‘จุดยืน’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“จุดยืน” เป็นคำคำหนึ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า ใช้กันทั้งในหมู่นัก วิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ นักบริหาร นักวิจัย แม้ในทางการเมือง เพราะ “จุดยืน” แสดงถึงการมีแก่นของความคิด แก่นของความเชื่อ แก่นของความมั่นคงในหลักการของชีวิตและการงาน
ธรรมะ หรือ “จุดยืน” ที่เป็นตรรกะของทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ระบุในอริยมรรค 8 ข้อแรกคือการมี “สัมมาทิฐิ” : การมีความเห็นชอบเป็นปฐมบท 2 ประการ คือ 1) การที่เชื่อว่า “กฎแห่งชีวิต” ที่หนีไม่พ้น “กฎแห่งกรรม” ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ของทุกๆ คน ในหัวข้อพระคาถามหามงคล บทแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ท่านกล่าวเอาไว้ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ส่วนอีกข้อหนึ่ง “กฎแห่งธรรมชาติของชีวิต” ที่หนีไม่พ้นคือ กฎแห่งไตรลักษณ์ “อนิจจัง ทุกข์ อนัตตา” ที่ทุกคนก็หนีไม่พ้นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

“จุดยืน” จึงเป็นเหมือน “ที่มั่น” ทางความคิดซึ่งเป็นแกนกลางที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ จุดยืนที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาจะเนิ่นนานผ่านไปนานเท่านานแล้ว กี่ร้อยกี่พันปีก็ยังเหมือนเดิม เปรียบเหมือนภาพของทหาร ตำรวจ แม้แต่เราๆ ท่านๆ ที่เป็นพลเมืองคนไทยที่รักชาติ จะฝึกหลักยึดมั่นอยู่ตรงนั้นไม่ยอมถอยไม่ให้ศัตรูไอ้อีผู้ใดจะมารุกยึดแผ่นดินไทยอย่างเด็ดขาด แม้ตัวเองต้องตายก็ยอมพลีชีพที่ตนเองรักเพื่อ “จุดยืน” ของตน

กล่าวคือ “ยอมพลีชีพ เพื่อชาติของเรา” หรือ “ตัวตายดีกว่าชาติตาย”

หากค้นในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า “จุดยืน” ว่า เป็นความคิดที่แน่นอน ความมั่นคงในหลักการตามความคิด ความเชื่อของตน “จุดยืน” ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ ความเชื่อ กรอบความคิด หรือมุมมองของผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เราแต่ละคนจึงมีจุดยืนในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน เป็นจุดยืนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง หนักแน่นบ้างไม่หนักแน่น โลเลกลับไปกลับมาบ้าง อีกทั้งคนส่วนใหญ่มักมีจุดยืนเพียงบางเรื่องไม่ได้ครอบคลุมทุกๆ เรื่องในความเป็น “คน” หรือเป็น “มนุษย์”… เพราะมีคนบางคนบ่นว่า “มนุษย์ขี้เหม็น” หรอก ถึงได้เจอคนที่มีจุดยืนหลากหลาย บางครั้งบอกได้ว่าเชื่อไม่ได้ “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือคำพังเพยที่ว่า “น้ำกลิ้งบนใบบอน” ก็มี “เชื่อได้ก็มี”

Advertisement

คนที่มีจุดยืนมั่นคงจะปักหลักเหนียวแน่นในสิ่งที่ตนเองมีและเชื่อ มีทิศทางชัดเจนในทางเลือกและการตัดสินใจ รู้ว่า…สำหรับเรื่องนี้จะไปทางไหน เพราะเหตุใด มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ เพราะเหตุใด เช่น ข้าราชการมีจุดยืนว่าจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น แม้มีโอกาสทำผิดก็ไม่ทำ แม้ได้เงินก้อนใหญ่สบายไปชั่วชีวิตก็ไม่สนใจ และยินดีลาออกจากงานเมื่อถูกบีบให้กินตามน้ำ เป็นต้น

หรือคนบางคนมีจุดยืนหนักแน่น แต่กลับเป็นจุดยืนในทางที่ไม่ดี เช่น นักเลงมีจุดยืน… “ฆ่าได้หยามไม่ได้” มักยุติความขัดแย้งด้วยกำลัง ด้วยการทะเลาะวิวาทชกต่อย หรือถึงขนาดเอาชีวิตกันให้ตายไปข้างหนึ่งเลย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม มีคนจำนวนไม่น้อยก็ “ไม่มีจุดยืน” เลย ไหลไปตามกระแส พวกมากลากไป มุมมองการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปตามแรงจูงใจต่างๆ ไม่มีหลักคิด หลักยึดมั่นคง เช่น มีคนบางกลุ่มเสนอผลประโยชน์ให้ เช่น จากนายทุน ให้เงินเป็นก้อนโต หรือเงินเดือนสูงกว่าที่เดิม ก็ลาออกย้ายที่ทำงานใหม่ ย้ายค่ายที่สังกัดใหม่ โดยไม่มีจุดยืน

Advertisement

ไม่รักองค์กร ไม่สนใจว่างานใหม่ที่จะไปทำนั้นมีคุณค่าหรือไม่ มีประโยชน์หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่.

“จุดยืน” ยังเกี่ยวข้องกับมุมมองโลกทรรศน์ วิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันไปและไม่เพียงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลแต่ยังเป็นเรื่องของครอบครัว… ชุมชน องค์กร กลุ่มสังคม จนถึงระดับประเทศ ที่ต้องมีจุดยืนในเรื่องต่างๆ “จุดยืน” เป็นตัวกำกับการตัดสินใจว่าเราจะเลือกอะไร อย่างไร เพราะเหตุใด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศภูฏานมีจุดยืนพัฒนาประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสุขของประชากร แทนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ จึงเน้น… ความเป็นอยู่อย่าง “พอเพียง” ไม่เน้นความเจริญทางด้านวัตถุและอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง มีจุดยืนว่า… ต้นทุนต่ำ กำไรสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานแห่งนี้มีจิตสำนึกแบบผลประโยชน์นิยม โดยไม่สนใจต่อระบบสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจถูกทำลายไป เป็นต้น

มีคำถามว่า “จุดยืน” ของ “คน” ที่เจริญ หรือ “องค์กร” ที่เจริญ ควรจะเป็นลักษณะใดดี? หรือเป็นเช่นไร?

“จุดยืน” นั้นเป็น “ปรัชญา” เป็น “ความเชื่อ” ที่ควรจะต้องมีความมั่นคง มีหลักการ มีความถูกต้องเสมอทุกกาลเวลาที่เปลี่ยนไปใช้ได้ทุกกรณี ทุกบริบท…ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องสอดรับในทุกๆ เรื่องของอุดมการณ์ของปัจเจกบุคคล สังคม กรอบโลกทรรศน์ กรอบค่านิยม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็น…กรอบวิธีคิด ความเชื่อ และแนวทางการปฏิบัติของผู้เจริญโดยมี “จุดยืน” เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดที่ยึดเป็นแก่นกลางของชีวิต ซึ่งจะครอบคลุมจุดยืนเล็กๆ ได้ทั้งหมด

หากจะสรุปเบื้องต้นได้ คือ จุดยืนที่มองชีวิตมีค่าจึงใช้ชีวิตและทุกอย่างในชีวิต “ของคน” ให้เกิดคุณค่าสูงสุดไม่เพียงทำชีวิตตนเองให้มีค่า แต่เป็นหน้าที่ที่ทำให้ “ชีวิตคนอื่น” มีค่าด้วย โดยผนึกกำลังกันอย่างถูกวิธีให้เกิดพลังที่มีค่าทวีคูณเพื่อร่วมกันทำสิ่งที่มีคุณค่า กำหนดว่าทุกคนรู้และตระหนักว่า “ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่า” ไม่มีใครสักคนไม่มีค่า ทั้งชีวิตตัวเอง ชีวิตคนที่เรารู้จัก ชีวิตคนที่เราไม่รู้จัก ชีวิตคนรวยชีวิตคนจน ชีวิตคนหล่อคนสวย คนสูงศักดิ์ คนปกติ คนต่ำต้อย พิการ คนอ้วน คนผอม คนเก่ง คนดี คนไม่ดี คนเป็นมิตร คนเป็นศัตรู แม้นักโทษติดคุก…เขาทุกคนก็มีคุณค่า ฯลฯ

เราแต่ละคน พิจารณาดูให้ดี ดูให้ลึก มองให้อย่างทะลุผ่านตลอดล้วนมี “เอกลักษณ์” ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เราไม่เป็นเพียงวัตถุธาตุ ไม่ได้เป็นเครื่องหุ่นยนต์ เศษสารเคมี ถึงแม้ตรรกะจริงๆ หรือข้อเท็จจริงท้ายสุดของชีวิต ร่างของเราประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ตามแต่เราต้องทำตัวเราในการดำรงชีวิตอยู่เพื่อครอบครัวเพื่อสังคม ประกอบกิจก็ตาม “กรรม” ที่เรารับผิดชอบตามหน้าที่อย่างเป็นคนที่มีวินัย

เพราะมนุษย์นั้น…เรามีความพิเศษสุดมีคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินราคาได้ ก็อยู่ที่ “ตัวเราทำเอง”

จุดยืนที่มองว่า “ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตมีค่า” นั้นเป็น “แก่นกลาง” การกำหนดทิศทางการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ชาวผู้เจริญ และทำให้เราต้องใช้ชีวิตตนเอง ปฏิบัติตนเองและผู้อื่นทำในสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด มี 4 ประการ คือ

1.ทำชีวิตตัวเองให้มีค่า 2.ทำชีวิตผู้อื่นให้มีค่า 3.ผนึกคนเราหากันเพื่อทำให้มีค่าทวีคูณ 4.ผนึกกันให้ถูกวิธีเพื่อให้มีค่าทวีคูณให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ทำชีวิตตัวเองให้มีคุณค่า : โดยยึดกรอบแนวคิดแนวทางปฏิบัติ 3 ประการ คือ : การมีชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีความหมาย o การมีชีวิตดีงาม คือ ชีวิตที่มีเอกลักษณ์ o การมีชีวิตที่จริง คือ ชีวิตที่มีคุณค่า

เมื่อเราตระหนักว่า ชีวิตของเรามีค่า จำเป็นอย่างยิ่งจึงต้องใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าจริง ๆ คุณค่าในตัวเราจำเป็นต้องถูกใช้อย่างมีความหมาย ไม่ได้มีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ จนตายจากโลกนี้ไป แต่เราอยู่อย่างมีเป้าหมาย เพื่อเป้าหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

เพื่อทำในสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด นั่นคือ การเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมผู้เจริญ สังคมที่ดีงามอย่างแท้จริงทั้งทางด้านกายภาพ และจิตภาพ ให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด

คนที่มีค่าต้องใช้ “เวลา” อย่างมีค่า เพราะหาซื้อไม่ได้ ทุกนาทีทุกวินาทีมีค่ายิ่งสำหรับชีวิตทุกคน ใช้ประสบการณ์อย่างมีค่า และใช้ทรัพย์รับเงินทองทำในสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด ถ้าเรารู้จักตัวเอง หยิบเอาทุกสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ให้หมด แสดงว่าเราเห็นว่า..ชีวิตมีค่าจริง แต่ถ้าเราไม่เห็นว่า ชีวิตมีค่า เราย่อมมองทุกอย่างไม่มีค่าตามไปด้วย เช่น

๏ “เวลา” โดยธรรมชาติแล้วเขาให้ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันหมด ถ้าเรารู้จักใช้เวลาอย่างมีค่า นั้นแสดงว่าเราเห็นชีวิตเรามีค่า เราจึงทำชีวิตให้มีค่า ผ่านการใช้เวลาของเราทุกวินาที นาที ทุกชั่วโมงที่ผ่านไป แต่ถ้าคนใดฆ่าเวลา ทั้งใช้เวลาทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่เสียดาย เวลาผ่านไปวันๆ โดยไม่เกิดประโยชน์ แสดงว่า เราไม่ได้มองชีวิตมีค่าจริงๆ

๏ ความสามารถ : ต้องค้นหาความสามารถพิเศษของตนเองให้ได้แล้วหยิบมาใช้จริงๆ ให้ครบถ้วน เช่น เป็นนักพูด เป็นนักแสดง เป็นนักสอนเก่ง เป็นนักพูดเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เป็นต้น ก็นำมาใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

๏ ทักษะ : ต้องเอาทักษะที่มีในตัวออกมาใช้ พัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมให้ชีวิตมากที่สุด เช่น รู้ระบบไอทีเพิ่มขึ้น

๏ ความรู้ : ตัวเป็นคนที่หนึ่งสะสมหาความรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งที่เป็นระบบ ไม่เป็นระบบ และนำมาใช้ได้จริงๆ
ประสบการณ์ : ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งที่ดี และไม่ดี มีคุณค่ามากเพราะชอบให้เรารู้จักคิด ได้กำลังใจ ได้ความรู้เป็นบทเรียนชีวิตและสามารถหยิบมาใช้ในทางที่เป็นคุณเพื่อมอบให้แก่ชนรุ่นหลังอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ทรัพย์สินเงินทอง : เงินเป็นของมีค่า รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด “เราต้องเป็นนายเงิน อย่าให้เงินเป็นนายเรา”
๏ ทำชีวิตผู้อื่นให้มีค่า : คนผู้เจริญแล้วไม่เพียงแต่ใช้ชีวิตตนเองอย่างมีค่า แล้วให้มองชีวิตผู้อื่นให้มีค่าด้วย มองทุกคนเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู ต้องช่วยกันปฏิสัมพันธ์ ทำให้เขามีคุณค่า จูงใจให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีค่า โดยชักชวนทุกคนที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของเรา ลูกของเรา ญาติของเรา ผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา เพื่อนใหม่ที่เรารู้จักให้เข้ามามีส่วนร่วมในจุดยืน อุดมการณ์ร่วมใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

ผู้เขียนเชื่อว่า ในตอนท้ายสุดที่สำคัญ คือ ผนึกคนเข้าหากันให้ถูกวิธี เพื่อให้มีคุณค่าทวีคูณให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในข้อ 3 ข้อ 4 และเชื่อว่า การเห็นคนทุกคนทุกชีวิตมีค่า ทั้งตัวเราและผู้อื่น ทั้งที่รู้จักไม่รู้จักกันทั้งใกล้และไกล การ “ผนึกกำลัง” ให้เกิดค่าทวีคุณให้ได้ในสังคมไทยอย่างทุกวันนี้ ร่วมกันใช้ชีวิตเพื่อจุดยืนร่วมกัน อุดมการณ์ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคมไทย อยู่อย่างสังคมเป็นสุข มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

โดยเฉพาะ “ปรัชญา พอเพียง” ของพ่อหลวงของเรา ก็นำพาประเทศไทยเราเป็นประเทศอริยะ เพราะว่าเราทุกคนกำลังทำอยู่อย่างแท้จริง คือ “จุดยืน” ร่วมกันไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image