้จะมีมาตรา 30 ในเรื่องการห้ามขายเครื่องอัตโนมัติ แต่ต้องมีเพิ่มเติมให้ชัดเจนพวกวิธีการขายเบียร์สดด้วย โดยเฉพาะในเรื่องพื้นที่เพิ่มเติม อย่างร้านสะดวกซื้อ ไม่ควรอนุญาตให้ขายเบียร์สดได้ นอกจากนี้  ทางเครือข่ายฯจะขอเข้าพบเพื่อหารือกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการขาย เพราะปัจจุบันอย่างร้านสะดวกซื้อจะมีใบอนุญาตขาย 3 ใบ คือขายปลีก ขายส่ง และใบอนุญาตขายเบียร์สด ซึ่งเรื่องเบียร์สด ก่อนจะอนุญาตควรต้องมีการพิจารณาเข้มงวดขึ้น โดยควรทำคล้ายๆร้านเหล้าจะขออนุญาตขาย โดยจะพิจารณาว่าเป็นเขตโซนนิ่ง ใกล้วัด ใกล้โรงเรียนหรือไม่ ซึ่งการขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อก็ต้องพิจารณาเช่นกัน ประกอบกับใบอนุญาตขายเบียร์สดถูกมากแค่ 500 บาท ซึ่งเพิ่มมาจากเดิมอยู่ที่ 200 บาท หากเป็นไปได้อยากให้มีการปรับเพิ่มขึ้น” นายคำรณ กล่าว และว่า โดยจะขอเข้าหารือในอีกประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาวจะเป็นช่วงที่เปิดลานเบียร์กันมาก ก็จะมีการขอหารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image