คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน : สาโรจน์ มณีรัตน์ สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

อีกไม่กี่วันคงถึงงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 สำหรับปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เชื่อว่าขณะนี้หลายสำนักพิมพ์คงเตรียมความพร้อมที่จะนำหนังสือไฮไลต์มาอวดโฉมเหล่าบรรดาแฟนานุแฟนหนอนหนังสือกันอย่างตั้งใจทำ

สำนักพิมพ์มติชนก็เช่นกัน

เพราะอย่างที่ทราบ เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เนื่องจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560

Advertisement

ฉะนั้น ตลอดเดือนตุลาคมจึงเป็นเดือนแห่งความอาลัย

เป็นเดือนแห่งการน้อมรำลึกถึงพระองค์ที่ทรงงานในเรื่องต่างๆ

ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร สื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ต่างรายงานกันหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่พระราชประวัติ, พระราชกรณียกิจ, เสด็จสวรรคต
ไปจนถึงการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเกี่ยวข้องกับโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ, หมายกำหนดการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ, การจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

Advertisement

พระเมรุมาศและสิ่งก่อสร้างภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง, สิ่งก่อสร้างภายนอกมณฑลพิธีท้องสนามหลวง, พระโกศ, ราชรถ ราชยาน ฯลฯ
ทุกเรื่องราวเหล่านี้เชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คงทราบผ่านหูผ่านตามาบ้าง

สำหรับรายละเอียดในแต่ละแง่มุม เชื่อว่าหลายสำนักพิมพ์คงนำเสนอแตกต่างกันไป แต่สำนักพิมพ์มติชน ปีนี้ใช้ธีมคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวเนื่องกับความมหัศจรรย์ของพระเมรุมาศ องค์ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุครัตนโกสินทร์

โดยมีหนังสือไฮไลต์สำคัญ 4 เล่มด้วยกันคือ

หนึ่ง สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

สอง งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง

สาม ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย พิมพ์ครั้งที่ 4 (ปกแจ๊กเก็ตปั๊มทอง)

สี่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม 2560 ฉบับน้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 (ปกแจ๊กเก็ตปั๊มทอง)

สำหรับหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” กล่าวถึงความเชื่อตามไตรภูมิ ซึ่งมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทั้งยังเป็นที่สถิตของเหล่าทวยเทพ อันเป็นคติที่สะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

ทั้งยังรวมงานช่างแขนงต่างๆ ที่มารังสรรค์ให้พระเมรุมาศมีความงดงาม ประกอบด้วย งานประณีตศิลป์, ประติมากรรม, จิตรกรรม ที่ช่างฝีมือทุกคนต่างหลอมดวงใจรังสรรค์งานออกมาเป็นศิลปกรรมล้ำเลิศแห่งยุคสมัย

เพราะศิลปกรรมล้ำเลิศแห่งยุคสมัยนี่เอง สำนักพิมพ์มติชน จึงรวมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ภายในบริษัท เพื่อจัดทำ รวบรวมข้อมูล พร้อมกับลงพื้นที่เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์งานช่าง อันศิลปะระดับสูงในการประดับพระเมรุมาศ

จนทำให้เกิดหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ในที่สุด

ส่วนหนังสือ “งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งมี “ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ” เป็นบรรณาธิการ มีเนื้อหาว่าด้วยธรรมเนียมการปลงศพที่มีมาแต่สมัยสุวรรณภูมิ

ด้วยการรำลึกถึงผู้วายชนม์ที่ถอดดวงจิตออกเดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ เพื่อแสดงถึงพลังสำคัญที่ครอบทับจิตใจมนุษย์คือความรัก และความผูกพันของผู้ยังดำรงชีวิตอยู่กับผู้อันเป็นที่รักจากไป

นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังบอกกล่าวถึงงานพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระเมรุในช่วงสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ธรรมเนียมพระบรมศพ สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ และวัฒนธรรมร่วมในสุวรรณภูมิ

รวมไปถึงสังคมพหุวัฒนธรรมทุกพื้นที่ของอุษาคเนย์อีกด้วย

ขณะที่หนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย” ที่มี “นนทพร อยู่มั่งมี” และ “ธัชชัย ยอดพิชัย” เป็นผู้เรียบเรียง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 มีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อความเหมาะสมแก่กาลสมัย

ทั้งยังเพิ่มเติมข้อมูลธรรมเนียมบางประการ หลังค้นพบหลักฐานการพิมพ์ครั้งแรก ได้แก่ ธรรมเนียมลักพระศพ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของงานพระราชพิธี ที่น้อยคนจะทราบ

เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติในยามวิกาล โดยมีผู้เกี่ยวข้องเฉพาะเจ้านาย และเจ้าพนักงานบางส่วนเท่านั้น ตรงนี้เป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระธรรมเนียมพิธีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพเจ้านายให้ครบถ้วนมากขึ้น

พูดง่ายๆ ว่า ลึกทั้งเนื้อหาและความสวยงามจากการออกแบบ

ส่วนเล่มสุดท้ายคือนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม 2560 ฉบับน้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเปิดพรีออร์เดอร์ให้ผู้สนใจสั่งจองผ่านเว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนมาก่อน

หนังสือเล่มนี้ยังมีบทความประกอบที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ธรรมเนียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และมหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมี “ดร.นนทพร อยู่มั่งมี” เป็นผู้เขียน

กำสรวลทั้งแผ่นดิน งานพระบรมศพเอกกษัตริย์ พระราชินี และเจ้าประเทศราช ซึ่งมี “ไกรฤกษ์ นานา” เป็นผู้เขียน, งานพระเมรุ(มาศ) : ศึกษาจากวรรณคดี และภาพวาด โดยมี “ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร” เป็นผู้เขียน

ข้อวินิจฉัยเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเทพราชาที่ค้นพบใหม่ โดยมี “ผศ.พิชญา สุ่มจินดา” เป็นผู้เขียน

ฉะนั้น หนังสือไฮไลต์ทั้ง 4 เล่ม นอกจากจะเป็นหนังสือที่ (ต้อง) ห้ามพลาด หากยังเป็นหนังสือที่ทุกคนควรซื้อเก็บไว้เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกด้วย
ลองไปหาซื้อดูนะครับ

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้

ส่วนไฮไลต์อื่นๆ ของสำนักพิมพ์มติชน จะมาเล่าคราวหน้าครับ

โปรดติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image