คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : หิวไม่ได้ตรงข้ามกับอิ่ม

ตอนเรียนวิชาภาษาไทยสมัยเด็กๆ จำได้ว่ามีการบ้านหาคำตรงข้ามค่ะ เช่น ซ้าย-ขวา บน-ล่าง รับ-ส่ง ดังนั้น การเรียนวิชานี้หล่อหลอมให้เราเข้าใจว่าบางอย่างอยู่ฝั่งตรงข้ามกันแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นนามธรรมและไม่ได้ตรงข้ามในทางกายภาพก็ตาม ชุดความคิดแบบนี้เมื่อติดตัวมาจนโตอาจจะทำให้ชีวิตมีปัญหาได้ถ้าเราขาดสติค่ะ

นักศึกษาสาวคนหนึ่งมารักษาอาการซึมเศร้า เธอเศร้าเพราะน้ำหนักตัวของเธอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยสรุปคือยิ่งเครียดก็ยิ่งกินและยิ่งกินก็ยิ่งเครียด เธอทราบดีว่าการหยุดวรจรอุบาทว์นี้คือหยุดกินขนม ออกกำลังกาย แต่วิธีเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกทุกข์อย่างมาก

“ฟังดูหนูเข้าใจดีว่าการกินทำให้น้ำหนักหนูเพิ่มขึ้นแล้วหนูก็จะเครียดถ้าน้ำหนักขึ้น ถ้าอย่างนั้นความคิดอะไรที่เกิดขึ้นตอนที่หนูจะหยิบขนมเข้าปากคะ

“หนูไม่อยากอดทนอีกแล้ว หนูกินน้อยแล้วก็ออกกำลังกายมาตั้งนาน น้ำหนักก็ลดนิดเดียวแต่หนูอึดอัดมากที่ต้องอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบ (คือกินน้อยและออกกำลังกาย) ผลที่ได้มันไม่คุ้มเลย มีแค่การกินเท่านั้นที่ทำให้หนูมีความสุข

Advertisement

“แต่พอหนูมีความสุขจากการกินหนูก็มีความทุกข์จากน้ำหนักที่ขึ้นตามมา

“ก็…หนูไม่มีความสุขจากอะไรเลย มีแค่การกินอย่างเดียว”

แล้วเธอก็ร้องไห้อีกยกใหญ่ค่ะ ปัญหาของเธอไม่ใช่เรื่องตัวเลขบนเครื่องชั่งแต่ปัญหาคือเธอจับคู่ “การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย = ความทุกข์” แล้วเธอก็เปลี่ยนสมการนี้ด้วยระบบการคิดคำตรงข้ามในวิชาภาษาไทยกลายเป็น “การกินตามใจและไม่ออกกำลังกาย = ความสุข” ซึ่งแท้จริงแล้วสองสมการนี้ไม่ถูกต้องนักค่ะ จากการคุยกันหลายครั้งทำให้เข้าใจว่าเธอไม่ได้ทุกข์ที่กินน้อย เธอแค่ทุกข์เมื่อคิดว่าเพื่อนจะดูถูกว่าเธอเป็นคนปล่อยตัวและไม่มีวินัยในตัวเอง ซึ่งสะท้อนออกมาจากการลดน้ำหนักไม่สำเร็จ ในระหว่างที่ความสุขของเธอไม่ใช่การกินเพราะเวลาเธอกินเธอก็ทุกข์อยู่ดี เธอจะมีความสุขเมื่อคนรอบข้างชื่นชมเธอไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสวย ความเก่ง ความพยายามลดน้ำหนักที่บรรลุผล ฯลฯ ดังนั้น ปัญหาของระบบความคิดที่บิดเบี้ยวอาจมีรากฐานจากการใช้วิชาภาษาไทยอย่างขาดสติก็เป็นได้

Advertisement

“Kino no Tabi -the Beautiful World” หรือ “การเดินทางของคิโนะ” มีแอนิเมชั่นภาค 2 ฉายทางโทรทัศน์ในซีซั่นนี้แล้วค่ะ เรื่องนี้จบในตอนและมีตัวดำเนินเรื่องคือ “คิโนะ” เด็กสาวที่เดินทางไปยังเมืองต่างๆ กับมอเตอร์ไซค์พูดได้ “แอร์เมส” แต่ละเมืองที่คิโนะไปจะสะท้อนระบบความคิดและค่านิยมของคนดูและชวนให้เราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกและผิด แท้จริงอาจไม่ได้ถูกหรือผิดเลยหากอยู่ในบริบทที่ต่างกัน ตอนที่ 1 กล่าวถึง “เมืองที่การฆ่าคนไม่ถือว่ามีความผิด” คิโนะพบชายคนหนึ่งก่อนถึงเมือง เขาต้องการไปอยู่ในเมืองนี้เพราะเชื่อว่าเป็นสวรรค์ของโจรอย่างเขา เขาคิดจะปล้นและฆ่าไม่ยั้งมือเพราะการฆ่าคนในเมืองนี้ไม่มีความผิด เมื่อคิโนะไปถึง เธอแปลกใจมากที่ตลอด 3 วันไม่มีใครฆ่ากันเลย ชาวเมืองทุกคนยิ้มแย้มมีความสุขและดูแลนักเดินทางอย่างเธอเป็นอย่างดี ที่แปลกคือทุกคนจะพกอาวุธติดตัวเสมอโดยทุกคนบอกตรงกันว่าไม่เคยได้ใช้แต่ก็เก็บไว้ใกล้ตัว ในที่สุดคิโนะก็พบชายที่เจอกันก่อนเข้าเมือง เขาปล้นคิโนะกลางเมืองเลยค่ะ ยังไม่ทันจะยิงปืนใส่เธอ เขากลับถูกชาวเมืองทำร้ายเสียก่อน มันเป็นความเข้าใจผิดของชายคนนี้ค่ะ เขาคิดว่า “การฆ่าคนไม่มีความผิด = จะฆ่าใครก็ได้” ซึ่งเป็นสมการที่ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้ว “การพยายามจะฆ่าคน = ผิด” ดังนั้น ชายที่พยายามจะฆ่าคิโนะจึงทำความผิดและถูกฆ่าโดยชาวเมือง ส่วนชาวเมืองที่ฆ่าชายคนนี้ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้พยายามจะฆ่าใคร เขาเพียงแค่ยับยั้งการกระทำความผิดของชายคนนั้นเท่านั้นเอง

กระบวนการด่วนสรุปของเราทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายพอๆ กับวุ่นวายเลยค่ะ สะดวกสบายที่ไม่ต้องคิดลงรายละเอียดทุกเรื่องแต่ก็วุ่นวายหากตั้งสมการไม่ถูกต้อง งานวิจัยในสัตว์ทดลองของ Mark E. Bouton และ Scott T. Schepers จากมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์บอกเราว่าเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมไดเอ็ต (ควบคุมน้ำหนัก) แล้ว เราอาจอ้วนกลับมาได้เท่าเดิมเพราะสมการบางอย่างในหัวที่เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยยังไดเอ็ตอยู่ค่ะ เขาลองตั้งสมการให้หนูว่าการกินกับความหิวและความอิ่มเป็นเรื่องของบริบทรอบตัวโดยให้หนูที่อิ่มสามารถกดคานเพื่อรับขนมที่อร่อยมากได้เรื่อยๆ ส่วนหนูตัวเดียวกันเมื่อหิวกลับกดคานและไม่ได้รับอะไรเลย ผู้วิจัยเปรียบเทียบว่ากรณีหลังคือขณะเราไดเอ็ตอยู่ เราจะตั้งสมการในหัวว่า “เมื่อหิว = อย่ากิน” ซึ่งได้สมการฝั่งตรงข้ามที่ไม่เป็นความจริงว่า “เมื่อไม่หิว = กินได้” ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อเลิกไดเอ็ตแล้ว เราก็เลิกทำสมการแรก ดังนั้น เมื่อหิวเราก็กิน ส่วนสมการหลังซึ่งได้มาโดยไม่รู้ตัวเราก็ยังทำอยู่คือไม่หิวก็ยังกิน จึงเป็นเหตุให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้น ดังนั้น คนที่ไดเอ็ตด้วยสมการอื่น เช่น “เมื่อหิว = กินแต่พอดี” และ “เมื่อไม่หิว = ไม่กิน” ก็จะควบคุมน้ำหนักได้ยาวนานกว่า

สมการที่เป็นปัญหาที่สุดเมื่อควบคุมอาหารคงจะเป็น “ได้กินตามใจ = ความสุข” เพราะจะเกิดสมการฝั่งตรงข้าม “ไม่ได้กินตามใจ = ความทุกข์” ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คราวนี้ไม่ใช่แค่น้ำหนักไม่ลดแต่โรคซึมเศร้าจะตามมาด้วยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image