เรื่องของขยะที่เป็นไม่ขยะ : โดย พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ตอนที่ 1 : การผลิตพลังงานจากขยะ-Waste to Energy

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ / องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

ในทางวิชาการเราเรียกว่าปัญหาขยะ หรือการจัดการขยะ เป็นสหวิทยาการ หรือ Interdisciplinary หมายความว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องขยะ ก็ต้องเอาวิทยาการหลากหลายสาขามาแก้ภายในกรอบเวลาเดียวกัน

20 ปีที่ผ่านไปสำหรับวงการขยะแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยทั้งด้านบวกหมายถึงดีขึ้นและด้านลบที่แย่ลง ปัญหาขยะยังคงเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อชาวบ้าน ไฟไหม้กองขยะ ขยะทำให้น้ำท่วมขัง ขยะล้นเมือง ชาวบ้านต่อต้านโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ หรือแม้แต่ปัญหาทุจริตในโครงการที่เกี่ยวข้องกับขยะ ไม่นานมานี้ได้เห็นภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์คัดแยกขยะ เช่น การวางถังขยะแยกประเภทตามห้างสรรพสินค้า ในปั๊มน้ำมัน ไม่ปล่อยให้ภาครัฐรณรงค์ตามลำพัง

Advertisement

แต่ชาวบ้านก็ยังถามเหมือนเดิม “แยกแล้วไปไหน แยกแล้วเก็บรวม”

รัฐบาล คสช.ได้สร้างปรากฏการณ์ด้านการจัดการขยะขึ้นใหม่อย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรก ในเดือนสิงหาคม 2557 ประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติและนำเสนอแผนที่เส้นทางหรือโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะ จุดประกายความหวังให้ผู้คนที่จมปลักกับปัญหาขยะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตั้งความหวังประกายแสงน้อยๆ นั้นจะไม่ใช่แค่หิ่งห้อยบนผนังถ้ำ งานแรกภายใต้ Roadmap ขยะคือการจัดการขยะตกค้างสะสมในพื้นที่ 6 จังหวัดให้สิ้นซาก ซึ่งได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี สมุทรปราการและปทุมธานี

เรื่องที่สอง คือการสนับสนุนให้เอกชนลงทุนก่อสร้างระบบกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีผลิตพลังงานจากขยะที่เรียกว่า Waste to Energy เรื่องนี้แหละที่ทำให้เกิดสถานการณ์ใหม่ขึ้นในประเทศนี้

Advertisement

สำหรับประเทศไทย การผลิตพลังงานจากขยะไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนหลังไปในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ในงานนิทรรศการอุทยานวิจัยและงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดการขยะและนับเป็นแนวทางการผลิตพลังงานจากขยะของประเทศ

“ดูดแก๊สมาทำไฟฟ้าเราเห็นด้วย แต่ว่าขออีกขั้นหนึ่ง มีเวลาอีกประมาณสัก 5 ปี ที่จะมาทำไฟฟ้าด้วยขยะที่สลายไบโอแก๊สออกไปแล้ว เอาออกไปและก็มาเผาด้วยเครื่องสำหรับกรองมลพิษที่ออกมาจากการเผาตั้งแต่ต้นก็มาฝัง แล้วเราก็ดูดแก๊สออกมาใช้ แล้วขุดหลังจากนั้นนำมาเผา ได้ขี้เถ้าแล้วนำไปอัด หมดจากหลุมนี้ก็เอาขยะมากลบ ก็ผลิต 10 ปี ครบวงจรแล้ว”

ในเวลาต่อมา ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินโครงการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะโดยได้รับงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อจัดตั้งกองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 650 กิโลวัตต์ จากพื้นที่ประมาณ 65 ไร่ ของแหล่งฝังกลบขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาลกำแพงแสนและอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน 1.7 กิโลเมตร

ปี 2542 เตาเผากำจัดขยะขนาด 250 ตันต่อวัน สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2.5 เมกะวัตต์ ของจังหวัดภูเก็ตเริ่มเดินระบบ เตาเผาแห่งนี้นับเป็นเตาเผาแรกที่ผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ ก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการในสมัยนั้นแล้วยกให้จังหวัดภูเก็ตเพื่อบริหารจัดการ

การผลิตพลังงานจากขยะอีกโครงการที่เกิดขึ้นและเริ่มเดินระบบในปี 2547 คือโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครระยอง เป็นการนำขยะอินทรีย์ที่คัดแยกเบื้องต้นจากตลาด สถานประกอบการและจากชุมชนมาผ่านกระบวนการของเทคโนโลยีย่อยสลายที่ไม่ใช้อากาศ หรือ Anaerobic Digestion จนเกิดก๊าซเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนประมาณ 60% แล้วนำเอาก๊าซนี้ไปผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยเครื่องยนต์ที่เรียกว่า Gas Engine โครงการนี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 625 กิโลวัตต์

อันที่จริงแล้วโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครระยอง คือโครงการแปรรูปมูลฝอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ทำโครงการสาธิตการแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์ ไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เพื่อให้เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น มีโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะหลายแห่งถูกประชาชนต่อต้านคัดค้าน แต่โครงการสาธิตติดขัดเรื่องปริมาณขยะที่จะนำไปแปรรูปจึงต้องโอนโครงการให้เทศบาลนครระยองดำเนินการต่อ

เทคโนโลยีย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศที่ใช้ในโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครระยองได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลงและสามารถบำรุงรักษาได้ง่ายขึ้น ตลอดจนเพิ่มองค์ประกอบของโครงการเพื่อจัดการกับขยะที่ย่อยสลายไม่ได้และไม่เหมาะที่จะนำกลับไปใช้ใหม่หรือ Recycle ส่วนใหญ่ขยะส่วนนี้จะเป็นพลาสติก เศษกระดาษและเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ในปี 2551 รูปแบบของโครงการการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครระยองถูกปรับและเพิ่มองค์ประกอบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากขยะอื่นๆ ที่เหลือ ในที่สุดก็เกิดเป็นโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครนครราชสีมา มีส่วนที่เพิ่มขึ้นคือการนำเอาขยะส่วนที่เผาไหม้ได้ เช่น เศษพลาสติก เศษกระดาษ เศษกิ่งไม้ไปอัดเป็นเชื้อเพลิงขยะแท่ง ที่เรียกว่า Extruded Refuse Derived Fuel (Extruded RDF)

จะเห็นได้ว่าก่อนการประกาศ Roadmap ในปี 2557 มีโครงการผลิตพลังงานจากขยะอยู่แล้วหลายโครงการหรือแม้แต่การนำขยะมาแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงที่เรียกว่าเชื้อเพลิงขยะหรือ RDF ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 หากได้มีการถอดบทเรียน เรียนรู้ปัญหา / อุปสรรคทั้งด้านเทคโนโลยี การจัดการ ต้นทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหล่านั้น

หลังการประกาศใช้ Roadmap เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการเลือกใช้เทคโนโลยีและปัญหาอื่นๆ ที่ประสบกันอยู่ จนดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาขยะยังคงวนอยู่ที่เดิม

พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image