จิตวิวัฒน์ : จิตอาสาข้ามพรมแดน : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ภาพที่นำเสนอส่วนมาก คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดจากการเจรจาสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำหรือผู้แทนของแต่ละประเทศ ในระดับนโยบาย แต่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ยังมีมิติอื่นๆ อีกหรือไม่

จากการทำงานร่วมกันของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2559-2560 ในโครงการศึกษาคุณธรรมในอาเซียน : จิตอาสาในอาเซียนภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร พบว่าความร่วมมือที่สำคัญในอีกมิติหนึ่งของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน คือ มิติทางสังคม โดยคุณค่าร่วมที่เชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคนี้เข้าไว้ด้วยกัน คือความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน (Caring and Sharing) ผ่านกระบวนการเป็น “จิตอาสา” ของกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคม

เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนถึงการเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนจากงานจิตอาสา ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดงานประชุมนานาชาติ “ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณธรรมผ่านงานจิตอาสา : ASEAN Caring and Sharing Community” เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วยนักวิชาการ และผู้แทนองค์กรจิตอาสาในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เริ่มด้วยปาฐกถา “อยู่รอดและร่วมใจ : ความเอื้อเฟื้อและใส่ใจซึ่งกันและกันในประชาคมอาเซียน” โดย คุณวิจักขณ์ พานิช ที่นำเสนอมุมมองเรื่องจิตอาสาว่าเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ สึนามิในปี 2547 ที่สร้างความสะเทือนใจ เกิดความรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือ ร่วมรับรู้ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องศาสนา หรือเชื้อชาติ

Advertisement

จุดเริ่มของจิตอาสาจึงเกิดจากคุณค่าร่วมที่มีข้างใน เป็นสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ หัวใจของความเป็นมนุษย์ และคุณวิจักขณ์ได้ชวนผู้เข้าร่วมทดลองฝึกสมาธิแบบทิเบต ที่เรียกว่าทองเลน (Tonglen) และอธิบายถึงเป้าหมายในการฝึกว่า เป็นการฝึกรับความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาในใจ โดยเมื่อรับรู้และเข้าใจทุกข์ของคนอื่นแล้ว ความรู้สึกใส่ใจและแบ่งปันจะเพิ่มขึ้น

สิ่งสำคัญในการทำงานจิตอาสา คือ กระบวนการเผชิญอุปสรรคและปัญหาที่จะช่วยเพิ่มการเติบโตภายใน มากกว่าการคาดหวังความสำเร็จ เกิดพลังให้เข้าไปสัมผัสเพื่อนมนุษย์ เรียกว่า “Awaken human hearth” เป็นการทำงานเพื่อเข้าใจมนุษย์ และเชื่อมต่อกับคนอื่นด้วยความรู้สึกแบบเดียวกัน ไม่ได้ช่วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเติบโตไปพร้อมกัน ก้าวพ้นอคติ มายาคติ และความแตกต่างทั้งหลาย เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สิ่งสำคัญของการทำงานจิตอาสา คือการที่เราทำเพื่อผู้อื่นโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ จะทำให้เกิดความรู้สึกเอื้ออาทร (Caring) และแบ่งปัน (Sharing) อย่างแท้จริง การให้ต้องมากกว่าการให้เพราะเรียกร้อง การสร้างสังคมแห่งการให้จึงเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

หลังจากนั้น ผู้แทนขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านจิตอาสาในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็น “การส่งต่อวัฒนธรรมอาสาสมัครในภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งมีข้อเสนอในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการดังนี้

ระดับนโยบาย ควรส่งเสริมให้เกิดนโยบายด้านอาสาสมัคร โดยบูรณาการเสาหลัก 3 เสาของประชาคมอาเซียน คือ 1.ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และการสร้างเครือข่าย รวมทั้งการผลักดันเชิงนโยบายเรื่องการพัฒนางานอาสาสมัครในอาเซียน เช่น การสนับสนุน การส่งเสริมงานอาสาสมัครจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ การนำเสนอภาพความสำเร็จของงานอาสาสมัครในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อส่งต่องานอาสาสมัคร และประสบการ์ณงานอาสาสมัครไปยังคนรุ่นใหม่

ระดับปฏิบัติการ ผู้แทนจากองค์การด้านจิตอาสาจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การเชื่อมต่องานอาสาสมัครในระดับปฏิบัติการสามารถทำได้สะดวกกว่า เพราะแต่ละองค์กรมีทรัพยากรและเครือข่ายของตนเองที่สามารถดำเนินงานบางอย่างร่วมกันได้ทันที โดยการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับนี้ควรมีการพัฒนา หรือต่อยอดการทำงานในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.การสร้าง Platform หรือพื้นที่กลางในการเรียนรู้ และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือ เช่น การแลกเปลี่ยนการอบรมอาสาสมัคร การสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเอง

2.ควรมีโปรแกรมแลกเปลี่ยนงานอาสาสมัคร เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งจัดว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และสื่อสารไปยังภาครัฐ รวมถึงสร้างหุ้นส่วนในภาคธุรกิจ เพื่อร่วมผลักดัน

3.การสร้างและพัฒนาโมเดลการทำงาน รวมทั้งวิธีการ (Know-how) ในการดำเนินงานอาสาสมัครของแต่ละกลุ่มหรือองค์กร ซึ่งมีความแตกต่างกันไป และขับเคลื่อนกระบวนการต่อด้วยสถาบันการศึกษา

4.การกำหนดข้อตกลงร่วมในการทำงาน และการสร้างความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครในระดับอาเซียน

5.การดำเนินงานด้านอาสาสมัครต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของอาสาสมัครก่อนลงไปทำงานในพื้นที่ รวมทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การทำงานจิตอาสาระหว่างกัน

6.การลงไปทำงานอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ต้องไม่ลืมภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาสาสมัครและคนในพื้นที่

โดยสิ่งสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนเรื่องจิตอาสาร่วมกันระหว่างระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ คือการทำงานที่มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน

ช่วงท้ายของงานเป็นการสรุปประชุม “จิตอาสาด้วยจิตสำนึกอาเซียน” โดย ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของเวทีในครั้งนี้ว่า เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีความหมาย งานอาสาสมัครเป็นเรื่องที่ซับซ้อนตามบริบท เช่น การดำเนินงานของคลินิกแม่ตาว บริเวณชายแดนพม่า-ไทย อาจไม่ถูกต้องตามโครงสร้าง แต่เป็นที่ต้องการของคนในพื้นที่ สิ่งสำคัญของงานจิตอาสา คือ การก้าวข้ามในเรื่องของชาติ พรมแดน มาเป็นเรื่องของมนุษยชน เราไม่สามารถนำเรื่องของมนุษย์มาอยู่ภายใต้กรอบของชาติ ต้องก้าวข้ามไป และเรื่องของงานอาสาสมัครเป็นสิ่งที่เกินไปกว่านั้น มากกว่าเรื่องของเชื้อชาติ เรียกว่า ความเข้าใจ เห็นใจ คือเรื่องความเป็นมนุษย์ เป็นการสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาเซียน

การจะข้ามเรื่องของพรมแดน และขับเคลื่อนต่อไปอย่างไรนั้น เกี่ยวข้องกับความท้าทายในยุคโลกาภิวัตน์ ความท้าทายของบริบท แต่หลักในการทำงาน คือการทำงานที่ก้าวไปมากกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของประเทศ งานอาสาสมัครคือการให้กำลัง (Empower) กับคนอื่น เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ ที่เชื่อมโยงระหว่างเสาหลักทั้ง 3 เสาของอาเซียน

ศักยภาพจะเพิ่มขึ้นถ้าคนในภูมิภาคอาเซียนทำงานร่วมกัน ในอนาคตจะเห็นสะพานเชื่อมระหว่างเสาหลักแต่ละเสาของอาเซียน เกิดการจัดการรูปแบบใหม่ๆ สิ่งที่ต้องการจริงๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือความรู้สึกที่ว่าเราสามารถทำอะไรในภูมิภาคของเรา เพื่อไปถึงความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจ เห็นใจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ และเกิดคุณค่า เกิดความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งการเปิดพื้นที่ที่จะช่วยเหลือมนุษย์ทำไม่ได้คนเดียว แต่ต้องทำด้วยกัน มีเป้าหมายร่วมกัน สร้างการทำงานร่วม การพบปะพูดคุย เพื่อให้เกิดการแบ่งปันเรื่องของการทำงานที่ข้ามพรมแดน การสร้างพื้นที่ของคนระหว่างรุ่น (Intergeneration) การตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ การทำงานร่วมกันเพื่อข้ามพรมแดน ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง ในบริบทของโลกาภิวัตน์เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้อีกต่อไป

งานประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นการ “กรุยทาง” การขับเคลื่อนประเด็นจิตอาสาให้ก้าวข้ามพรมแดนในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนของรัฐชาติ พรมแดนทางวัฒนธรรม และพรมแดนการทำงานในประเด็นจิตอาสา ซึ่งเส้นทางการขับเคลื่อนมีความท้าทายรออยู่อีกมาก แต่การเริ่มเปิดมุมมองก้าวข้ามพรมแดน และข้อจำกัดต่างๆ ไปสู่การมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเชื่อมร้อยและสร้างความร่วมมือของผู้คนในภูมิภาคอาเซียนในมิติทางสังคม ที่มีหัวใจอยู่ที่การเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image