“เกษตรฯ”ยัน”กทม.-ปริมณฑล”ไม่ได้รับผลกระทบน้ำเหนือ-เหตุน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยายังคุมได้ไม่สูงเท่าปี54

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยสั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระบบชลประทานตลอดเวลา บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด วางแผนการจัดจราจรน้ำ โดยพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วย และที่สำคัญ คือ การบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่การแจ้งเตือนประชาชน ติดตามสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ อยู่ในพื้นที่ให้สามารถช่วยเหลือได้ทันที

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2560 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,478 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 79% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 10,108 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 35,659 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 69% สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,740 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 18,497 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 74%ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,052 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,801 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,394 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ บางพระ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา และกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80% – 100% จำนวน 168แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 167แห่ง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับสภาพน้ำที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอ.เมืองจ.นครสวรรค์อัตรา 2,528ลบ.ม./วินาทีต่ำกว่าตลิ่ง 1.97เมตร (ม.)โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,188ลบ.ม./วินาทีมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในปริมาณ 475 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 346ลบ.ม./วินาทีมาผ่านเขื่อนพระรามหก 501ลบ.ม./วินาที น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร 2,328ลบ.ม./วินาที โดยใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์จ.สมุทรปราการช่วยระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ผ่าน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ น้อยกว่าปี 2554 มาก โดยเมื่อปี 2554 สูงสุด 4,686 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีคันกั้นน้ำที่สูงมาก สามารถป้องกันน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งได้ จะท่วมเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คือ พื้นที่ระหว่างแม่น้ำกับคันกั้นน้ำ ส่วนพื้นที่ในคันกั้นน้ำไม่ท่วม ดังนั้น ยืนยันว่าน้ำจำนวนนี้จะไม่มีผลกระทบกับ กรุงเทพและปริมณฑล

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมในอัตราสูงสุดประมาณ 3,100 ลบ.ม./วินาทีในวันที่ 15ตุลาคม 2560 ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวกรมฯจะบริหารจัดการน้ำโดยใช้พื้นที่ว่างบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้รวมทั้งรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งแต่เนื่องจากพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีฝนตกเต็มพื้นที่เช่นกันส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งด้วยทำให้สามารถรับน้ำเข้าไปได้เพียง 474ลบ.ม/วินาทีจากปริมาณน้ำสูงสุดที่รับได้ 700 ลบ.ม./วินาทีจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาทีจะค่อยๆทยอยเพิ่มการระบายตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอัตรา 2,600 ลบ.ม./วินาทีและต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.80 – 1.20 เมตรแต่ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำประมาณ 0.50 -2.0 เมตร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากรมชลประทานได้ควบคุมการปิด – เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

Advertisement

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะที่ลุ่มน้ำป่าสักที่คาดว่าปริมาณฝนที่ตกหนักช่วงนี้จะส่งผลให้น้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตามไปด้วย เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม กรมฯมีความจำเป็นที่ต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 25 ล้านลบ.ม.เป็นวันละ 30 ล้านลบ.ม. ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกให้อยู่ในเกณฑ์ 550 – 600 ลบ.ม.ต่อวินาทีส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยาจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาอ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 – 30 ซม. ซึ่งกรมฯได้รายงานสถานการณ์น้ำไปยังจ.พระนครศรีอยุธยา ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดหากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มอีกเนื่องมาจากมีฝนตกลงมาเพิ่มกรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆต่อไป

“ปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 อย่างแน่นอน เนื่องจากปี 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจ.นครสวรรค์ สูงถึง 4,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันยังอยู่ที่ 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่ำกว่าถึง 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึนในหลายพื้นที่ก็เกิดจากน้ำฝนในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากปรับหาน้ำหลากเข้าท่วม ซึ่งกรมฯจะพยายามรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ซึ่งในสัปดาห์นี้กรมฯจะพยายามเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมทั้งปริมาณน้ำทะเลที่หนุนสูง โดยระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลโดยตรง นอกจากนี้จะระบายเข้าพื้นที่แก้มลิงอีก 2 แห่งที่ยังระบายน้ำเข้าไปไม่เต็ม โดยยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 400 ล้านลบ.ม.”นายสมเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image