ความเป็นมาของอาบัติปาราชิก (1) : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

เราได้ยินคำว่าอาบัติบ้าง ปาราชิกบ้าง ออกจะบ่อย บางคนยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ถามว่ามันคืออะไรกันแน่ ขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อย เพื่อประดับสติปัญญา
อาบัติ แปลตามศัพท์ว่า “การต้อง, การล่วงละเมิด” หมายถึงความผิดที่พระภิกษุกระทำ (รวมถึงภิกษุณีด้วย แต่ไม่รวมสามเณร สามเณรผิดศีลไม่เรียกว่า ต้องอาบัติ) อาบัติ มี 7 ชนิด คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปฏิเทส นียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต (ฟังแต่ชื่อก็แล้วกัน อย่าเพิ่งรู้เลยว่าอะไรคืออะไร ถ้าจะอธิบายหมดมันยาว)

ถ้าจะสรุปให้สั้นเพื่อเข้าใจง่ายก็คือ อาบัติมี 2 ประเภท คือ อาบัติหนัก กับอาบัติเบา อาบัติหนักมี 2 คือ อาบัติหนักมากที่สุด ภิกษุใดล่วงละเมิดเข้าขาดจากความเป็นพระทันที ไม่ว่าจะมีผู้โจทก์หรือไม่ก็ตาม เรียกว่า ปาราชิก แปลตามศัพท์ว่า “พ่ายแพ้” คือถูกน็อกลงกองคาเวทีเลย ว่าอย่างนั้นเถอะ

อีกอย่างหนึ่งได้แก่อาบัติหนัก แต่ไม่ถึงกับหนักที่สุด ภิกษุล่วงละเมิดเข้าแล้ว ไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่จะบริสุทธิ์ดังเดิมได้ก็ต้อง “อยู่ปริวาส” (ชาวบ้านเรียกอยู่กรรม) การอยู่ปริวาสเป็นการ “กักบริเวณ” ลงโทษตนเองของพระที่ทำผิดระดับนี้ เพื่อชดใช้ความผิดให้ครบเท่าจำนวนอาบัติที่ตนล่วงละเมิดแล้วปกปิดไว้ ระหว่างอยู่ปริวาสต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานตัวเองและประจานตัวเอง เป็นต้น

เดี๋ยวนี้ เห็นประกาศการอยู่ปริวาสกันโครมๆ แถมยังบอกว่าเป็นบุญการกุศลเสียด้วย ใครทำบุญกับพระขณะอยู่ปริวาส ได้บุญมากยิ่งกว่าถวายสังฆทานเสียอีก ว่ากันถึงขนาดนั้น บางแห่งถึงกับจัด “ทัวร์ปริวาส” คือ วันที่เท่านั้นถึงวันที่เท่านั้น พระสงฆ์ที่อยู่ปริวาสกลุ่มนี้จะไปจังหวัดนั้น จากนั้นก็จะไปจังหวัดโน้น ญาติโยมก็จะแห่ไปทำบุญกันใหญ่

Advertisement

ก็ดีครับที่ทำบุญทำทาน แต่การอธิบายให้เข้าใจอย่างนี้มันผิดเพี้ยนไปจากความถูกต้องเป็นจริง พระที่อยู่ปริวาสคือพระที่ถูกลงโทษทางพระวินัย ไม่ใช่พระบริสุทธิ์ และการทำโทษด้วยการให้อยู่ปริวาส พระสงฆ์ท่านทำเป็นความลับ ไม่ประกาศบอกชาวบ้านดอกครับ เพราะเป็นเรื่องภายในวงการสงฆ์

เหมือนกับเรื่องที่มุ้งของชาวบ้านนั่นแหละ เป็นเรื่อง “ลับเฉพาะ” ใครจะนอนกับเมียหรือเลิกกับเมีย มิใช่เรื่องจะเอามาพูดอวดชาวบ้าน มีเรื่องอื่นถมไปที่จะอวด ไม่เห็นจะต้องเอาเรื่องพรรค์นี้มาพูดเลย ฉันใดก็ฉันนั้น

อาบัติหนักที่ล่วงละเมิดแล้วต้องอยู่ปริวาส เรียกตามศัพท์พระว่า “สังฆาทิเสส” แปลตามศัพท์ (ผมมันคนชอบแปลบาลี) ว่า “สังฆกรรมหรือกิจกรรมที่ต้องอาศัยสงฆ์ทำทั้งตอนเริ่มต้น และตอนสุดท้าย” หมายความว่า เมื่อภิกษุรูปใดทำผิดแล้ว จะต้องให้สงฆ์ดำเนินการ ลงโทษให้อยู่ปริวาสตามพระวินัย เมื่ออยู่ปริวาสครบกำหนดแล้ว สงฆ์อีกนั่นแหละจะทำพิธีรับเข้าหมู่อีกครั้ง

Advertisement

ความผิดระดับที่ว่านี้คืออย่างไรบ้าง? ขอยกตัวอย่างเจ๋งๆ สักข้อสองข้อ เช่น อัตถามกิริยา (ภาษาหมอว่า สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ภาษาวัยรุ่นสมัยก่อนว่า ไปสนามหลวง) และพระจีบสีกาอยู่ในขอบข่ายนี้ทั้งนั้น

อาบัติประเภทเบานั้นมีตั้งแต่เบาพอสมควร จนกระทั่งเบามาก อาบัติประเภทนี้พ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติ (เทศนาวิธี) หรือภาษาทั่วไปเรียก “ปลงอาบัติ”

กรรมวิธีในการปลงอาบัติก็คือ พระภิกษุที่รู้ตัวว่าล่วงละเมิดอาบัติเล็กน้อยนี้จะนั่งยองๆ (ทำไมต้องนั่งยองๆ ก็ไม่รู้สิครับ) ประนมมือสารภาพต่อหน้าพระภิกษุว่า “ท่านขอรับ ผมต้องอาบัติชื่อนี้ๆ ผมขอแสดงคืน” อีกรูปหนึ่งก็จะซักว่า “ท่านแน่ใจหรือท่านต้องอาบัติชื่อนี้จริง” พระรูปนั้นก็จะบอกว่า “ผมแน่ใจครับ” (ตามศัพท์แปลว่า “ผมเห็น” ครับ) แล้วพระที่เป็นสักขีพยานก็จะกำชับว่า “ต่อไปท่านต้องระวังอย่าทำอีกนะ” พระรูปเดิมก็จะให้คำมั่นว่า “ครับ ต่อไปผมจะระวัง ไม่ทำ ไม่พูด และไม่คิดอย่างนี้อีก” ก็เป็นอันเสร็จวิธีปลงอาบัติ

อาบัติประเภทเบานี้บางอย่างชาวบ้านไม่ยอมรับว่าเบาด้วยก็มี เช่น พระดื่มสุราเมรัย พระฉันข้าวเย็น ความจริงก็เบา ปลงอาบัติเสียก็หาย แต่ชาวบ้านถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ อาบัติประเภทนี้เรียกว่า “โลกวัชชะ” (ความผิด ที่ชาวโลกติเตียน)

ทางการคณะสงฆ์จึงออกกฎมหาเถรสมาคม กำหนดโทษให้จับพระดื่มเหล้าสึกได้ แม้ว่าจะมีโทษทางพระวินัยน้อยก็ตาม แต่การฉันข้าวเย็น ไม่ถึงกับออกกฎจับสึก

ในบางท้องถิ่น เช่นเมืองเหนือสมัยก่อน (สมัยนี้ไม่มีแล้ว) ชาวบ้านเขาไม่ถือ พระเณรเมืองเหนือจึงนิยมฉันเย็นกัน เวลาหิวขึ้นมาก็เข้าไปเยี่ยมโยมที่บ้าน โยมก็รู้หน้าที่จัดแจงข้าวปลาอาหารมาถวายให้ฉัน ฉันเสร็จก็กลับวัดไปปลงอาบัติ สบายไป เมื่อชาวบ้านไม่ถือ ก็ไม่เป็นโลกวัชชะ

ได้ยินอย่างนี้แล้ว ใครอย่านึกจะไปบวชเป็นพระเมืองเหนือล่ะ นี่เป็นเรื่องในสมัยก่อน สมัยนี้ไม่มีแล้วครับ

ความเป็นพระ

ความเป็นพระ คือจิตพราก จากกิเลส
รู้สังเกต ไม่ประมาท ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง รักษาใจ ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว ภัยทั้งสาม ไม่ตามตอบ
จากเรื่องกิน เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด ในร้อนเย็น ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม ลวงเท่าไร ไม่หลงลม
จิตสะอาด ใจสว่าง มโนสงบ
ทั้งครันครบ กายวจี ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ จึงชนะ เหนืออารมณ์
โลกนิยม กระหยิ่มใจ จึงไหว้แลฯ

พุทธทาส อินทปัญโญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image