กู้วิกฤตการศึกษาไทยด้วยรูปแบบการศึกษา 50 : 50 พร้อมเผย Siam Innovation District

มีหลายคำถามที่หลายคนยังกังขาเกี่ยวกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่าการศึกษาไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน? คิดเห็นอย่างไรกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน? ล่าสุดในงาน TEDxChulalongkornU หนึ่งในงานทอล์คสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน ภายใต้แนวคิด Strive Forward : The World is Changing, Are You?” ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มากล่าวถึง จาก 2 หัวหอกหลักทางการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Learn Education

ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Learn Education คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ห้องเรียนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล หนึ่งในสปีคเกอร์ของงาน TEDxChulalongkornU ในหัวข้อ “การศึกษา 50 : 50” เผยว่า “ในอดีตคำขวัญวันเด็กที่เมื่อ 30 ปีก่อน จะเน้นปลูกฝังเรื่องของความรู้ คุณธรรม ความรักชาติ แต่มาในช่วง 10 ปีหลังที่คำขวัญวันเด็กจะเน้นเรื่องการเรียนรู้และเทคโนโลยี เมื่อโจทย์การสร้างคนเปลี่ยน ห้องเรียนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน แต่การศึกษาของไทยมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดอันดับการศึกษาไทยมักอยู่รั้งท้ายเสมอ จึงทำให้การศึกษาของไทยนั้นมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ รอด 50 : ไม่รอด 50 ซึ่งการศึกษาที่ดีจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นจากเด็กที่ไม่มีความสามารถ ให้สามารถดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้

ดังนั้นการศึกษาที่ดีจะต้องมีรูปแบบโครงสร้าง 50 : 50 เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก      โรงเรียน 50 : ครอบครัว 50 เพราะในยุคนี้การจะสร้างคนเก่งได้นั้นไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว 100% แต่ยังต้องอาศัยครอบครัวที่คอยให้การสนับสนุน ต่อมา ทักษะ 50 : ความรู้ 50 ในยุคการศึกษาศตวรรษที่ 21 ครูจะต้องพูดน้อยลง โดยให้ครูจากผู้ที่เคยบอก เปลี่ยนมาเป็นคนที่คอยกระตุ้นให้เด็กได้คิดและอยากเรียนรู้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและแสดงออก และสุดท้าย เทคโนโลยี 50 : ครู 50 ในส่วนนี้ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับสื่อการเรียนการสอนของครู โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ ทำให้เห็นถึงจุดแข็งของเด็กที่ควรต่อยอด หรือจุดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป แม้ว่าในบางประเทศจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหลักของการศึกษา แต่สำหรับประเทศไทยครูยังคงมีบทบาทเป็นส่วนที่สำคัญในห้องเรียน แต่ครูไม่สามารถเป็นฮีโร่คนเดียวได้ หากขาดแรงสนับสนุนต่างๆ ทั้งจากครอบครัว หรือเทคโนโลยี ฉะนั้นโครงสร้างการทางศึกษารูปแบบ 50: 50 จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มทางรอดของการศึกษาไทย เพื่อให้เด็กไทยและประเทศไทยสามารถ Strive Forward ไปด้วยกัน”

Advertisement

เมื่อการศึกษาพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อความคิดดีๆ เกิดขึ้นก็เหมือนเป็นการจุดพลุทางปัญญา แต่หากไม่มีเวทีหรือสถานที่ในการแสดงออก พลุทางความคิดนั้นก็ต้องดับมอดไป ศ.ดร.บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ผู้เล็งเห็นว่าความคิดที่สร้างสรรค์สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรม เผยในงาน TEDxChulalongkornU ในหัวข้อ “จุดพลุความคิด พิชิตนวัตกรรม” ว่า “เพราะนวัตกรรมคือผลิตผลจากความคิดสร้างสรรค์ โดยอาศัยประสบการณ์ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบรวมไว้ด้วยกัน หลายประเทศคาดหวังว่านวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เมื่อเรามีโจทย์ที่จะสร้างนวัตกรรม จะมีคนอยู่ 3 กลุ่มที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นสำเร็จได้ คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์, คนที่มีประสบการณ์ ที่จะเป็นเมนเทอร์คอยให้คำแนะนำ และคนสนับสนุน ที่จะนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปขายสู่ตลาด ดังนั้นจึงต้องมีสถานที่ที่จะรวมคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ไว้ด้วยกัน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง SID หรือ Siam Innovation District ขึ้น

SID จะเป็นศูนย์ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมออกไปสู่ตลาดทั้งในไทยและตลาดโลก โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดย SID จะประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Futurium พิพิธภัณฑ์ที่จะแสดงนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยจะแสดงนวัตกรรมทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก, Talent Building ที่จะสร้างคนที่มีจินตนาการ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยนำผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาบ่มเพาะแนวทางความคิด และ Industry Liaison กับ Market Place ที่จะเป็นตัวนำพาคนทุกส่วนมาพบกัน อย่างเช่นเมื่อมีนวัตกรรมเกิดขึ้น จะต้องมีการจดลิขสิทธิ์ การระดมทุน เป็นต้น หรือบริษัทที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม สามารถมาที่นี่ได้ เพราะ SID จะเป็นศูนย์รวมการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศ เป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง ซึ่ง SID กำลังจะเปิดในเดือนธันวาคมนี้ที่สยามสแควร์วัน”

Advertisement

จะเห็นได้ว่าเรื่องของการศึกษายังเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการผลักดันและสนับสนุน รวมทั้งยังต้องมีพื้นที่เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มความสามารถ  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือนวัตกรรม ล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญที่ไม่เพียงจะพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ยังสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อีกด้วย สามารถติดตามชมคลิปวิดีโอแบบเต็มๆ ของงาน TEDxChulalongkornU ย้อนหลังได้ ทาง Youtube พิมพ์คำว่า TEDxChulalongkornU  ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image