สปสช.สรุปยอดใส่ ‘ฟันเทียมพระราชทานฯ’ ให้ผู้สูงวัย

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2548 และเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมอย่างทั่วถึง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงกำหนดให้บริการใส่ฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2551 และร่วมมือกับกรมอนามัย ดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2560 รวม 7 ปี มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการใส่ฟันเทียม ทั้งใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก และยังครอบคลุมถึงผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียม โดยมีผู้ที่ได้รับการใส่ฟันภายใต้โครงการทั้งสิ้น 433,538 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 258,193 คน และผู้ที่ต่ำกว่า 60 ปี 175,345 คน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ คิดเป็นร้อยละ 42.2 มีการสูญเสียฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 และความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 200,000 คน ทำให้มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยปีละ 5,000 คน จากปี 2555- 2560 เมื่อคิดคำนวณเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจึงยังมีจำนวนสูงถึง 236,000 ราย

“ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะหน่วยบริการในสังกัด สธ.รวมถึงความร่วมมือจากคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ได้แก่ 1.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7.คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ 9.คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และการสนับสนุนจากกรมอนามัย ทำให้ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านบนหรือล่าง) ได้รับบริการนับแต่ปี 2554 ถึง เดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 227,155 คน หรือมากกว่าร้อยละ 95 ของที่คาดการณ์ นับแต่นี้ไป ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image