คอลัมน์ ประสานักดูนก : กลางฤดู

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

เทศกาลชมเหยี่ยวอพยพเข้าสู่ช่วงกลางของฤดูกาลแล้ว เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม เหยี่ยวอพยพหลัก ชนิดที่ 5 เดินทางผ่านเขาเรดาร์ เป็นที่เรียบร้อย

เหยี่ยวชนิดนี้มีปีกแคบ ปลายปีกเรียวคล้ายเปลวเทียน รูปลักษณ์ผอมเพรียวเรียวยาว มองไกลๆ คล้ายเหยี่ยวทุ่ง แต่จริงๆ แล้วจัดอยู่ต่างสกุลกัน คือ เหยี่ยวหน้าเทา ซึ่งเป็นเหยี่ยวอพยพหลัก ลำดับที่ 4 ในแง่ของจำนวน ซึ่งเขียนแนะนำไปเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว

นอกจากเหยี่ยวหน้าเทา ตัวแรกของฤดูกาล หรือ First of the season ที่เขาเรดาร์ ยังมี นกอินทรีเล็ก เหยี่ยวออสเปร และ เหยี่ยวหิมาลัย ทำให้จำนวนรวมของเหยี่ยวอพยพผ่าน ณ ช่วงกลางฤดู เป็น 14 ชนิด

ยังมีอีก 14 ชนิด ที่ยังไม่พบว่าบินผ่านเขาเรดาร์ แต่บางชนิดมีรายงานบินเข้าประเทศไทย มาทางเส้นทางสายอีสาน หรือสายเหนือ-ตะวันตก เช่น เหยี่ยวฮ็อบบี้พันธุ์ยุโรป สัปดาห์ ไปอีกแล้ว 10 วัน เจ้าเหยี่ยวปีกเปลวเทียน หรือ เหยี่ยวหน้าเทา จะเป็นตัวเอกที่จำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมี เหยี่ยวนกเขาชิครา เป็นตัวรอง ร่วมกับ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น ในขณะที่ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และ เหยี่ยวผึ้ง ตัวหลักอีก 2 ชนิด ที่ยกทัพหน้าผ่านเขาเรดาร์ไปแล้วหลายหมื่นตัว จำนวนจะงวดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะชุดใหญ่ได้ผ่านภาคใต้ไปแล้ว เหลือแต่ทัพใหญ่หรือทัพหลวง ของชนิดหลักที่มาช้าที่สุดแต่มีจำนวนมากที่สุด คือ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ซึ่งเคยนับได้ถึง 8 หมื่นตัว ภายใน 2 สัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จำง่ายๆ เมื่อถึงวันปิยมหาราชเมื่อใด เมื่อนั้นถึงเวลาของเจ้ากะปอมตัวเล็ก สีขาวดำมีหงอนชูชัน ที่จะปรากฏการณ์ สายธารเหยี่ยวอพยพ ที่วันๆ หนึ่งอาจจะนับได้ถึง 1-2 หมื่นตัว เรียกว่ามืดฟ้ามัวดินกันทีเดียว

Advertisement

ดังนั้น ยังมีเวลามาตื่นตาตื่นใจกับเหยี่ยวอพยพไปตลอดเดือนตุลาคม เพราะขณะนี้ลมว่าวอ่อนๆ ได้พัดพาลมเย็นๆ มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือบ้างแล้ว ลมว่าวนี้เป็นสัญญาณแจ้งว่าถึงเวลาที่ทัพใหญ่ของเหยี่ยวอพยพกำลังเดินทางมาแล้ว

หากต้องการมารอต้อนรับกะปอมมีหงอน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เพราะรูปแบบการอพยพของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ จะเป็น surge migration กล่าวคือ จำนวนจะพุ่งสูงขึ้นเร็ว ลดลงเร็ว เพราะเหยี่ยวจำนวนมากจะเดินทางมาด้วยกัน จากที่เป็นฝูงขนาดเล็ก 10-20 ตัว ในภาคเหนือ และภาคอีสาน เมื่อบินผ่านภาคกลาง ตะวันตก และอีสานใต้ ขนาดของฝูงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วมหึมาเป็นฝูงใหญ่ระดับ 500 ตัวขึ้นไป ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงชุมพร

ดังนั้น ถ้าอยากเห็นกะปอมบินชนกันกลางอากาศหรือ สายธารเหยี่ยวอพยพของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ บินผ่านม่านฝนปรอยก็ มี 2 จุดไปรอชมกันได้ คือ เขาเรดาร์ และ เขาดินสอ จ.ชุมพร แม้ว่าเหยี่ยวอพยพจะยังคงเดินทางเป็นฝูงหลังจากผ่าน จ.ชุมพร ไปแล้วก็ตาม ยังมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ข้างต้น เพียงแต่ไม่แน่ไม่นอนเท่า 2 จุด ที่แนะนำเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้าอยากชมฝูงนักล่าจากแดนไกลที่พยายามเดินทางมาผ่านบ้านเรา ด้วยตาตนเองก็พบกันได้บนเขาเรดาร์ หรือเขาดินสอครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image