‘ไบโอฮัท’ ฟื้นฟูระบบนิเวศ

(ภาพ-Boris Horvat/AFP)

“ไบโอฮัท” เป็นวิธีการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการสร้างที่อยู่อาศัยเทียมขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งคล้ายๆ การสร้างแหล่งปะการังเทียมในบ้านเรา มีลักษณะเป็นกรงตาข่าย 2 ชั้น ชั้นในใส่เปลือกหอยนางรมไว้จนเต็ม เพราะเปลือกหอยนางรมสามารถดึงดูดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเลให้เข้ามาสร้างอาณานิคมขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังใส่ตัวอ่อนของหอยนางรมหรือสแปทลงไปด้วย ไม่นานกรงชั้นในดังกล่าวนี้จะกลายเป็นที่อยู่ของปู หอยแมลงภู่และเพรียงเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็น “เครื่องกรอง” มีชีวิต กรองมลภาวะในน้ำบริเวณท่าเรือหรือชายฝั่งได้

กรงด้านนอกถูกทิ้งไว้ว่างเปล่า สำหรับเป็นที่ “หลบภัย” จากสัตว์นักล่าของบรรดาลูกปลาและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเข้ามาหลบภัยแล้ว ยังใช้ไบโอฮัทเป็นแหล่งอาหารชั้นดีอีกด้วย

ในภาพนี้เป็นไบโอฮัทจำนวนหนึ่งที่ถูกจัดวางไว้ในพื้นทะเลนอกชายฝั่งเมืองมาร์เซย์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ขณะนักนิเวศวิทยาทางทะเลลงไปตรวจสอบไบโอฮัทเป็นระยะๆ

โครงตาข่ายที่เห็นในภาพไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไบโอฮัท แต่ถูกใช้ชั่วคราวเพื่อผลในการศึกษาชนิดของสัตว์ในระบบนิเวศของแต่ละไบโอฮัทเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image