ประกาศ เลือกตั้ง พฤศจิกา 61 และปฏิกิริยาตลาดหุ้น

หลังเป็นข่าวงุนงงสับสนมาร่วมสัปดาห์

ที่สุดกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ก็มี “ข้อมูลใหม่” ที่กระจ่างชัดกว่าเดิม

เริ่มจากคำแถลงร่วมของรัฐบาลไทย-สหรัฐ

Advertisement

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางไปเยือน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ที่มีข้อความตอนหนึ่งในข้อที่ 8 ของแถลงการณ์ดังกล่าวว่า

รัฐบาลไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปี 2561

Advertisement

แต่การขยายความโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คือ

การประกาศว่าจะเลือกตั้งในวันใดจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

จากนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังกฎหมายกำหนด

อันหมายถึงการเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างช้าที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2562

แล้วอะไรคือข้อเท็จจริง

10 ตุลาคม หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี และ คสช.

พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ที่ประชุมรับทราบการประกาศใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน โดยจะพิจารณาห้วงเวลาในการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสม เพื่อผ่อนคลายในสิ่งที่จำเป็น

“และในส่วนตรงนี้พูดได้ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง

และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง

ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง อยู่ในความสงบ

ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การที่ประกาศวันเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นไปตามกำหนดเวลาของโรดแมปใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า

ใช่ ก็ผมบอกแล้วไงว่าจะเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

รับสนองเป็นปี่เป็นขลุ่ยทันทีทันควันในวันเดียวกัน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงถึงกำหนดเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า

จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า

ตามกำหนดแล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้ สนช.ภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

ซึ่งสองฉบับสุดท้ายคือ ร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.จะส่งมาให้ สนช.วันที่ 21 พฤศจิกายน

และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ส่งมาวันที่ 28 พฤศจิกายน

โดย สนช.มีเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเนื้อหาทั้งสองฉบับที่ กรธ.ส่งมาว่าเป็นอย่างไร

และยังไม่ทราบว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะเห็นต่างจาก กรธ.หรือไม่

จะมีการตั้ง กมธ.ร่วมทบทวนหรือไม่

หรือจะมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

นพ.เจตน์กล่าวว่า แม้จะมีการตั้ง กมธ.ร่วม หรือส่งตีความ กำหนดการเลือกตั้งก็จะไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่นายกฯระบุ

ส่วนวันเวลาการเลือกตั้งจะกำหนดได้แน่ชัดเมื่อใดนั้น ต้องรอกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จจึงจะรู้ว่าจะเลือกตั้งได้

เมื่อใด เพราะต้องบวกเวลาอีก 150 วัน

เมื่อถามว่า สนช.จะมีการคว่ำร่างกฎหมายลูกเพื่อยื้อเวลาหรือไม่ นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจะคว่ำด้วยสาเหตุใด ต้องมีเหตุผล

“ดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้น”

ถามว่าปฏิกิริยาจากสังคมเป็นอย่างไร

ในสายการเมือง ความเห็นที่แสดงออกในโลกเสมือนกัน ยังระแวดระวังอยู่มาก

เพราะกำหนดวันเลือกตั้งที่รัฐบาลเคยประกาศนั้น

เลื่อนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง

จากปี 2558 เป็นปี 2559 และ 2560

แต่หากพิจารณาจากปฏิกิริยาตอบรับด้านเศรษฐกิจ

ที่มีดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวชี้วัด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันที่ 10 ตุลาคม มีความพยายามปรับตัวขึ้นทำ New high อีกครั้ง

หลังข่าวนายกรัฐมนตรีประกาศช่วงเวลาเลือกตั้งภายในปีหน้า ทำให้ตลาดตอบสนองในเชิงบวก

ดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 1,700 จุด ได้ในท้ายที่สุด และปิดที่ระดับ 1,706.95

เพิ่มขึ้น 14.73 จุด มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 81,464.26 ล้านบาท

มาถึงวันที่ 11 ตุลาคม

ณ เวลา 16.10 น. ดัชนีราคาตลาดหุ้น

ยังขยับขึ้นมาอีก 5.99 จุด เป็น 1,712.94

ด้วยปริมาณการซื้อขายหนาแน่น 65,858.52 ล้านบาท

คงพอบอกได้บ้างว่า

“ตลาด” คิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image