แยกตัว โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

กรณีแคว้นคาตาโลเนีย หรือกาตาลุญญา ต้องการแยกเอกราชจากสเปนเป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาเป็นพิเศษ เพราะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยและเป็นยักษ์ใหญ่ประเทศหนึ่งของยุโรป

ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่ความต้องการแยกด้วยขบวนการติดอาวุธ หรือถูกกดขี่จนเกิดการลุกฮือของประชาชนต่อต้าน

แต่เพราะคาตาโลเนียที่มีนครบาร์เซโลนาเป็นเมืองเอกนั้นรวยมาก เป็นภูมิภาครวยที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังโด่งดัง เพียบพร้อมทั้งอุตสาหกรรม นวัตกรรม และการท่องเที่ยว

จากข้อมูลที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอยู่ตอนนี้ คาตาโลเนียครองสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของสเปนอยู่ถึงร้อยละ 19

Advertisement

ยิ่งถ้ามองความยิ่งใหญ่ของสโมสรฟุตบอล จะยิ่งเห็นความยิ่งใหญ่ที่กินกันไม่ลงกับทีมเมืองหลวง คือถ้าไม่มีบาร์เซโลนาแล้ว เรอัล มาดริดจะไปหาคู่แข่งที่ไหนที่เทียบเคียงกันได้ไม่มี

แม้ว่าความพยายามแยกตัวของคาตาโลเนียครั้งล่าสุดนี้จะดูวุ่นวายและสะท้านสะเทือนไปทั่วยุโรป แต่อย่างน้อยกระบวนการต่างๆ ยังเป็นไปในแนวสันติวิธี จะมีปะทะกันบ้างก็ไม่ได้ถึงกับเลยเถิดไปยิงคนตายกลางเมือง

หากเป็นการต่อสู้กันทางกฎหมายที่อาศัยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าการจัดประชามตินี้ทำไม่ได้ ไปจนถึงสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ที่มีคำประกาศถอนสำนักงานใหญ่ออกจากนครบาร์เซโลนา

Advertisement

ส่วนมาตรการที่รุนแรงขึ้นไปอีก เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางเข้ายึดการบริหารงบประมาณและหน่วยงานด้านความมั่นคง และเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปปิดล้อมคูหาลงคะแนนเสียง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏแล้วต่อชาวสเปนและชาวโลกคือผลการลงประชามติที่ประชาชนในแคว้นฝ่าด่านออกไปลงคะแนนครั้งนี้ร้อยละ 42.3 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงราว 5.3 ล้านคน และร้อยละ 90 ของการออกเสียงนั้นคือการสนับสนุนให้แคว้นแยกตัวเป็นเอกราช

หลังจากเมื่อปี 2557 เคยฝืนจัดประชามติอย่างไม่เป็นทางการมาแล้ว และพบว่าร้อยละ 80 ของผู้มาใช้สิทธิเห็นว่าควรจะแยกตัวออกมา

เสียงที่ว่านี้อาจไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็เป็นเสียงที่รัฐบาลสเปนจะทำเป็นไม่ได้ยินก็ไม่ได้

จากนี้ไปจึงเชื่อว่านอกจากความพยายามต้านทานคาตาโลเนียแยกตัวออกไปแล้ว สเปนคงต้องปรับวิธีที่จะผสานแผลรอยร้าวนี้อย่างจริงจัง

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็ต้องเร่งทบทวนวิธีการดูแลและจัดสรรผลประโยชน์ของดินแดนต่างๆ ในประเทศไม่ให้เกิดกระแสแยกตัวแบบนี้ เหมือนกับที่สหราชอาณาจักรเคยต้องให้สัญญามากมายกับสกอตแลนด์ หลังการจัดประชามติที่ยอมไม่แยกจากอังกฤษ เมื่อปี 2557 หรือกรณีที่เยอรมนีพยายามดูแลให้แคว้นบาวาเรียพอใจในการอยู่ร่วมเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ

การแก้ปัญหาทางการเมืองแบบนี้เป็นหนทางที่ผ่านประวัติศาสตร์การสู้รบมาแล้วในอดีต จนได้คำตอบว่าการใช้กำลังทหารนั้นไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย กลับต้องซื้ออาวุธและทุ่มงบประมาณส่งกำลังพลเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุดเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ

อีกทั้งทำให้รอยร้าวนั้นแยกหนักไปกว่าเดิม

…………………..

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image