อาณานิคมในมิวเซียม : British Museum ลบภาพเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ

บริติช มิวเซียม ในปัจจุบัน (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/British_Museum#/media/File:British_Museum_from_NE_2.JPG)

“เราต้องคำนึงถึงโลกทั้งใบ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงยุโรปเท่านั้น”

ฮาร์ตวิก ฟิสเชอร์ (Hartwig Fischer) ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของบริติช มิวเซียม (British Museum) เพิ่งจะตอบสัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์เกี่ยวกับศิลปะชื่อดังที่ชื่อ The Art Newspaper เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมานี้

บริติช มิวเซียม เป็นหนึ่งในมิวเซียมอันดับต้นๆ ของโลก ที่ทั้งเก่าแก่และมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เมื่อขยับตัวก็ย่อมสะท้อนให้เห็นทิศทางของมิวเซียมต่างๆ ในโลกที่ปรับเปลี่ยนไป

‘บริติช มิวเซียม’ คืออะไร?

บริติช มิวเซียม ตั้งอยู่ในเขตบลูมส์บิวรี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อตั้ง พ.ศ. 2296 (ตรงกับยุคอยุธยาช่วงแผ่นดินพระบรมโกศ) เปิดบริการสาธารณะครั้งแรก วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2302 (ตรงกับต้นแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนกรุงแตก 8 ปี)

Advertisement

ช่วงแรกที่บริติช มิวเซียมเปิดบริการเป็นสาธารณะ ได้เพิ่มเติมบรรดาข้าวของมีค่าและโบราณวัตถุต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่

สิ่งของต่างๆ ที่นักสำรวจชื่อดังของโลกอย่าง กัปตันเจมส์ คุก (James Cook, พ.ศ. 2271-2322) ได้มาจากทะเลใต้,

โบราณวัตถุ (และบางส่วนของโบราณสถาน) ของกรีก-โรมัน ซื้อจากเซอร์ วิลเลียม ฮามิลตัน (Sir William Hamilton, พ.ศ. 2273-2346) อดีตทูตชาวอังกฤษ ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องของการสะสมของกรีกและโรมัน ซึ่งเคยไปประจำอยู่ที่เมืองเนเปิลในประเทศอิตาลีปัจจุบัน

Advertisement

รวมไปถึงโบราณวัตถุจำนวนมากจากอียิปต์ และซูดาน ที่พวกอังกฤษไปได้มาจากสงครามที่เรียกกันว่า ‘ยุทธภูมิแห่งแม่น้ำไนล์’ ที่มีฝรั่งเศสเป็นคู่รบในช่วง พ.ศ. 2341

ปัจจุบันบริติช มิวเซียม มีคอลเล็กชั่นในครอบครองมากกว่า 13 ล้านชิ้น (ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งแทบจะทั้งหมด) และถือเป็นหนึ่งในมิวเซียมทางด้านประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก

จะทำอะไรในบริติช มิวเซียม?

ปรับเปลี่ยนการจัดแสดงโบราณและศิลปวัตถุในนิทรรศการถาวร (ไม่ต่ำกว่า 150 ปีแล้ว โดยไม่เคยปรับเปลี่ยนเลย) ของมิวเซียมให้เหมาะสมทั้งในแง่ของหมวดหมู่ในการจัดแสดง และเนื้อหาที่ไม่เน้นความคิดโบราณแบบที่ว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางของทั้งโลก (Eurocentric)

ถึงแม้ว่าฟิสเชอร์จะไม่พูดออกมาตรงๆ แต่การจัดแสดงแบบที่นิ่งสนิทมาตั้งแต่เมื่อ 150 ปีก่อนนี้ ก็สะท้อนให้เห็นอยู่แล้ว ดังนี้

การนำเอาของที่ถือว่าดี ถือว่าคลาสสิค อย่างของกรีก-โรมัน ที่มักจะถือกันว่าเป็นต้นกระแสธารของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมด ออกมาจัดแสดงให้มากเข้าไว้

ส่วนของอียิปต์และเมโสโปเมียนั้น ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการแสดงถึงอำนาจในการจัดการหนึ่งในอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา หมายถึงการประกาศศักดาเหนือดินแดนบริเวณที่มีอารยธรรมอียิปต์โบราณ และเมโสโปเตเมียเป็นใหญ่ อย่างดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามลำดับ

โบราณวัตถุของอียิปต์ที่ได้จากยุทธภูมิแม่น้ำไนล์ จัดแสดงใน British Museum เมื่อ พ.ศ. 2457 แสดงความเป็นชาติเจ้าอาณานิคม และการส่งเสริมลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษ (ภาพจาก https://i.pinimg.com/originals/ae/ec/08/aeec08619e7a4388846ea5bbae95f1cb.jpg)

ต้องไม่ลืมด้วยว่าทั้งสองภูมิภาคดังกล่าว ก็ถูกบรรดาชาติเจ้าอาณานิคมจากยุโรป รุมทึ้งแย้งชิงกันในสมัยอาณานิคมรุ่งเรือง (ตัวอย่างสำคัญก็คือมัมมี่ และโบราณวัตถุของอียิปต์จำนวนมหาศาล ที่พวกอังกฤษขนมาในคราวยุทธภูมิแห่งแม่น้ำไนล์) ซึ่งก็คือช่วงคาบเกี่ยวกับที่มีการจัดแสดงโบราณวัตถุเหล่านี้ในบริติช มิวเซียมนั่นเอง

อำนาจเหนืออารยธรรมเหล่านี้จึงเป็นคำเตือน และการแสดงความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนของอารยธรรมเหล่านั้นด้วยอะไรที่ในยุคสมัยนั้นเรียกว่า “ภารกิจของคนขาว” ไปโดยปริยาย

(ภารกิจของคนขาว มีที่มาจากแนวคิดในการมองผู้คนผิวสีอื่น ไม่ว่าจะเหลือง หรือดำ เป็นอนารยชนที่ยังไม่เจริญอย่างพวกของตนเอง พวกคนขาวจึงอ้างว่าการทำให้คนผิวสีอื่นมีอารยะด้วยการเข้าไปยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติและดินแดน รวมถึงทำการปกครองบุคคลเหล่านั้น เป็นภารกิจของพวกตนที่จะทำให้ผู้คนผิวสีอื่นมีอารยะขึ้น)

จัดแสดงวัฒนธรรมทั่วโลก

การลดจำนวนโบราณและศิลปวัตถุที่ถูกจัดแสดงอยู่ในมิวเซียมขณะนี้ จากจำนวนทั้งหมด 53,000 ชิ้น ให้เหลือเพียงแค่ราวๆ 49,000 ชิ้นนั้น จะช่วยให้บรรยายกาศในจัดแสดงปลอดโปร่ง (ฟิสเชอร์ใช้คำว่า มีออกซิเจนมากขึ้น)

แต่จุดประสงค์ที่ฟิสเชอร์ดูจะเน้นย้ำมากกว่า ว่าทำไมต้องลดจำนวนวัตถุที่จัดแสดงให้น้อยลงไปถึงราวๆ 4,000 ชิ้นนั้น เป็นเพราะว่าการกระทำอย่างนี้จะทำให้ทางมิวเซียมสามารถที่จะปรับสมดุลการจัดแสดงให้ครอบคลุมวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

โดยเขาอ้างถึงจำนวนข้าวของในวัฒนธรรมของแอฟริกา, โอเชียเนีย, ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ที่ไม่ได้ถูกใส่ใจมากนักมากก่อน ทั้งที่ก็มีโบราณและศิลปวัตถุเก็บเอาไว้ในคลังอยู่ให้อีกเพียบ

ห้องศูนย์กลางภายในอาคาร ปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2544 แล้วเป็นสัญลักษณ์ ของบริติช มิวเซียม ทุกวันนี้ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/British_Museum#/media/File:British_Museum_Great_Court,_London,_UK_-_Diliff.jpg)

ลบภาพเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ

ฟิสเชอร์ยังให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เขามองว่าจำเป็นต้องมีการจัดแสดงให้เห็นถึงความสำคัญมากกว่านี้ ในฐานะของส่วนสำคัญหนึ่งพัฒนาการของมนุษยชาติอีกด้วย

(แน่นอนว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นยังไม่มีชาติ จึงไม่ค่อยจำเป็นนักสำหรับสำหรับเจตนารมณ์ของอะไรบางอย่างที่ทำเพื่อชาติอย่างจุดประสงค์แต่แรกเริ่มของบริติช มิวเซียม)

ในแง่มุมหนึ่งจึงพอที่จะเรียกได้ว่า ฟิสเชอร์ ในฐานะผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ บริติช มิวเซียม พยายามลบภาพตกค้างในการเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งของอำนาจ แบบเจ้าอาณานิคมของมิวเซียมแห่งนี้ที่ตกค้างมาถึง 150 ปี

มิวเซียมเป็นแหล่งเรียนรู้

สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดสำหรับโปรเจ็กต์นี้ ก็คือการที่บริติช มิวเซียมจะเคลื่อนย้ายข้าวของในคลังเก็บโบราณวัตถุจำนวน 2,000,000 กว่าชิ้น ไปไว้ในย่านชานกรุงลอนดอน และจัดการให้เหมาะสำหรับการใช้เป็นสถานที่ทำการศึกษาวิจัยโบราณวัตถุเหล่านี้

โดยเปิดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถมาเข้าร่วมศึกษาได้ ไม่ใช่เก็บไว้ดูเองคนเดียวเงียบๆ ในคลัง และไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมอะไร เหมือนกับที่เป็นปัญหาอยู่ในหลายๆ มิวเซียมทั่วโลกที่มักจะเน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุ มากกว่าจะนำวัตถุเหล่านี้ไปจัดการให้เกิดความรู้ เพราะมีต้นแบบมาจากมิวเซียมเพื่อการสร้างความเป็นจักรวรรดินิยม หรือชาตินิยมแบบอาณานิคม อย่างเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายๆ แห่งในประเทศไทย

แน่นอนว่า โปรเจ็กต์ที่ว่าของบริติช มิวเซียมนั้นจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าประเทศต้องการจะใช้มิวเซียมเพื่อการเรียนรู้ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อ “โชว์ของ” ว่าชาติของตนเองมีความรุ่งเรืองอย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับของบทสัมภาษณ์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่บริติช มิวเซียมควรจะทำที่สุด ก็คือการคืนวิหารพาร์เธนอนให้แก่กรีซ และคืนมัมมี่กับโบราณวัตถุที่ปล้นไปจากอียิปต์คืนกลับมาตุภูมิต่างหาก

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : ในไทยโลกไม่หมุนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image