ตามรอยพระบาท ในหลวงร.9 กาแฟต้นประวัติศาสตร์

ในปี 2517 ในหลวงร.9 เสด็จทอดพระเนตรกาแฟต้นแรก

“มูลนิธิโครงการหลวง” เริ่มต้นด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น และตัดไม้ทำลายป่าบนยอดดอย พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างหนัก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว รวมถึงปศุสัตว์หลากชนิด ที่กลายเป็น “อาหารจากแผ่นดิน” คอยหล่อเลี้ยงราษฎรของพระองค์ให้เติบโตอย่างมั่นคงสืบไป

ศูนย์การค้าสยามพารากอน และมูลนิธิโครงการหลวงจึงน้อมนำเรื่องราว “อาหารจากแผ่นดิน” เป็นหัวใจในการจัดงาน “รอยัล โปรเจ็กต์ แอด สยามพารากอน” ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และถ่ายทอดเรื่องราวจากพื้นที่ต้นกำเนิดโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ ที่ล้วนแต่บรรจุความทรงจำเกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 เอาไว้มากมาย

นายพะโย่ ตาโร อายุ 76 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนองหล่ม อ.จอมทอง มีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จในหลวง ร.9 อย่างใกล้ชิด เล่าว่า เมื่อปี 2517 เขายังคงปลูกฝิ่นเพื่อเลี้ยงชีพ และมีคณะของ UN นำต้นกาแฟมาแจกให้ชาวบ้าน พ่อตาของเขาจึงไปรับมาปลูกซึ่งในขณะนั้นมีเพียง 2-3 ต้น หลังจากทราบข่าวว่าในหลวง ร.9 จะเสด็จฯ จึงนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปทูลเกล้าฯ ถวาย พอพระองค์ทอดพระเนตรเห็น ได้ตรัสถามกลับว่า “มีต้นกาแฟด้วยหรือ อยากมาเยี่ยมชม” แต่ทุกคนไม่อยากให้พระองค์เสด็จฯ เพราะเส้นทางลำบากมาก

“พระองค์ยังคงเสด็จฯไปทอดพระเนตรต้นกาแฟ ด้วยการเดินเท้าระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เมื่อเสด็จฯถึงก็เป็นช่วงเวลาค่ำแล้ว พระองค์ตรัสถามว่า มีสภาพเป็นอยู่กันอย่างไร ได้ตอบไปว่า ทำมาหากินกันด้วยการปลูกฝิ่น ปลูกผัก และเลี้ยงวัวควาย แต่มันไม่มีราคา ในหลวง ร.9 จึงตรัสว่าจะช่วย และสัญญาว่าจะกลับมาอีกครั้ง”

Advertisement

จากนั้นพระองค์เสด็จฯกลับมาอีกครั้งในปี 2518 พระราชทานวัว 2 ตัว และเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงส่งเสริมให้ปลูกกาแฟแทนฝิ่น ทั้งยังนำหน่วยแพทย์มาตรวจรักษาชาวบ้าน โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตามเสด็จมาพระราชทานผ้าห่มด้วย

ในปี 2518 ในหลวงร.9 เสด็จมาทอดพระเนตรการดำเนินงานและพระราชทานสิ่งของเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน

“รักในหลวง ร.9 มาก คิดถึง ถ้าไม่มีพระองค์ความเป็นอยู่ก็คงลำบากกว่านี้ เสื้อผ้าลุงมีชุดเดียว ซักแล้วต้องผิงไฟ แล้วนำกลับมาใส่ บ้านก็มุงหลังคา แต่ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมาก ลูกหลานก็เรียนจบ มีอนาคต” พะโย่กล่าวน้ำตาคลอ

Advertisement
พะโย่ ตาโร

ทั้งนี้ ต้นกาแฟต้นนั้นจึงกลายเป็นต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่ในหลวง ร.9 เสด็จฯมาทอดพระเนตรถึงสองครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟอาราบิก้าจากยอดดอย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กาแฟโครงการหลวง”

กาแฟต้นประวัติศาสตร์ (ปัจจุบัน)
กาแฟอาราบิก้า

นายจักรพันธุ์ จันทาสี อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เผยว่า สำหรับกาแฟอาราบิก้าที่ชาวบ้านปลูก โครงการหลวงรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยมีผลผลิตประมาณ 400-500 ตันต่อปี ทั้งนี้ ชาวบ้านสามารถคั่วเมล็ดกาแฟและออกแบบผลิตภัณฑ์ขายเองได้ด้วย

โดยโครงการหลวงจะรับซื้อเฉพาะ “กาแฟกะลา” คือเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ได้คั่ว นอกจากนี้เมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงที่มารับซื้อจากชาวบ้านได้ส่งขายให้ร้านกาแฟชื่อดังหลายร้าน เช่น สตาร์บัค อเมซอน เป็นต้น ซึ่งความหอมและรสชาติจะแตกต่างกันไปตามกรรมวิธีการคั่วกาแฟของแต่ละร้าน

จักรพันธุ์ จันทาสี

ด้าน นายโยแส่ กิจจรูญชัย อายุ 58 ปี เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและเจ้าของร้านกาแฟสด บ้านแม่กลางหลวง อ.จอมทอง เผยว่า ความเป็นอยู่ของสมัยก่อนลำบากมาก ข้าวแทบไม่มีกิน ในหลวง ร.9 เสด็จฯมาพระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเขาเคยตามเสด็จฯประมาณ 6 ครั้ง จากที่พระองค์เสด็จฯมายังดอยอินทนนท์ทั้งหมด 13 ครั้ง

ร้านกาแฟสด แม่กลางหลวง ของ โยแส่ กิจจรูญชัย
โยแส่ กิจจรูญชัย
ภรรยาของ โยแส่ กิจจรูญชัย – ชงกาแฟขายลูกค้า
กาแฟร้านกาแฟสด แม่กลางหลวง

“มองดูไกลๆ เหมือนว่าพระองค์ทรงเดินช้า แต่จริงๆ แล้วพระองค์ทรงเดินไว ชาวบ้านต้องวิ่งตาม และทุกๆ 500 เมตร พระองค์จะทรงหยุดทอดพระเนตรเพื่อดูแผนที่ ในพระหัตถ์ของพระองค์จะมีกล้องและสมุดไว้จดตลอด” นายโยแส่กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากกาแฟอาราบิก้าแล้ว “อาหารจากแผ่นดิน” ภายใต้การส่งเสริมของโครงการหลวงยังมีอีกมากมาย ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอก และปศุสัตว์ด้วย อาทิ มะเดื่อฝรั่งหรือฟิก ผลไม้จากต่างประเทศอีกชนิดหนึ่งที่ในหลวง ร.9 โปรดเสวย ท้อหรือพีช ที่เป็นพืชกำเนิดโครงการหลวง สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานพันธุ์ 80 ซึ่งวิจัยสำเร็จในปี 2550 ตรงกับปีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเพราะมีรสชาติหวาน กรอบ และมีกลิ่นหอม เป็นต้น

มะเดื่อฝรั่งหรือฟิก ผลไม้จากต่างประเทศอีกชนิดหนึ่งที่ในหลวง ร.9 โปรดเสวย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image