‘608 ประติมากรรม’ งามล้ำ..ประดับ ‘พระเมรุมาศ’

 

นอกจากพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีความวิจิตรงดงาม เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ของพระเมรุมาศในครั้งนี้ มีความงดงามตระการตา ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้แก่พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9

“ประติมากรรม” ประดับพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะยึดตามโบราณราชประเพณี หลักไตรภูมิตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์แล้ว ยังมีความโดดเด่นตรงที่ประติมากรรมชิ้นต่างๆ โดยเฉพาะ “เทวดา” จะปั้นตามแบบศิลปะรัชกาลที่ 9 มีความคล้ายคลึงมนุษย์ มีกล้ามเนื้อ และแววตาเหมือนจริง แต่ตัดทอนรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ในบางส่วน เพื่อให้เข้าสู่ความเป็นอุดมคติตามหลักเทวนิยม โดยศึกษาต้นแบบมาจากงานของ พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ชัย) ศิลปินเอกในรัชกาลที่ 5-7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และ พระพรหมพิจิตร บรมครูทางด้านศิลป สถาปัตยกรรมไทย

ประติมากรรมครั้งมีขนาดใหญ่ และมีจำนวนชิ้นประติมากรรมถึง 608 ชิ้น มากกว่าทุกครั้ง ส่วนใหญ่หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส และบางส่วนเป็นปูนปลาสเตอร์ โดยนับตั้งแต่ชั้นชาลาที่ 3 ลงมา จะประดับด้วยประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล เทวดา ครุฑ ราชสีห์ คชสีห์ นาคราวบันได สัตว์ประจำทิศ รอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำ และเขามอจำลอง ประดับสัตว์หิมพานต์ต่างๆ โดยการปั้นประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกซึ่งไม่เคยปรากฏในงานพระเมรุมาก่อน

Advertisement

สำหรับประติมากรรมปั้นลวดลาย และหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ แบ่งเป็น 15 ประเภท ได้แก่

1.ประติมากรรมนูนต่ำพระโพธิสัตว์ ความสูงประมาณ 1 ฟุต อยู่บนบรรพแถลงบนชั้นเชิงกลอนชั้นที่ 7 บริเวณปากองค์ระฆัง

2.เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ เป็นเทวดาเชิญฉัตร ประดับรอบชั้นที่ 3 บริเวณบันไดนาคทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ รวม 8 องค์ สื่อความหมายว่าเทวดามารับเสด็จในวาระที่เสด็จกลับสู่ทิพยสถาน

3.เทวดานั่งรอบพระเมรุ เป็นเทวดาเชิญพุ่มโลหะ และเชิญบังแทรกนั่งรอบพระเมรุ 32 องค์ จำแนกเป็น เทวดานั่งคุกเข่าเชิญพุ่มโลหะ 8 องค์ ประดับอยู่ชั้นชาลาที่ 3 และเทวดานั่งคุกเข่าเชิญบังแทรก 24 องค์ ประดับอยู่ชั้นชาลาที่ 1 และชั้นที่ 2 ในบริเวณมุมพระเมรุมาศ และบันไดทางขึ้น โดยเทวดานั่งคุกเข่าเชิญบังแทรกในชั้นชาลาที่ 1 สวมมงกุฎยอดน้ำเต้า ตาเหลือบลง ส่วนชั้นชาลาที่ 2 เทวดาสวมมงกุฎยอดชัย ตามองตรง

4.พระพิฆเนศ มี 2 องค์ คือ พระพิเนก และพระพินาย กายเป็นมนุษย์ เศียรเป็นช้าง มี 4 กร พระพิเนกมีงาขวา พระพินายมีงาซ้าย โดยพระพิเนก และพระพินายมีกายสูงใหญ่ ประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน ทรงเทพศาสตราวุธแตกต่างกันเล็กน้อย โดยพระพิเนก ถือดอกบัวตูม ถือสังข์ อีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทรา(ประทานพร)และท่าอภัยมุทรา(ประทานอภัย) ส่วนพระพินาย ถือขอช้างอังกุศ ถือบาศ(เชือกบาศ) และอีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทราและและอภัยมุทรา

พระพิฆเนศ (พระพินาย)
พระพิฆเนศ(พระพิเนก)

5.ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ ความสูง 2 เมตร ประดับอยู่บนชั้นชาลาที่ 2 บริเวณสะพานเกรินทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก อย่างละ 1 คู่ รวม 6 องค์ ครุฑยืนทั้ง 2 องค์ แตกต่างตรงที่องค์หนึ่งมีรูปกายเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนกอินทรี ขาเป็นมนุษย์ หางเป็นพญานาค ปีกนกลู่ลง บริเวณลำคอประดับสังวาลย์นาค มือถือดอกบัวถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ส่วนอีกองค์ รูปกายเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนกอินทรี แต่ขาเป็นนก ช่วงแขนลู่ลงเพื่อแสดงถึงความเคารพ และรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 สู่สรวงสวรรค์ ปีกสยายประดับลวดลายเครื่องทรงของพญานาค สื่อถึงความเชื่อมโยงโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกบาดาล

6.ท้าวจตุโลกบาล ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก ความสูง 2 เมตร อยู่ชั้นชาลาที่ 2 ประจำทิศทั้ง 4 ของพระเมรุมาศ สื่อความหมายเทวดาที่รักษาทุกข์สุขของมนุษย์โลกไว้ทั้ง 4 ทิศ และทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลก

7.เทพนม ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน ประกอบด้วย “เทพนมนั่งส้น” 28 องค์ และ “เทพนมแกะไม้กลีบลายพระโกศ” 56 องค์ และขนาดใหญ่ 24 องค์

8.ครุฑยุดนาค ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน 28 องค์

9.เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง ประกอบด้วย “เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ” 24 แบบ 132 องค์ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ครุฑพนมนั่งราบยอดน้ำเต้า 16 องค์, เทวดาพนมนั่งราบ 32 องค์, พานรพนมนั่งราบ 20 องค์ และยักษ์พนมนั่งราบ 64 องค์ ถือเป็นการรวมเหล่าทวยเทพที่มีความหลากหลายที่สุดที่เคยมีมา สื่อถึงเหล่าองค์เทพต่างๆ เฝ้ารอรับเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

10.ราวบันไดนาค 1 เศียร นาค 3 เศียร นาค 5 เศียร และนาค 7 เศียร โดยบันไดนาคชั้นชาลาที่ 1 นาคเศียรเดียว บันไดนาคชั้นชาลาที่ 2 “เหราพต” เป็นนาค 3 เศียร บันไดนาคชั้นชาลาที่ 3 นาคทรงเครื่อง 5 เศียร พญาวาสุกรีนาคราช บันไดนาคชั้นชาลาที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศองค์ประธาน ชั้นที่สำคัญที่สุด เป็นนาคนิรมิตพญาอนันตนาคราช มี 7 เศียร และชั้นสำซ่าง เป็นนาคเศียรเดียว 8 ตัว ออกแบบนาคโดยยึดปรัชญาธรรม ตัวพญานาคถูกมกรกลืนกินเข้าไป เปรียบชีวิตที่ถูกเวลากลืนกินทุกขณะ นับเป็นการสร้างราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่มีการสร้างราวบันไดนาคพระเมรุมาศ

11.คชสีห์-ราชสีห์ ประดับบันไดทางขึ้นในชั้นชาลาที่ 2 ทั้ง 4 ทิศ รวม 8 องค์ “คชสีห์” เป็นสัตว์หิมพานต์ ลำตัวเป็นราชสีห์ หัวเป็นช้าง เรียกว่าครึ่งช้างครึ่งราชสีห์ ส่วน “ราชสีห์” มี 2 ต้นแบบ โดยต้นแบบแรกมีลักษณะพิเศษตรงที่มีอัณฑะข้างเดียว และลิ้นดำ เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล และอายุยืน

12.สัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วยช้าง 1 คู่ ม้า 1 คู่ โค 1 คู่ และสิงห์ 1 คู่ ประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ยึดตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิตามคติศาสนาพุทธ ในเรื่องเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ และสระอโนดาต โดยเชื่อกันว่ามีหินก้อนหนึ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ หินก้อนนั้นมี 4 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วย หัวช้าง หัวม้า หัวโค และหัวสิงห์ ซึ่งมีน้ำพ่นออกมา เกิดเป็นปัญจมหานที หรือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย หล่อเลี้ยงชมพูทวีป (โลกมนุษย์) ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู

13.สัตว์หิมพานต์ สัตว์ที่ประดับตกแต่งรายรอบพระเมรุมาศตามคติเรื่องโลก และจักรวาล ซึ่งมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ โดยสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ ประกอบด้วย ช้าง 10 ตระกูล สิงห์ 4 ตระกูล ม้า 4 ตระกูล และโค 8 ตระกูล และสัตว์ผสม เกือบ 200 ชิ้นในสระอโนดาต ความโดดเด่นคือการออกแบบให้เป็นศิลปะร่วมสมัยประจำรัชกาลที่ 9 โดยนำลักษณะของ “งาอ้อมจักรวาล” ของพระเศวตอดุลยเดชพาหนซึ่งเป็นช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 9 มาใส่ในหมวดของ “อุโบสถ” ช้างทั้ง 30 เชือก ทำจากไฟเบอร์กลาส ส่วนสัตว์หิมพานต์ที่เป็นสิงห์ ม้า และโค มีจำนวนรวมกว่า 150 ชิ้น ในสระอโนดาตทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ นอกจากนี้ มีสัตว์หิมพานต์ที่เป็นสัตว์ผสมเพิ่มอีก 4 กลุ่ม

14.ครุฑประดับหัวเสา จำนวน 12 ชิ้น มีความพิเศษตรงที่โคมไฟเป็นครุฑ จากเดิมที่โคมไฟเป็นหงส์ เพื่อสื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 คือพระนารายณ์อวตารลงมา และมีครุฑเป็นพาหนะ โดยครุฑหัวเสามี 2 ขนาด ความสูง 1.75 เมตร จำนวน 4 ชิ้น ประดับอยู่ชั้นชาลาที่ 3 และขนาด 1.5 เมตร จำนวน 8 ชิ้น ประดับอยู่ชั้นชาลาที่ 2 และบางส่วนที่พระที่นั่งทรงธรรม ครุฑอยู่ในอิริยาบถกางแขน มือทั้งสองข้างจับนาค

และ 15.คุณทองแดง-คุณโจโฉคาบไปป์ สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 9 คุณทองแดง และคุณโจโฉ อยู่ในอริยาบถนั่งขนาบด้านซ้าย และด้านขวาของพระจิตกาธาน “คุณทองแดง” เป็นสุนัขเพศเมีย พันธุ์ไทย งานประติมากรรมจึงมีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ หรืออุดมคติ มีลักษณะนุ่มนวล เพื่อสื่อถึงความเป็นไทย ขณะที่ “คุณโจโฉ” เป็นสุนัขเพศผู้ พันธุ์เทศ งานประติมากรรมจึงมีลักษณะของศิลปะตะวันตก มีความเป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมา คุณโจโฉมีลักษณะเด่นตรงที่คาบไปป์

ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นับว่าสวยสดงดงาม มีความพิเศษ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image