‘เส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ’ ความภาคภูมิใจสูงสุด ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ผ่านมา 337 วันแล้วที่ “กรุงเทพมหานคร” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติภารกิจอำนวยความสะดวกแก่พสกนิกรทุกสารทิศหลั่งไหลมากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศจนลุล่วง

และนับเป็นช่วงเวลาใจอีกครั้งกับการปฏิบัติอีกหนึ่งภารกิจสำคัญหลังจากนี้ คือ การได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบ “การปรับภูมิทัศน์ตามเส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” ในช่วงปลายตุลาคม ศกนี้

เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สำหรับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะพ่อเมืองผู้สนองรับภารกิจอันภาคภูมิใจ

พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์และตกแต่งเมืองตลอดเส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยส เป็นส่วนสำคัญในการพระราชพิธี เนื่องจากเป็นเส้นทางสำหรับการอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนตามเส้นริ้วขบวนขึ้นไปประดิษฐาน ณ พระจิตกาธานประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

Advertisement

ภาพที่ปรากฏตลอดเส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศจึงจำเป็นต้องปรับปรุง ดูเเลให้เหมาะสม

ด้วยความสำคัญนี้ ผู้ว่าฯกทม.จึงต้องลงพื้นที่ดูเเลด้วยตัวเอง ทำให้ภาพของ พล.ต.อ.อัศวินกับสนามหลวง เป็นภาพคุ้นชินของใครหลายคน

สำหรับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2494 ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาระดับชั้น มศ.3 จากโรงเรียนด่านช้างวิทยา, โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 7, โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 (นรต.30) จบหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 16 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 45

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวินได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบฝีมือดีคนหนึ่ง เคยผ่านคดีสำคัญๆ ระดับชาติมาแล้วหลายคดี อาทิ คดีสังหารนายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น (โจ ด่านช้าง), คดีคาร์บอมบ์รถอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร, คดีจับกุมนายประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซี้ยะ), คดีจับกุมนายนพพล ประสงค์ศิล (จิ๊บ ไผ่เขียว) และคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชาญชัย ประสงค์ศิล (โจ๊ก ไผ่เขียว) เป็นต้น ในกลางปี 2551 เมื่อดำรงยศพลตำรวจโท (พล.ต.ท.) ได้ถูกปรับย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็น พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว รับตำแหน่งนี้แทน ทั้งนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพราะไม่อาจจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้

ต่อมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกลางปี 2552 มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พยายามจะพลักดันให้เป็นที่ปรึกษา สบ 10 ในยศพลตำรวจเอก (พล.ต.อ.) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดขึ้นใหม่ แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ไม่อนุมัติ แต่ท้ายที่สุดในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นพลตำรวจเอก และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ก่อนย้ายจากตำแหน่งนั้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งในปลายปีเดียวกัน ยังได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “อัศวินปิดจ๊อบ” เนื่องจากมีผลการทำงานที่ดุดัน รวดเร็ว และ “มือปราบไผ่เขียว” และยังได้รับผลโหวตจากการสำรวจความคิดเห็นจากเอแบคโพลล์ด้วยว่าเป็นนายตำรวจมือปราบที่ประชาชนรู้สึกชื่นชอบและบรรเทาเหตุอาชญากรรมได้มากที่สุด

ภายหลังเกษียณอายุราชการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าฯกทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม.) ดูแลงานด้านเศรษฐกิจและการคลัง เเละได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

พร้อมภารกิจสำคัญ คือการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอำนวยความสะดวกแก่พสกนิกรทุกสารทิศหลั่งไหลมากราบถวายบังคมพระบรมศพ ตลอดจนดูเเลความเรียบร้อยเเละปรับภูมิทัศน์บริเวณท้องสนามหลวง

รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ตามเส้นทางริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ขณะนี้เริ่มมีการปรับภูมิทัศน์อย่างไรบ้าง?

กทม.ได้เริ่มปรับปรุงเส้นทางริ้วขบวนตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เริ่มจากปรับผิวจราจรให้เสมอกัน เดิมทีมีลักษณะเป็นถนนหลังเต่า ซึ่งพื้นผิวสูงต่ำไม่เท่ากันนั้น จะทำให้การเคลื่อนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศลำบาก สำนักโยธาจึงได้ซ่อมแซมทางเท้าและผิวจราจรในเส้นทางริ้วขบวนรวม 13 จุด ได้แก่ ถนน 9 สายหลัก คือ ถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนสนามไชย ถนนพระราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน ถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชินี ถนนพระจันทร์ ถนนจักรพงษ์ และพื้นที่รอบสนามหลวง 4 จุด คือ บริเวณภายในท้องสนามหลวง บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง บริเวณเกาะกลางฝั่งทิศเหนือท้องสนามหลวง และบริเวณเกาะกลางฝั่งทิศใต้ ปัจจุบันแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์

เพื่อให้สมพระเกียรติสูงสุด กทม.ยังได้ดำเนินงานปรับปรุงสภาพแวดล้อม โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ตัดแต่งกิ่งไม้และตกแต่งทรงพุ่มของต้นไม้ ไม่ให้ล้ำออกมานอกทางเท้าตามเส้นทางริ้วขบวน ตั้งแต่บริเวณถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนสนามไชย สนามหลวง สะพานผ่านพิภพลีลาและสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ต่อมาได้ปูหญ้าโดยรอบพระบรมมหาราชวังและเส้นทางริ้วขบวน พร้อมปรับแต่งโคนต้นมะขามรอบสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.ได้วางอิฐตัวหนอนเพื่อไม่ให้ขยะหรือสิ่งปฏิกูลส่งผลกระทบต่อรากต้นมะขาม คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ หญ้าที่ปลูกก็เริ่มเขียวขจีอย่างสวยงามในช่วงวันพระราชพิธี

ปรับภูมิทัศน์ช่วงก่อนงานราชพิธีอย่างไร?

หลังจากนั้น กทม.จะเริ่มนำไม้ดอกและไม้ประดับมาตกแต่ง ได้แก่ บริเวณถนนมหาราช ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินในและปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะกลางถนน โดยนำต้นดาวเรืองที่เพาะไว้ จำนวน 2 ล้านต้น และต้นดาวเรืองที่ได้รับมอบจากประชาชนใน “กิจกรรมน้อมถวายดอกดาวเรือง เพื่อพ่อหลวง” ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม ตามสวนสาธารณะ กทม.ทุกแห่งมาประดับรอบเส้นทาง และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อมถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กทม.ได้จัดเตรียมป้ายชื่อให้ผู้มอบได้เขียนชื่อ-นามสกุล ก่อนที่จะนำต้นดาวเรืองของประชาชนวางประดับ ตามด้วยต้นดาวเรืองที่ กทม.เพาะไว้ โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ตุลาคม

มีมาตรการดูเเลความปลอดภัยอย่างไร?

สำหรับความพร้อมของมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยตามเส้นทางริ้วขบวนนั้น กทม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบเตรียมงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การติดตั้งระบบสัญญาณภาพระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ในบริเวณแยกถนนมหาราชตัดถนนท้ายวัง แยกถนนท้ายวังตัดถนนสนามไชย ทางเข้าสนามหลวง ถนนเส้นกลางสนามหลวงและบริเวณรอบพระเมรุมาศ เพื่อส่งสัญญาณมายังกองอำนวยการคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการและดำเนินการบริเวณที่ตั้งของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดง (พระเจ้าเชตุ) และกระทรวงกลาโหม

อีกทั้งติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มเติม จำนวน 277 ตัว ได้แก่ บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง 44 ตัว และบริเวณโดยรอบสนามหลวงรวมถึงบริเวณใกล้เคียง 233 ตัว พร้อมเชื่อมสัญญาณทั้งหมดไปยังศูนย์ควบคุม กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่จากสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงคณะผู้บริหาร กทม. ไปประจำศูนย์ควบคุมด้วย และเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา กทม.ได้ส่งมอบงานด้านความปลอดภัยให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบต่อ รวมถึงส่งมอบแผงกั้นเหล็กจำนวน 7,000 แผง ในการใช้ประโยชน์ในพระราชพิธีต่อไป

ทั้งนี้ กทม.ยังมีส่วนร่วมในแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในห้วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ รถดับเพลิงและกู้ภัย ตลอดจนอุปกรณ์ประจำจุดต่างๆ ดังนี้ พระเมรุมาศจำลองที่ตั้งอยู่ใน กทม. 7 แห่ง ยกเว้นสนามกีฬาธูปะเตมีย์และพุทธมณฑล ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ขนาดใหญ่และกลาง รวม 42 ซุ้ม พื้นที่ปฏิบัติการ 12 โซนในงานพระราชพิธีและบริเวณโดยรอบ รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวัง 3 โซน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งงานเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมบริเวณเส้นทางริ้วขบวน ได้แก่ งานขีดตีเส้นเครื่องหมายจราจร งานดูแลสัญญาณไฟจราจรทุกจุดให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน งานเตรียมระบบระบายน้ำโดยดำเนินการลอกท่อระบายน้ำทั้งหมดและจะผลักดันน้ำเสียออกจากคูคลองเมื่อใกล้ถึงวันงานพระราชพิธี งานดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ อาทิ ดำเนินการต่อเนื่องในการดูแลสุนัขให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและกวดขันผู้ค้า-คนเร่ร่อน รวมถึงยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว

นอกจากท้องสนามหลวง ส่วนอื่นมีการดูเเลอย่างไรบ้าง?

ในส่วนของงานพระเมรุมาศจำลองและซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ทั้ง 113 แห่ง ขณะนี้ทุกส่วนมีความคืบหน้าร้อยละ 90 คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 ตุลาคม โดยซุ้มขนาดใหญ่และกลาง กทม.จะดำเนินการติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อรับการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดสำหรับแนะนำขั้นตอนถวายดอกไม้จันทน์ตามราชประเพณี โดย กทม.ได้จัดเตรียมดอกไม้จันทน์ทั้งสิ้น 9 ล้านดอก เพื่อส่งมอบให้สถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่วมในพระราชพิธีได้อย่างทั่วถึง

สิ่งที่กังวลที่สุด?

คาดการณ์ว่าประชาชนจะหลั่งไหลมาร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างล้นหลาม สิ่งที่ กทม.กังวลที่สุดคือ เรื่องที่พักและห้องสุขา กทม.ก็ได้ให้สำนักสิ่งแวดล้อมจัดรถสุขาเคลื่อนที่ประมาณ 70 คัน และตู้สุขาชั่วคราวอีก 150 ตู้ มาให้บริการประชาชน ตลอดจนประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ บริษัท ห้างร้าน วัดและโรงเรียนโดยรอบบริเวณให้เปิดห้องสุขาและที่พักแก่ประชาชน ซึ่งวันที่ 8 ตุลาคม ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาด รวมถึงประชาชนจิตอาสาตามกิจกรรมเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ที่ลงทะเบียนตามสำนักงานเขตของ กทม.ร่วมทำความสะอาดด้วย

ความยากง่ายในการดำเนินงานทั้งหมดครั้งนี้?

กทม.ไม่ได้มองว่าภารกิจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากได้จัดประชุมและเตรียมแผนดำเนินงานอยู่เสมอ พร้อมมอบหมายให้คณะผู้บริหาร กทม.ร่วมปฏิบัติภารกิจในทุกส่วนในลักษณะการทำงานแบบ “ลงแขกทำนา” ที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน จนเสร็จสมบูรณ์ทุกส่วน อีกทั้ง กทม.ยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายตำรวจ ทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่หน่วยแพทย์อาสาจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมูลนิธิก็ร่วมกันสนับสนุนรถเคลื่อนที่ฉุกเฉินถึง 288 คันด้วย

ในส่วนปัญหาอุปสรรค ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงแรกของภารกิจอำนวยความสะดวกประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ อาทิ ความพร้อมพื้นที่ทั้งเก้าอี้ เต็นท์พักคอย อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เพียงพอจนเกิดความวุ่นวาย ต่อมาก็มีศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร หรือ Volunteers For DAD เข้ามาช่วยบริหารจัดการงานอาสาสมัคร รวมถึงกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) เข้ามาช่วยให้งานเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

ความประทับใจตลอดการทำงานครั้งนี้?

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดตลอดการทำหน้าที่ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ การทำงานของเจ้าหน้ารักษาความสะอาดและดูแลความเรียบร้อยหลายหมื่นชีวิต ที่ทำหน้าที่โดยไม่ปริปากบ่นและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ สุดกำลังและความสามารถ ซึ่งถือเป็นผู้ที่เสียสละมาก ขณะผมลงพื้นที่สนามหลวงหรือทุกครั้งที่เจอ ผมจะให้กำลังใจและบอกพวกเขาว่า ท่านเป็นนางฟ้าของผมเสมอ หากไม่มีพวกท่านงาน กทม.ก็ไม่สำเร็จ ไม่ว่าผู้ว่าฯกทม.จะเก่งขนาดไหน หากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ทำงาน งานคงไม่ลุล่วงไปได้ด้วยดี อีกทั้งขอขอบคุณข้าราชการ กทม.ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนผลงานออกมาเป็นที่น่าภาคภูมิใจ

ข้าราชการและบุคลากรของ กทม.ทั้งหมดจำนวนกว่า 1 แสนคน มีความภูมิใจที่จะร่วมส่งเสด็จพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย โดยทุกคนมีความตั้งใจในการน้อมถวายเป็นพระราชกุศล และไม่ปริปากบ่น ได้สัมผัสกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างมีความภาคภูมิใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งสิ้น ทุกคนทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ รวมถึงตนเองด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นข้าราชบริพารภายใต้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่พระองค์ท่านได้ทรงงานให้แก่ปวงชาวไทยมากว่า 70 ปี แล้วเหตุใดเราทุกคนจะร่วมกันทำเพื่อพระองค์ท่านไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image