“ชุมชนบ้านบางลา” คว้ารางวัลยูเอ็นดีพี “Equator Prize 2017”

หนึ่งในข่าวเล็กๆ ที่อาจไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักแต่มีนัยอันยิ่งใหญ่ เพราะสะท้อนถึงความสำเร็จในการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปีขององค์กรพัฒนาชุมชนของไทยก็คือการที่ “กลุ่มอนุรักษ์บ้านบางลา” ได้รับรางวัลอีเควเตอร์ประจำปี 2560 จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 72

รางวัลอีเควเตอร์ เป็นรางวัลภายใต้โครงการข้อริเริ่มอีเควเตอร์ของยูเอ็นดีพีที่มีขึ้น 2 ปีครั้ง เพื่อเป็นรางวัลให้กับความพยายามของชุมชนที่มีความโดดเด่นในการลดความยากจนผ่านการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อน ด้วยตระหนักว่าความสำเร็จของท้องถิ่นเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหวในระดับโลกที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน(เอสดีจีส์) ของสหประชาชาติ เพื่อให้เวทีระหว่างประเทศตระหนักถึงความพยายามของท้องถิ่นรวมถึงชนพื้นเมืองที่ได้พยายามทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ 15 รางวัล มาจากการคัดเลือกจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 806 ราย จาก 120 ประเทศ โดยหนึ่งในผู้ได้รับเลือกคือชุมชนบ้านบางลาของไทย

คุณรัตนาภรณ์ แจ้งใจดี ซึ่งเดินทางมารับรางวัลในฐานะตัวแทนชุมชนบ้านบางลา เล่าให้ฟังว่า เธอทำงานในโครงการความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากยูเอ็นดีพีและกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมาตั้งแต่ก่อนเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 โดยทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านติดป่าชายเลนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ภายใต้การร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

รัตนาภรณ์ แจ้งใจดี และพิเชษฐ์ ปานดำ

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำให้พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าป่าอื่นๆ ได้รับผลกระทบ ชาวชุมชนบ้างบางลาได้ร่วมกันทำการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องป่าชายเลน ดูแลไม่ให้พื้นที่ถูกทำลายเพิ่มเติม ปลูกป่า พร้อมกับรณรงค์ให้เยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนที่จะดูแลป่าชายเลนต่อไปในอนาคตรู้และเข้าใจเรื่องป่าชายเลนด้วย

Advertisement

เมื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่ คุณรัตนาภรณ์ได้เห็นพลังของผู้หญิง จึงริเริ่มโครงการแม่ลูกปลูกป่าขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ผลดีมาก ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีดินงอก ขณะที่สัตว์ทะเลหายากอย่างนากทะเลที่หายสาปสูญไปกว่า 30 ปีก็กลับมาให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าชายเลนว่าสามารถทำได้จริง ทั้งที่เมื่อ 20 ปีก่อนทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ เพราะขาดความอุดมสมบูรณ์

ปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเป็นลูกจ้างหันกลับมาทำประมงและมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่ดีกว่า อีกทั้งชาวบ้านมีความผูกพันกับป่าชายเลนเพราะเป็นแหล่งอาหาร คนรุ่นใหม่ที่เคยไปทำงานในเมืองหันกลับมาทำประมงทำให้มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 2,000 บาท สามารถเลี้ยงครอบครัวได้และยังมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นด้วย ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากงานที่ทำมานานกว่า 20 ปี

ด้านนายพิเชษฐ์ ปานดำ กล่าวว่า งานที่ทำคือการเสนอทางเลือกใหม่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราใช้ชุดความรู้เดิมๆ ไม่พอ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ชุดใหม่ เป็นความรู้ของชุมชนที่อยู่ใกล้ทรัพยากร ซึ่งเราคิดว่าความรู้นี้ไปได้ เพราะทดลองมาแล้ว 20 ปี และมีผลเชิงประจักษ์ ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านก็กลับมาทำประมงมากขึ้น คนรุ่นหนุ่มสาวก็เลือกกลับมาทำงานที่บ้าน อีกทั้งงานที่ทำเป็นเหมือนการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจึงทำให้ไม่ขาดตอน

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราพิสูจน์ได้ว่าป่าชายเลนช่วยเหลือได้เมื่อเกิดสึนามิ ซึ่งเดิมไม่เคยมีความคิดว่าเราจะปลูกป่าเพื่อสกัดสึนามิ แต่ขณะนี้เรารู้แล้วว่าป้องกันได้และยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้การที่นากทะเลที่หายไป 30 ปีก็กลับเข้ามาในพื้นที่ ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนในชุมชนมาก แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

สำหรับปัญหาหลักที่เจอยังคงเป็นเรื่องของการรุกป่าชายเลน เพราะพื้นที่อ่าวพังงาทั้งหมดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ความต้องการพื้นที่สูง มีการบุกรุกทำลายป่าชายเลนมาก การทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก แต่ชุมชนบ้านบางลาเป็นชุมชนเข้มแข็ง จึงสามารถป้องกันไว้ได้

ปัญหาโดยรวมเป็นเรื่องลักลั่นในเชิงโครงสร้างระหว่งการขยายตัวของการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ ขณะที่ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก การลงทุนไม่ใช่แค่ทุนท้องถิ่น แต่กลุ่มทุนที่เข้ามาเป็นทุนข้ามชาติ มีพลังสูง ปัจจุบันพื้นที่ทำงานของเรายันไว้ได้ เพราะกลไกท้องถิ่นร่วมมือกันหมด แต่ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะหนักหน่วงรุนแรงแค่ไหน

อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศร่วมยินดี

คุณพิเชษฐ์บอกว่า การนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนบ้างบางลาเป็นโมเดลสำหรับการเรียนรู้ได้ หากยูเอ็นยังเห็นว่าเราเป็นทางเลือกหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าจุดเล็กๆ เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ก็น่าจะผลักดันการทำงานร่วมกันต่อไป การได้รับรางวัลระดับโลกในทางหนึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าแนวทางที่ชุมชนทำมาได้รับการยอมรับ

คุณพิเชษฐ์บอกด้วยว่า ต้องขอบคุณยูเอ็นดีพีที่เห็นว่าเราสามารถเข้าชิงรางวัลระดับโลกได้ และเขียนโครงการมานำเสนอจนได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพราะคนที่ทำงานลักษณะนี้ในไทยมีมากเพียงแต่อาจไม่มีใครนำเสนอโครงการขึ้นมา พร้อมกับยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อรักษาพื้นที่เอาไว้ต่อไป

งานของกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางลาเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติสามารถทำได้จริงแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งที่ดินแพงยิ่งกว่าทองคำ ขอเพียงแต่ชุมชนและคนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งที่ดีๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่สุดแล้วก็จะยังประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image