โรดแมป‘รื่นวดี’ อธ.บังคับคดี เป้าปี2561ขายทรัพย์1.1แสนล. พัฒนา‘บิ๊กดาต้า-แอพพ์’ค้นสำนวน

       นับว่าทะลุเป้าสำหรับการผลักดันทรัพย์สินหรือขายทรัพย์ทอดตลาดของกรมบังคับคดี ในปีงบประมาณ 2560 โดยมีการผลักดันทรัพย์สินได้กว่า 129,043 ล้านบาท จากเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ จ.ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 22.96, 98.82 และ 10.38 ตามลำดับ

รวมทั้งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีสูงกว่าผลงานปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 58.58 คิดเป็นทุนทรัพย์ 6,380 ล้านบาท และเมื่อก้าวเข้าสู่ปีงบประมาณ 2561 กรมบังคับคดีตั้งเป้าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุณภาพ และความทันสมัย ล้ำหน้ามากขึ้น 

โดย น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล  อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึง แผนงานการดำเนินงานของกรมบังคับคดีในปีงบประมาณ 2561 ว่า กรมบังคับคดีมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง โดยนำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์กรมบังคับคดีในหลายด้าน อาทิ การเสริมสร้างความเติบโตและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลักดันทรัพย์สินโดยใช้นโยบาย 2 เร่ง

ได้แก่ 1.เร่งรัดการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ และ 2.เร่งรัดประกาศขายทอดตลาด โดยกำหนดเป้าหมายการผลักดันทรัพย์สินทั้งปีจำนวน 110,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของเป้าหมายในปีที่ผ่านมา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี กรมบังคับคดียังคงใช้กลยุทธ์ “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล

Advertisement

น.ส.รื่นวดีกล่าวว่า กรมบังคับคดีจะประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่ทำงานลงพื้นที่เชิงรุก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้เพื่อให้มีวินัยทางการเงิน และช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ลดการถูกยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด และการอายัดทรัพย์สินต่างๆของลูกหนี้ เพิ่มโอกาสในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความสมานฉันท์สามัคคีในสังคมไทย

ส่วนการพัฒนาระบบบริหารจัดการคดี (Case management) เร่งรัดดำเนินคดีค้าง 10 ปี และคดียุ่งยากให้เสร็จร้อยละ 30 มุ่งเน้นความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว เน้นการบูรณาการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เป็นฐานข้อมูลกลางในคดีเพื่อการสืบค้นข้อมูลและติดตามทรัพย์สินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนพัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน

Advertisement

น.ส.รื่นวดี บอกด้วยว่า นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการบังคับคดีและภารกิจที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างศักยภาพ และความรู้ (Empowerment) ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น เกษตรกร กลุ่ม SMEs กลุ่มหนี้รายย่อย และการพัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาใช้และลดขั้นตอนการให้บริการในการบังคับคดี พัฒนาการจัดเก็บสถิติ และ Big Data เพื่อใช้วิเคราะห์และพัฒนา Business Intelligence (BI) พัฒนา Application DebtInfo เพื่อการตรวจสอบข้อมูลเงินอายัดในสำนวนคดีแพ่งสำหรับคู่ความหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น

ตรวจสอบสถานะบุคคลล้มละลาย พัฒนาระบบการจองคิวนัดล่วงหน้าผ่าน Mobile Application พัฒนาระบบศูนย์กลางทรัพย์สินของลูกหนี้ (Debtor Data Center) การจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU)

“รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสากลและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านการบังคับคดีของกลุ่มประเทศอาเซียน และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร” น.ส.รื่นวดีกล่าว

“เน้นความเป็นสหวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ และการบริหารจัดการ เสริมสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นในการทำงาน ตลอดจนการสร้างความเป็นมืออาชีพให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รื่นวดีระบุ

ป็นเป้าหมายและโปรเจ็กต์การบังคับคดีในปี 2561 ที่ต้องทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image