‘กรมศิลปากร’ จัดซ้อมละครพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในหลวงร.9 งดงาม สมพระเกียรติ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่โรงละครแห่งชาติ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดซ้อมการแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของการแสดงเวทีที่2 เรื่องพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยน.ส.วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สำนักการสังคีต ในฐานะผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า ภาพรวมการซ้อมการซ้อมถือว่ามีความสมบูรณ์แล้วกว่า 90% เหลืออีก 10% คือดูความพร้อมในสถานที่จริง ในวันที่ 22 ตุลาคม การแสดงเรื่องพระมหาชนก ใช้ผู้แสดง ผู้ขับร้องผู้กำกับเวที และผู้มีส่วนร่วมในส่วนต่างๆกว่า 150 คน การซ้อมที่โรงละครครั้งนี้แสดงประกอบฉากสมมติ ยังไม่ใช่ฉากจริงในงานออกพระเมรุมาศ เพื่อเป็นแนวทางให้นักแสดง การแสดงจัดครั้งนี้ยึดตามบทพระราชนิพนธ์ โดยนำบทละครที่นายเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาทำเป็นบทละคร เรียกว่าละครชาดก ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมด 7 ฉาก คือ ฉากที่1.ศาลาริมทาง 2.ภาพนิ่งประกอบคำบรรยาย 3.ภายในเรือนที่พัก 4.บนเรือสำเภา 5.กลางกลางมหาสมุทร 6.อุทยานมีต้นมะม่วงใหญ่ ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล และ 7.ท้องพระโรงเมืองมิถิลา ซึ่งทุกฉากล้วนมีความสำคัญ ใช้เวลาในการแสดง ประมาณ 1.40 ชั่วโมง จุดเด่นของการแสดงชุดนี้ คืออยากถ่ายทอดให้เห็นความสำคัญของบทพระราชนิพนธ์ ของในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งทรงพระราชทานคำสอนไว้มากมาย ทุกฉากประกอบด้วยคติสอนใจ คุณธรรม จริยธรรม ในการแสดงละครมักจะสอดแทรกระบำเพื่อให้เกิดอรรถรสและความสวยงามรวมถึงมีบทตลก ให้ผู้แสดงเป็นเทวดาออกมาเล่าเรื่องราวพระมหาชนก เพื่อให้การดำเนินเรื่องกระชับและรู้เรื่องมากยิ่งขึ้น

” ฉากสำคัญมี 2 ฉาก ได้แก่ตอนพระมหาชนกแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทร และได้สนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา และฉากอุทยานมีต้นมะม่วงใหญ่ ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล เป็นฉากที่ทำให้เกิดพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เพราะในหลวงรัชกาลที่9 ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งขณะนั้นเทศนาเรื่องต้นมะม่วง 2 ต้น ทำให้เห็นว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายเมื่อตกอยู่ท่ามกลางผู้ขาดปัญญา ทรงสนพระราชหฤทัย ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดกตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามละครเรื่องพระมหาชนก เคยแสดงเมื่อปี2540 ในงานวันข้าราชการพลเรือน โดยมอบให้นายเสรี เป็นผู้จัดทำและกำกับการแสดง เป็นครั้งปฐมฤกษ์ จากนั้นได้นำมาจัดแสดงในงานสำคัญๆ อีกหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะจัดแสดง วันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ”น.ส.วันทนีย์กล่าว และว่า สำหรับเครื่องแต่งกายมีทั้งการแต่งแบบ ยืนเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ และแต่งแบบลำลอง อย่างไรก็ตามการซ้อมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ผู้แสดง ศิลปิน ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ตั้งใจถวายงานให้ดีที่สุด ถือเป็นครั้งสุดท้ายในการถวายพระเกียรติสูงสุด

Advertisement

ในวันเดียวกัน ‘กรมศิลปากร’ จัดให้มีการซ้อมประโคมย่ำยาม หรือการประโคมดนตรีในการพระราชพิธีออกพระเมรุมาศ โดยนายปิ๊บ คงลายทอง ผู้ชำนาญการด้านดนตรี สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดวงประโคมตั้ง 4 มุม ดังนี้ 1.วงบัวลอย 4 วง ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลาลูกขุนทั้ง 4 หลัง 2.วงประโคม 4 วง ตั้งอยู่หน้าทับเกษตร ประกอบด้วยวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ 2 วง วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ 2 วง การประโคมแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่1.ประโคมขณะที่ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมโกศเวียนอุตราวัฎรอบพระเมรุมาศ และประโคมอีกครั้งในขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ช่วงที่2 หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีเฉพาะวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ และวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ รวม4 วง ประโคมตลอดเวลาจนถึงเวลา 6.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image