โพลมสธ.ชี้จุดอ่อนพรรคการเมือง ฝ่ายรบ.มักทุจริต -ฝ่ายค้านโจมตีแบบไร้เหตุผล

แฟ้มภาพ

“โพล มสธ. ชี้ จุดอ่อนพรรคการเมืองไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2540-2560) คือ พรรครัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นบ้านเมืองผ่านโครงการต่างๆ ส่วนพรรคฝ่ายค้านมุ่งโจมตี หรือล้มล้างรัฐบาลอย่างไร้เหตุผล และประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่มุ่งวางรากฐานและสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติและประชาชน”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (STOU PSC POLL) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ครั้งที่ 7/2560 ระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคม 2560 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 12,252 คน เป็นชาย 6,254 คน (52.72%) หญิง 5,998 คน (50.56%) เกี่ยวกับ “จุดอ่อนพรรคการเมืองไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2540-2560) เป็นอย่างไร” เพื่อเป็นกระจกสะท้อนมุมมองของประชาชนที่เกิดจากการรับรู้พฤติกรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ผ่านมาในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วง ปี พ.ศ.2540-2560 ผลการวิเคราะห์มีดังนี้

1.พฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตเป็นอย่างไร ผลพบว่ามีจุดอ่อนตามลำดับดังนี้ ลำดับ 1 ทุจริตคอร์รัปชั่นบ้านเมืองผ่านโครงการต่างๆ (92.25%) ลำดับ 2 บริหารประเทศผ่านนโยบายอย่างไร้ทิศทางและมุ่งประชานิยม (91.28%) ลำดับ 3 สื่อสารกับประชาชนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือไม่บอกความจริงทั้งหมด (89.24%) ลำดับ 4 มุ่งใช้สื่อและทรัพยากรการสื่อสารของรัฐเพื่อสร้างความนิยมแก่พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (88.18%) ลำดับ 5 เมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมักจะไม่รับฟังเสียงฝ่ายค้าน (87.82%) ลำดับ 6 นโยบายดีๆ โครงการดีๆ ของพรรคที่เป็นรัฐบาลในอดีต หรือของพรรคฝ่ายค้านถูกละเลย (87.25%) ลำดับ 7 ไม่เป็นแบบอย่าง หรือตัวอย่างที่ดีด้านความสามัคคีของคนในชาติ (87.18%) ลำดับ 8 มองคนที่คิดต่างเป็นคนละฝ่ายกับรัฐบาล (87.16%) ลำดับ 9 ไม่รับฟังเสียงของประชาชน (86.78%) ลำดับ 10 มองสื่อมวลชนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงกันข้าม (86.56%)

2.พฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านที่ผ่านมาในอดีตเป็นอย่างไร ผลพบว่ามีจุดอ่อนตามลำดับดังนี้ ลำดับ 1 มุ่งโจมตี หรือ ล้มล้างรัฐบาลอย่างไร้เหตุผล (93.42%) ลำดับ 2 มุ่งแข่งแย่งอำนาจ ชิงดีชิงเด่น และจ้องทำลาย (93.12%) ลำดับ 3 ไม่ได้ทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์เชิงเหตุผลในการอภิปรายหรือให้ความคิดเห็น มักใช้แต่สำนวนโวหาร (92.25%) ลำดับ 4 ไม่ให้กำลังใจหรือสนับสนุนในสิ่งที่รัฐบาลทำที่ต้องตามหลักการ (91.28%) ลำดับ 5 ถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในสภาผู้แทนราษฎรด้วยการชิงการปิดการอภิปราย (89.22%) ลำดับ 6 ฝ่ายค้านไม่มีพื้นที่ ไม่มีช่องทางในการสื่อสารจากทรัพยากรการสื่อสารของรัฐที่มีอยู่ (89.12%) ลำดับ 7 ไม่มีระบบการเชิญฝ่ายค้านมาหารือเชิงการบริหารงานในประเด็นการแก้ปัญหาสำคัญของชาติ (88.94%) ลำดับ 8 ไม่มีระบบที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายรัฐบาล(88.78%) ลำดับ 9 ไม่เป็นแบบอย่าง หรือตัวอย่างที่ดีด้านความสามัคคีของคนในชาติ (87.56%) ลำดับ 10 ไม่สื่อสารกับสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรอย่างตรงไปตรงมาให้เข้าใจ แต่มุ่งใช้สื่อมวลชนที่เลือกข้างปลุกระดม (87.28%) ลำดับ 11 ได้รับการคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากฝ่ายรัฐบาล (86.32%)

Advertisement

3. ในอนาคตประชาชนมีความต้องการให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือหลักยึดเป็นแบบใดบ้าง ผลพบว่าความต้องการตามลำดับดังนี้ ลำดับ 1 มุ่งวางรากฐานและสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติและประชาชน (91.24%) ลำดับ 2 ยึดมั่นในหลักการและทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน (90.08%) ลำดับ 3 ยึดมั่นในการใช้กลไกลตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ (88.85%) ลำดับ 4 มีระบบที่ดี ในการคัดสรร “คนดี มีความรู้ความสามารถ และมีจริธรรม” เพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง (88.46%) ลำดับ 5 มีความพร้อมในการเป็นพรรครัฐบาลและเป็นพรรคฝ่ายค้าน (88.16%) ลำดับ 6 รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเต็มใจ (88.02%) ลำดับ 7 ไม่ยึดติดกับผลประโยชน์ของพรรคและพวกพ้อง (87.88%) ลำดับ 8 เป็นแบบอย่าง หรือตัวอย่างที่ดีด้านความสามัคคีของคนในชาติ (88.68%)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image