สุดงง! เจ้าอาวาสระบุวัดเป็นหนี้ตนเองกว่า 8 แสนบาท กำนัน-ผญบ.-ชาวบ้าน ร้องคณะสงฆ์ตรวจสอบ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2560 พระครูญาณวัชร์วิมล เจ้าอาวาสวัดห้วยหลวง เจ้าคณะอำเภอเขาย้อย จ.เพชรบุรี พร้อมคณะกรรมการสงฆ์อำเภอเขาย้อย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะตำบลต่างๆ รวม 5 รูป เดินทางมาที่วัดพระธาตุศิริชัย หมู่ 5 ต.เขาย้อย อ.เขาย้อย เพื่อร่วมสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีพระมหาวิสูตร จิตฺตปาโล เจ้าคณะตำบลเขาย้อย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศิริชัย ที่ถูกชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 5 ต.เขาย้อย นำโดยนายไวพจน์ อวยชัย กำนันตำบลเขาย้อย ร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใสเรื่องการบริหารบัญชีเงินฝาก ตลอดจนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้านอื่นๆ

โดยมีนางอรอนงค์ ศิริชัย นายกเทศมนตรีตำบลเขาย้อย นายธาดา มุทธากาญจน์ ปลัดอำเภอเขาย้อย นายสาธิต เกียรติ์สุพิมล ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบุรี นายพร จำปาวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 นายกานต์เทพ รอดวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เขาย้อย และชาวบ้านตำบลเขาย้อยกว่า 100 คนร่วมรับฟังการตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายไวพจน์เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านขอให้มีการตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายของวัดพระธาตุศิริชัย เพราะไม่ไว้วางใจการใช้เงินของพระมหาวิสูตร เจ้าอาวาส เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ประชุมซักถามเรื่องการเงินของวัดจากพระมหาวิสูตรถึง 3 ครั้ง และพระมหาวิสูตรได้แจ้งว่า ขณะนี้วัดไม่มีเงินเหลือในบัญชี และวัดพระธาตุศิริชัยยังเป็นหนี้พระมหาวิสูตรซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความแคลงใจให้กับชาวบ้าน เนื่องจากแต่ละเดือนวัดมีรายรับ-จ่ายจากการเก็บเงินค่าบำรุงการเช่าที่เพื่อจัดตลาดนัดภายในวัดประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และมีเงินที่ได้จากการทอดกฐินทุกปี ได้เงินจากที่ชาวบ้านถวายเพื่อสร้างกำแพงวัด

แต่ที่ผ่านมาวัดไม่มีการพัฒนา ไม่มีการใช้เงินสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม แต่ทำไมวัดจึงไม่มีเงินเหลือ และทำไมวัดจึงเป็นหนี้เจ้าอาวาสได้ นอกจากนี้ วัดพระธาตุศิริชัยแห่งนี้ยังไม่มีกรรมการวัด เมื่อประชุมคัดเลือกกรรมการ พระมหาวิสูตรจะบอกให้ผู้ที่จะมาเป็นกรรมการต้องผ่านการทดลองงาน ตลอดจนไม่ให้นายพิทักษ์ ยั่งยืน ไวยาวัจกรวัด ยุ่งเกี่ยวกับการบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด แต่กลับเบิกถอนเงินเอง ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชน และส่อถึงพฤติกรรมที่อาจไม่โปร่งใส

Advertisement

นายไวพจน์กล่าวต่อไปว่า ชาวบ้านยังไม่พอใจพฤติกรรมของพระมหาวิสูตรอีกหลายประเด็น อาทิ ตั้งกฎข้อบังคับการอุปสมบทว่า ผู้จะบวชที่วัดนี้ต้องบวชให้ครบ 1 พรรษา ถ้าบวช 7 วัน 15 วัน ไม่ให้บวช เรื่องการจัดงานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม เมื่อพิธีกรรมทางสงฆ์เสร็จ พระมหาวิสูตรก็จะดับไฟโดยไม่คำนึงถึงญาติโยมที่ยังอยู่ในศาลาบำเพ็ญกุศล ตลอดจนเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ไม่ดีกับชาวบ้านใกล้เคียง และไม่มีการควบคุมดูแลพระลูกวัดบางรูปที่นำอาหารที่ชาวบ้านใส่บาตรทิ้งกลางทางไม่นำกลับมาที่วัด ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากขาดความศรัทธาไม่เข้าทำบุญที่วัดแห่งนี้ ขอให้คณะกรรมการสงฆ์อำเภอเขาย้อยตรวจสอบ และให้พักงานพระมหาวิสูตรจากการเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลเขาย้อย พร้อมแต่งตั้งพระรูปอื่นรักษาการแทน

ด้านพระมหาวิสูตรชี้แจงว่า กรณีบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ตนมีการทำบัญชีไว้ตั้งแต่ปี 2553 ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสกระทั่งถึงปัจจุบัน มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมามีการทำนุบำรุงวัดพอสมควร กรณีที่ระบุว่าวัดเป็นหนี้ตนซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากเมื่อวัดไม่มีเงิน ตนซึ่งถือว่าเงินส่วนตัวของตนเป็นเงินวัด จึงนำเงินส่วนตัวไปใช้จ่ายทดแทนในส่วนของวัดที่ขาดรวมแล้วกว่า 8 แสนบาท วัดจึงเป็นหนี้ตน ส่วนการปิดไฟในงานศพ ตนไม่ได้ปิดไฟทุกดวงจนมืดสนิทเพียงแต่ปิดไฟดวงใหญ่ที่บริเวณกลางศาลาบำเพ็ญกุศล เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการเล่นการพนันและดื่มสุราในศาลาฯหลังเสร็จพิธีการ กรณีห้ามมิให้บุคคลซึ่งกำหนดบวช 7 วัน 15 วัน หรือไม่ครบพรรษาบวชที่วัด เนื่องจากเห็นว่าผู้จะบวชเป็นภิกษุต้องมีความตั้งใจและเจตนาที่แน่วแน่ หากบวชเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ไม่สมควร

ส่วนเรื่องไวยาวัจกร มีการร่วมกันทำงานบ้างในช่วงแรกๆ แต่ต่อมาก็เห็นว่าตนสามารถดำเนินการเองได้จึงดำเนินการเพียงคนเดียวตามสิทธิที่เจ้าอาวาสพึงมี ในส่วนการทดลองงานก่อนตั้งเป็นคณะกรรมการวัด คือให้มาถือศีลทำบุญที่วัดในทุกๆ วันพระเป็นเวลา 1 ปี เพราะต้องการให้ผู้ที่จะมามีส่วนร่วมการบริหารวัด มีความเข้าใจในหลักธรรมและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กรณีพระลูกวัดทิ้งอาหารในบาตรกลางทาง เนื่องจากอาหารดังกล่าวมีการบูดเน่าเสีย

Advertisement

คณะกรรมการสงฆ์ได้ให้พระมหาวิสูตรนำบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดมาให้ตรวจสอบ พบมีเงินคงเหลือในบัญชีประมาณ 70,000 บาท ขณะเดียวกันพบว่าพระมหาวิสูตรมีการเปิดบัญชีธนาคารใหม่ขึ้นอีก 1 บัญชี โดยที่ไวยาวัจกรและชาวบ้านไม่ได้รับทราบ

คณะกรรมการสงฆ์ซักถามประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ แต่พระมหาวิสูตรอ้างว่าต้องการอธิบายให้เกิดความกระจ่าง และใช้เวลาในการที่จะอธิบายนานหลายช่วง แต่คำตอบและการอธิบายสร้างความงุนงงไม่เข้าใจแก่คณะกรรมการ และมีการโต้เถียงกันไปมาระหว่างเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศิริชัยกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา พระครูญาณวัชร์วิมลและคณะกรรมการสงฆ์จึงได้กล่าวตักเตือนพระมหาวิสูตรให้ลดทิฐิลง และกล่าวตักเตือนประเด็นหลากหลายที่ถูกร้องเรียน

อาทิ ให้กำชับพระลูกวัดนำอาหารบิณฑบาตกลับมาดำเนินการจัดการภายในวัดทั้งหมดทุกครั้ง แม้ว่าสิ่งของดังกล่าวจะเป็นของเสีย การปิดไฟหลังพิธีสวดพระอภิธรรม หากพบว่ามีการดื่มสุราหรือเล่นการพนันให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการตามกฎหมายเพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์ ส่วนการบวชเป็นเรื่องศรัทธาในพระพุทธศาสนาแต่ผู้ประสงค์บวชอาจมีห้วงเวลาสะดวกไม่เท่ากันด้วยหน้าที่การงาน การห้ามความประสงค์ผู้บวชไม่ครบพรรษาไม่สามารถทำได้ กรณีกรรมการวัดไม่มีเงินเดือน การออกระเบียบให้ทดลองงานก่อนแต่งตั้งกรรมการวัดควรชี้แจงให้ชัดเจน และต้องมีความเหมาะสมด้วย เนื่องจากพระอยู่ได้ด้วยแรงศรัทธาของประชาชน ไม่ควรดำเนินพฤติกรรมดังกล่าวให้เป็นที่ติฉินนินทา

นอกจากนี้ เมื่อพระมหาวิสูตรกล่าวว่า ถือว่าเงินส่วนตัวของตนเป็นเงินวัดและมีการนำเงินส่วนตัวและเงินวัดไปรวมในบัญชีธนาคารเดียวกัน เพราะฉะนั้น วัดจึงไม่ต้องเป็นหนี้เจ้าอาวาส และการทำงานร่วมกับไวยาวัจกรเป็นระเบียบที่ต้องกระทำ ส่วนกรณีการร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการเงินวัดและพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นการร้องเรียนหลัก คณะสงฆ์จะพิจารณาจากหลักฐานและเสนอความคิดเห็นต่อเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีเพื่อดำเนินการต่อไป

คอมเม้นท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image