บทความ ตำรวจจับ ตำรวจไม่จับ โดย : วสิษฐ เดชกุญชร

การหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายนปีนี้ ไม่ได้เกินความคาดหมาย แต่พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจที่เกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจากจะมิได้เป็นที่คาดหมายของคนทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดความข้องใจ สงสัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าใครจะอธิบายได้

เริ่มต้นจากการที่ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 และพวก ที่ขับรถจากกรุงเทพฯไปส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพวกที่จังหวัดสระแก้ว อันเป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าอำนวยความสะดวกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีคำพิพากษาของศาล แต่นายตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบกลับบอกว่า การกระทำของ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์กับพวกไม่ผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าขณะนั้นศาลยังไม่ได้ตั้งข้อหาและออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ครั้นเมื่อปรากฏว่า พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์สั่งให้นายตำรวจชั้นประทวนผู้หนึ่งนำรถยนต์ที่ใช้ในการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีไป จ.สระแก้วไปทำลาย และปรากฏว่ารถคันนั้นเป็นรถที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเจตนาที่จะปกปิดความผิดของตน แต่ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ก็เพียงแต่มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติราชการกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกับ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ ฐานมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับรถยนต์ซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนในสารบบของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น โดยไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นรถยนต์ในบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อหาและเก็บร่องรอยของดีเอ็นเอเพื่อนำไปเทียบเคียงและยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งไปในรถยนต์คันนั้นหรือไม่ ผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐานปรากฏว่าดีเอ็นเอที่พบในรถยนต์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เป็นพาหนะหลบหนีนั้นมีสภาพปนเปื้อน ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่

Advertisement

ต่อมามีข่าวว่าผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ไป “ปฏิบัติราชการ” ที่ศูนย์ปฏิบัติราชการกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ส่วนนายตำรวจอีกคนหนึ่งและดาบตำรวจซึ่งร่วมกันนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนี ก็ได้รับคำสั่งให้ไป “ปฏิบัติราชการ” ที่สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม อันเป็นต้นสังกัดของตน

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ปรากฏว่าการกระทำผิดวินัยนั้นเกี่ยวเนื่องกับการใช้รถยนต์เถื่อน หรือการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีคำพิพากษาของศาล และ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ได้ไปมอบตัวต่อกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว

ต่อไปนี้ตามระเบียบปฏิบัติของตำรวจก็จะต้องมีการตั้งกรรมการขึ้นอีกคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยที่จะลงแก่ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ ส่วนนายตำรวจที่สังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมนั้น ก็ต้องคอยให้คณะกรรมการที่กองบังคับการนั้นตั้งขึ้นมีความเห็นเสียก่อนว่าได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงเหมือน พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์หรือไม่ หากคณะกรรมการลงความเห็นว่ากระทำผิด ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยเช่นเดียวกัน

Advertisement

โทษหนักที่สุดสำหรับตำรวจที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงคือ ไล่ออก แต่ตำรวจที่ถูกลงโทษก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และหากอุทธรณ์ คณะกรรมการก็จะส่งเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์พิจารณา

ข่าวดีสำหรับผู้อุทธรณ์ก็คือ จำนวนอนุกรรมการ 15 คน ในคณะอนุกรรมการคณะนี้ 12 คน เป็นข้าราชการตำรวจทั้งในและนอกราชการ บางคนจึงอาจจะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานของผู้ถูกกล่าวหา เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้รับความเห็นใจจากอนุกรรมการบางคน และถ้าผู้เห็นใจเป็นอนุกรรมการที่มีอาวุโสสูง ความเห็นของอนุกรรมการผู้นั้นก็อาจจะมีน้ำหนัก สามารถโน้มน้าวให้อนุกรรมการอื่นๆ คล้อยตามได้

นี่คือเหตุผลที่ในอารยประเทศหลายประเทศมีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่ไม่เป็นตำรวจทั้งหมด และดำเนินการพิจารณาโดยเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นในอาณัติของกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมีคณะกรรมการอิสระรับคำร้องทุกข์ของประชาชน เพื่อพิจารณาพฤติการณ์อันมิชอบของตำรวจเยี่ยงอารยประเทศ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image